xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยุติธรรม จับมืออัยการ ราชทัณฑ์ สภาทนาย ผลักดันการพิจารณาคดีให้ปลอดภัย คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลยุติธรรม จับมือ 3 หน่วยงาน อัยการสูงสุด ราชทัณฑ์ สภาทนาย ผลักดันการพิจารณาคดีที่ปลอดภัยด้านสุขอนามัย พร้อมเปิดใช้โปรแกรมคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโควิด-19


เมื่อเวลา 14.40 น. วันนี้ (9 พ.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วยนายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอัยการสูงสุด นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่ปลอดภัยด้านสุขอนามัย ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม กับสำนักงานอัยการสูงสุด กรมราชทัณฑ์ และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

นายจีระพัฒน์ เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะเปิดประเทศและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตเกือบจะเป็นปกติแล้ว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยังคงดำรงอยู่ ในส่วนของการพิจารณาพิพากษาคดีโดยเฉพาะการสะสางคดีที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่การแพร่ระบาดรุนแรงที่ผ่านมา จึงจำเป็นที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะได้ร่วมกันบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้น ภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินต่อไป การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของทุกภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกระทำควบคู่กันไปอย่างไม่อาจละเลยได้ สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้สร้างมาตรฐานความปลอดภัยในศาลและห้องพิจารณาคดีทั้งการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ การติดตั้งฉากอะคริลิค การใช้ชุดตรวจ ATK

ล่าสุด ได้พัฒนาโปรแกรมการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COJ PASS) ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) ซึ่งเป็นระบบคัดกรองและจำแนกเบื้องต้นสำหรับบุคลากรทุกภาคส่วน ที่จะกลับมาเข้าร่วมกระบวนพิจารณาคดีในศาล โดยสามารถแปลผลได้ทันที ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถทราบระดับความเสี่ยงของตนเองได้ และสามารถคัดกรองผู้มาติดต่อราชการและบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น อันเป็นการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้แก่ประชาชน รวมถึงบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ตามนโยบายของท่านประธานศาลฎีกา โดยระบบจะเริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.นี้เป็นต้นไป

เลขาฯสํานักงานศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า สำนักงานศาลติธรรมได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการพิจารณาคดีที่ปลอดภัยด้านสุขอนามัยกับ 3 หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อสนับสนุนมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยแก่ผู้ต้องขัง และบุคลากรในการดำเนินคดีที่ศาล ด้วยการส่งเสริมให้มีการนำวิธีการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ รวมทั้งวางระบบการบริหารจัดการคดีให้เหมาะสมภายในมาตรฐานระยะเวลาที่กำหนด ภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยตกลงร่วมมือกันด้วยการจัดให้มีการพิจารณาคดีในทุกขั้นตอนอย่างปลอดภัยด้านสุขอนามัย ด้วยการคัดกรองผู้มาติดต่อราชการศาลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำกัดบุคคลที่อยู่ในห้องพิจารณา จำกัดการเยี่ยมอย่างใกล้ชิดกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และบุคคลอื่น และมีข้อตกลงความร่วมมือด้านอื่นๆ ดังนี้

1. สำนักงานอัยการสูงสุด ตกลงร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมของพยาน เพื่อการไต่สวนและพิจารณาในศาลตามกำหนดนัดของศาลยุติธรรม รวมทั้งเตรียมความพร้อมทางเทคนิคเพื่อการไต่สวน และพิจารณาคดีในลักษณะการประชุมทางจอภาพหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลสารบบคดีของทั้งสองหน่วยงานโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ และจะร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการศึกษา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านกฎหมาย รวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) และระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) ตลอดจนร่วมกันส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คู่ความและประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจถึงกระบวนการพิจารณาคดีในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับข้อพิพาทและสถานการณ์

2. กรมราชทัณฑ์ ตกลงร่วมมือกันในการที่จะให้มีการส่งตัวผู้ต้องขังมาตามกำหนดนัดของ
ศาลยุติธรรม และกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องขังมายังศาลได้ จะดำเนินการเพื่อจัดให้ผู้ต้องขังได้รับการพิจารณาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทน รวมทั้งร่วมมือกันในการจัดอบรมและซักซ้อมความเข้าใจให้แก่บุคลากรของทั้งสองหน่วยงานให้มีความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมที่จะดำเนินงานด้วยวิธีการพิจารณาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

3. สภาทนายความ ตกลงร่วมมือกันสนับสนุนและพัฒนาแนวทางการใช้ระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ และวิธีพิจารณาคดีอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบของสำนักงานศาลยุติธรรม และร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการศึกษา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านกฎหมาย การจัดอบรมทนายความเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) และระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ทนายความ คู่ความ และประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ ถึงวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับข้อพิพาทของตน

นายจีระพัฒน์ กล่าวอีกว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ แสดงออกว่าทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมจะช่วยกันผลักดันให้การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ละเลยในความห่วงใยต่อสุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากรทุกภาคส่วน ที่ต้องเข้าร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น