MGR Online - ผู้ช่วย ผบ.ตร.วางมาตรการรับมือการจราจรวันเปิดภาคเรียน 1 พ.ย.นี้ ประสานกับสถานศึกษาจัดทำแผนการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมขอคืนพื้นผิวจราจรที่กำลังก่อสร้างโดยรอบโรงเรียน แนะนำเส้นทางเลี่ยงให้กับผู้ใช้รถผ่านสื่อช่องทางต่างๆ
วันนี้ (29 ต.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วยผบ.ตร.ปรท.ผบ.ตร. มีหนังสือวิทยุในราชการ ตร. เลขที่ 0007.34/3312 ลงวันที่ 29 ต.ค. ถึง ผู้รับปฏิบัติ ผบช.น ภ.1-9 และ ก. ผู้รับทราบ ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. (มค) ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในสายงาน มค. ใจความว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาในสังกัดเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันจันทร์ที่ 1 พ.ย. 64 พร้อมกันทั่วประเทศ โดยให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยมีโรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน (On-Site) จำนวนหลายแห่ง
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ในการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จึงให้ทุกหน่วยดำเนินการ ดังนี้
1. ประสานข้อมูลกับโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนการจัดการจราจรโดยรอบบริเวณสถานศึกษาในชั่วโมงเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น เช่น การกำหนดพื้นที่สำหรับ ให้ผู้ปกครองหยุดรถ รับ-ส่ง นักเรียน นักศึกษา การกำหนดพื้นที่ห้ามหยุดหรือจอดรถ การกำหนดเส้นทางเดินรถโดยรอบในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่ออำนวยการจราจรให้เป็นไปโดยสะดวกและปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดสะสม
2. ประสานขอคืนพื้นผิวการจราจรหรือจัดระเบียบพื้นผิวการจราจรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือซ่อมแซมโดยรอบโรงเรียนและสถาบันการศึกษา เพื่อเพิ่มช่องทางเดินรถในเส้นทางจราจรและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดกับผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษาที่ใช้ทาง
3. ประชาสัมพันธ์แผนการจัดการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน (ที่อาจแตกต่างจากเส้นทางเดินรถในช่วงเวลาปกติ แนะนำการใช้เส้นทางสำหรับผู้ปกครอง และเส้นทางเสี่ยงสำหรับประชาชนทั่วไป ผ่านสื่อ ช่องทางต่างๆ ในพื้นที่ ตลอดจนติดตั้งปัายประซาสัมพันธ์เส้นทางจราจรให้ทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนทราบ และสามารถกำหนดแผนการเดินทางได้อย่างเหมาะสม
4. เตรียมความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกการจราจร เช่น กรวยยาง อุปกรณ์ประจำกาย อุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายรถกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือมีรถจอดกีดขวางการจราจร
5. จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรให้เพียงพอและเหมาะสมต่อจำนวนโรงเรียนและสถาบันการศึกษา หากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรใน สน./สภ. ให้พิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจในสายงานอื่นหรืออาสาจราจรมาช่วยอำนวยการจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนด้วย
6. รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเฉพาะการใช้อุปกรณ์นิรภัยในการขับขี่ ได้แก่ การสวมหมวกนิรภัย การรัดเข็มขัดนิรภัย ตลอดจนขอความร่วมมือกับโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ในการใช้มาตรการองค์กรเพื่อให้ผู้ปกครอง นักเรียน และปฏิบัติตามกฎจราจรทั้งภายในและบริเวณโดยรอบพื้นที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษา
7. ในกรณีพบการกระทำผิดกฎจราจร ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานจราจรพิจารณาดำเนินการบังคับใข้กฎหมายตามความจำเป็นและเหมาะสมกับพฤติการณ์ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในมาตรา 140 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยให้คำนึงถึงบริบทและสถานะของกระทำผิด หากเป็นนักเรียน ให้พิจารณาใช้อำนาจว่ากล่าวตักเตือนแทนการออกใบสั่ง ทั้งนี้กฎหมายจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจรจนเกินสมควร
8. ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการอำนวยการจราจร ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติในสายงานจราจร Standard Operation Procedures (SOP) ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กำหนดใน หนังสือ ตร.ที่ 0007.34/1557 ลง 28 พ.ค.64 อย่างเคร่งครัด เพื่อทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง