MGR Online - รมว.ยุติธรรม ระบุ เสนอกฎหมายเพื่อประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ขอทนายความช่วยเหลือ-เป็นที่พึ่งให้ชาวบ้านที่เดือดร้อน ย้ำไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันนี้ (26 พ.ย.) ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานพิธีเปิดวิทยาลัยทนายความ และเปิดอบรมหลักสูตร “การบริการเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง” (วทน.) รุ่นที่ 1 โดยมี ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ พร้อมผู้บริหารและผู้เข้าอบรม 50 คนร่วมงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “กฎหมายกับการพัฒนาประเทศ” ว่า ต้องยอมรับว่า กฎหมาย คือ เรื่องสำคัญที่ชาวไทยทุกคนต้องเดินตามกรอบ ตามระเบียบของกฎหมาย ไม่มีใครมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย ในฐานะที่ตนเป็น รมว.ยุติธรรม แต่ไม่ได้จบทางด้านกฎหมาย สิ่งเดียวที่มีคือ ความมุ่งมั่น ที่จะทำงาน ค้นคว้า และคิดบูรณาการ ให้กระทรวงยุติธรรม เข้าถึงพี่น้องประชาชนให้ได้ ตนต้องการเปลี่ยนกระทรวงนี้เป็นกระทรวงสังคมไม่ใช่กระทรวงกฎหมาย อย่างที่ประชาชนเข้าใจแบบที่ผ่านมา นโยบายแรกๆ ที่ตนได้ดำเนินการเมื่อมารับตำแหน่งก็ยังไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย แต่เป็นเรื่องการมองเห็นปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เพราะมีมากถึง 390,000 คน ส่วนพื้นที่นอนของพวกเขามีแค่ 0.7 ตารางเมตร มองดูแล้วทำให้รู้สึกว่า เล็กกว่าโลงศพเสียอีก ตนจึงเร่งบูรณาการหาเทคโนโลยีมาใช้ พร้อมฝึกอาชีพ หางานรองรับ ให้พวกเขาออกมามีงานมีเงินเลี้ยงตัวเองและครองครัว เพราะตนไม่อยากเห็นใครหวนกระทำผิดซ้ำอีก ตนใช้เวลาเพียงปีกว่าๆ สามารถลดจำนวนนักโทษได้กว่า 100,000 คน และโดยเฉลี่ยผู้ต้องขังก็มีพื้นที่นอนถึง 1.2 ตารางเมตร ส่วนข้อดีอีกอย่างของการปล่อยผู้ต้องขัง คือช่วยประหยัดงบประมาณชาติได้ต่อหัว 21,000 บาท รวมๆ แล้วมากถึง 2,100 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงตัวบทกฎหมายการทำงานของตน ยึดประโยชน์กฎหมายเพื่อสังคมและประชาชนเป็นหลัก ซึ่งจนถึงเวลานี้ได้เสนอกฎหมายทั้งหมด 10 ฉบับ มีกฎหมายที่สำเร็จ ประกาศใช้แล้ว 4 ฉบับ ฉบับแรกคือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 หรือกฎหมายปลดล็อกพืชกระท่อม อีกส่วนคือ ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ธ.ค. เราได้บูรณาการขึ้นมาเพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดสิ้น และปรับให้ศาลใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดี ลงโทษตามเหตุและผล นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาและวุฒิสภา มี 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา และ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม และส่วนสุดท้ายร่างกฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มี 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ ที่ใช้ความรุนแรง เป็นกฎหมายที่จะสร้างให้สังคมมีความปลอดภัย เพราะไม่ต้องการให้คนที่ก่อคดีสะเทือนขวัญออกมาทำร้ายญาติพี่น้องใครอีก และ ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย
“ผมขอยืนยันว่า การทำหน้าที่ รมว.ยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การช่วยเหลือประชาชน การออกกฎหมายต่างๆ จะยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง การมาบรรยายที่สภาทนายความวันนี้ ผมอยากเห็นสภาทนายความเป็นองค์ความรู้ เพิ่มความสามารถ เพิ่มบทบาทหน้าที่ของทนายความในกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมให้มีความรู้ทางวิชาการระดับโลก ค้นคว้าศึกษาเทคโนโลยีให้เข้าถึงข้อมูล เมื่อได้มาแล้วขอให้นำความรู้ความสามารถ ความภาคภูมิใจต่างๆ กลับไปบริการให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ช่วยเหลือประชาชนอย่างสุดความสามารถ แม้บุคคลนั้นจะมีรายได้มากหรือรายได้น้อยก็ตาม เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกท่านใช้ความรู้ที่มีเพื่อสังคมและประเทศชาติ ให้สมกับเกียรติยศและความภาคภูมิใจตลอดไป” นายสมศักดิ์ กล่าว