MGR Online - ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจ 7 ข้อ ย้ำต้องซื่อสัตย์สุจริต ห้ามแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ มีผลบังคับวันนี้
วันนี้ (2 ก.ย.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2564 ความว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว และพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ได้กำหนดมาตรฐานทางจริธรรมซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ประกอบกับมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ในการประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และมติคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 จึงกำหนดประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจ ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประมวลจริยธรรมข้าราชการ “ตำรวจ” นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ข้าราชการตำรวจพึงปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรม ดังต่อไปนี้
(1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการแสดงออกถึงความภูมิใจในชาติและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ เคารพในความแตกต่างของการนับถือศาสนา ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเทิดทูนรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
(2) ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยความโปร่งใส ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีนัยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความพร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด มีจิตสำนึกที่ดี คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
(3) กล้าตัดสินใจและยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม กล้าคัดค้านและดำเนินการแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน และต้องวางตัวเป็นกลางในฐานะผู้รักษากฎหมายในกระบวนการยุติธรรม
(4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีจิตสาธารณะ ร่วมมือ ร่วมใจ และเสียสละในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม
(5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว เที่ยงธรรม ทันต่อสถานการณ์ คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นที่ตั้ง รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นในระบบการทำงานเป็นทีม ให้บริการแก่ประชาชนด้วยความเต็มใจ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเหมาะสมตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(6) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ โดยยึดถือความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติโดยการไม่ใช้ความรู้สึกพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจส่วนตัวต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอันเนื่องมาจากชาติกำเนิด เพศ ศาสนาหรือความเชื่อ เชื้อชาติ สัญชาติ อายุ การศึกษา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่น เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และยอมรับความแตกต่างของบุคคล หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม และพึงวางตัวเป็นกลางทางการเมือง
(7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างด้วยการเป็นข้าราชการที่ดี รักษาภาพลักษณ์ของทางราชการและความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ พึงปฏิบัติตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อ้างหรือใช้อำนาจโดยปราศจากเหตุผล ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบรมราโชวาท หลักคำสอนทางศาสนามาปรับใช้ และปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีด้วยการเคารพกฎหมาย และมีวินัย
ข้อ 3 หากข้าราชการ “ตำรวจ” ผู้ใดจะต้องยึดถือหรือปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพตามกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นใดที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ นอกจากจะต้องรักษาจริยธรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจนี้แล้ว จะต้องยึดมั่นในจรรยาวิชาชีพนั้นด้วย
ข้อ 4 การจัดทำแนวทางการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกำหนด
ข้อ 5 ให้กรรมการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ปฏิบัติงานอื่น ยึดถือปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจนี้ด้วย
ประกาศ ณ วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ