xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบราษฎรฟ้องศาลแพ่ง เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมโควิด อ้างจำกัดเสรีภาพ เรียกค่าเสียหาย 4.5 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ดเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)
ไอลอว์-ม็อบคณะราษฎร ฟ้องศาลแพ่ง ขอเพิกถอนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมโควิด-19 เรียกค่าเสียหาย 4.5 ล้าน อ้างจำกัดเสรีภาพและการแสดงออกทางการเมือง ยอมรับการชุมนุมบางส่วนใช้ความรุนแรง แนะให้กฎหมายอาญาดำเนินคดี

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (5 ต.ค.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ดเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์), นางชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนกลุ่มเฟมินิสด์ปลดแอก และ นายอรรถพล บัวพัฒน์ แนวร่วมม็อบคณะราษฎร ได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 6 ราย  กรณีออกประกาศข้อกำหนดในมาตรา 9 ตามพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และอื่นๆ เรียกค่าเสียหาย 4,500,000 บาท และขอให้มีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าว

คำฟ้องระบุว่า โจทก์ทั้งสามคนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ จากการร่วมปราศรัยในการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ซึ่งข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวเป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค. 2564) ก็จะมีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ในอดีตด้วย

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ในสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 รัฐสามารถจำกัดสิทธิบางอย่างได้ แต่ไม่ใช่การสั่งห้ามชุมนุม และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพื่อควบคุมโรคระบาด ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน แม้จะไม่ใช่สถานที่แออัด ไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทุกครั้งที่จัดการชุมนุม คนจัดและผู้ปราศรัยการชุมนุมจะถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมา ตลอดจนขณะนี้มีคดีมากกว่า 483 คดี มีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี มากกว่า 1,171 คน เราเห็นว่าข้อจำกัดที่ห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น กว้างขวาง และจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินไป จึงมาฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หมายความว่า ให้ศาลสั่งว่าข้อกำหนดและคำสั่งไม่เคยมีมาตั้งแต่แรกและให้มีผลย้อนหลัง ก็จะทำให้คดีความต่างๆ ของผู้ชุมนุมให้มีอันถูกยกเลิกไปด้วย ถ้าการชุมนุมผิดกฎหมายอย่างไร ก็ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายได้ ทั้งประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่ควบคุมดูแลการชุมนุมได้อยู่แล้ว


ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา การชุมนุมของม็อบคณะราษฎร มีการใช้ความรุนแรง ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีความคิดเห็นอย่างไร

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า คนละประเด็นกัน แต่ก็มีการชุมนุมที่ไม่สงบเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็มีความผิดและสามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญาควบคุมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรคมาดูแลการชุมนุมที่ไม่สงบ

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา แนวร่วมม็อบคณะราษฎร เคยมายื่นศาลแพ่งแล้วหลายครั้ง มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

นายยิ่งชีพ กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีการยื่นขอให้ศาลแพ่งเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว สุดท้ายศาลแพ่งสั่งจำหน่ายคดี เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์ต้องวินิจฉัย แต่ยังไม่ได้พิเคราะห์ลงในรายละเอียดว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ด้าน นายสัญญา เอียดจงดี ทนายความ กล่าวว่า นอกจากนี้แล้ว เราจะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินให้ระงับการบังคับใช้ประกาศและข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากที่ผ่านมา หากมีการชุมนุมก็จะมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ จึงอยากให้ศาลแพ่งตรวจสอบประกาศและข้อกำหนดเหล่านี้

ภายหลังยื่นฟ้องเสร็จสิ้นแล้ว ศาลแพ่งได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.4639/2564 โดยกำหนดนัดชี้สองสถาน และกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 31 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น