“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2564 ตอน ส.ส.ผวา ตกเก้าอี้ไม่รู้ตัว
ผิดจริยธรรมร้ายแรง กลายเป็นข้อกล่าวหาที่นักการเมืองผวากันมากที่สุดในยุคนี้ เพราะหากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ผลกระทบจะรุนแรงมาก
นอกจากเรื่องเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ที่ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว สามารถส่งศาลฎีกาได้โดยตรง ไม่ต้องส่งไปให้อัยการสูงสุดก่อนเหมือนคดีอาญาอื่นๆ แล้วเรื่องการถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็จะตาม กรณีนี้แหละที่กำลังเขย่าประสาทพวกรัฐมนตรี ส.ส.
มีนักการเมืองอย่างน้อย 2 คน ที่ถูกเชือดไก่ให้ลิงดูไปแล้ว รายแรกคือ คือ เอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลผิดจริยธรรมร้ายแรง จากกรณีบุกรุกป่าสงวน และศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
และรายล่าสุด อุ๋ม-ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล ผิดจริยธรรมร้ายแรง จากกรณีเสียบบัตรแทนกัน ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพียงแค่ 2 เดือนหลังเกิดค ถูกศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้า ส.ส.ไว้ก่อน
ต้องบอกว่า เร็ว-แรง เห็นผลกระทบทันควัน เหตุนี้เลยเริ่มทำให้นักการเมืองหลายคนชักผวา เพราะหากถูกชี้มูลด้วยความผิดนี้ อาจจะต้องถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็ว ต่างจากแต่ก่อนที่แม้จะถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล แต่ยังนั่งทำงานต่อไปยาวๆ ได้ บางครั้งยุบสภาไปแล้ว แต่คดียังอืด คาชั้นอัยการสูงสุดอยู่เลย
ข้อหานี้ จึงถูกจับตาว่า ในอนาคตอาจจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม เพราะมันรวดเร็วทันใจ อีกทั้งคำว่า ผิดจริยธรรมร้ายแรง มันค่อนข้างกว้างขวาง ครอบคลุมได้หลายเรื่อง อย่างที่ระยะหลังๆ มานี้ เวลานักการเมืองไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบเรื่องอะไร มักจะแนบข้อหาผิดจริยธรรมร้ายแรงเอาไว้ด้วย
อย่างเช่น กรณี ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน ที่นอกจากจะยื่นเอาผิดข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ยังแนบข้อหาผิดจริยธรรมร้ายแรงเอาไว้ด้วย
เช่นเดียวกับ นักร้องอย่าง ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่หากยื่นเรื่องเอาผิดนักการเมือง จะยัดข้อหาผิดจริยธรรมร้ายแรงไปด้วยตลอด
ตอนนี้นักการเมืองหลายคน โดยเฉพาะรัฐมนตรี ส.ส. ต่างถูกร้องเรียนข้อหานี้กันแทบจะเต็มสำนักงาน ป.ป.ช. คนที่โดนมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
จนมีหลายคนเริ่มจะหวั่นๆ และชักไม่แฮปปี้กับข้อหานี้ แม้แต่คนในรัฐบาลอย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาปกป้อง ธณิกานต์ ว่า การที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเลย โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เพราะไม่มีการตรวจสอบ หรือถามความเห็นจากต้นสังกัดก่อน
แต่นั่นอาจจะเป็นแค่ฉากปกป้องในฐานะ ธณิกานต์ เป็นลูกพรรค เพราะถ้ามาตราเกี่ยวกับการกระทำความผิดจริยธรรมร้ายแรง สร้างปัญหาใหญ่ น่าจะมีการเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไปแล้ว
แต่ในเมื่อไม่มีการเสนอให้แก้ไข แสดงว่ามีใครบางคนมองว่า กลไกนี้ยังเป็นประโยชน์ในทางการเมืองอยู่ จึงไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการดำรงอยู่ของช่องทางดังกล่าว
อย่างไรก็ดี หากไปสืบเสาะคดีสำคัญๆ ในสำนักงาน ป.ป.ช.เกี่ยวกับข้อหาผิดจริยธรรมร้ายแรง พบว่า นอกจาก ธณิกานต์ จะถูกชี้มูลกรณีเสียบบัตรแทนกันแล้ว ในคราวเดียวกัน ยังมี ส.ส. อย่างน้อยอีก 3 คน ที่ถูกชี้มูลจากกรณีเสียบบัตรแทนกัน และถูกชี้มูลผิดจริยธรรมร้ายแรงเหมือนกับ ธณิกานต์
โดยทั้ง 3 คนเป็นนักการเมืองระดับบิ๊กในพรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย นาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย แกนนนำใหญ่ที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ ส่วนอีก 2 ราย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเด็กในคาถาของ นาที ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ฉลอง เทอดวีระพงศ์ และ นายภูมิศิษฏ์ คงมี 2 ส.ส.พัทลุง
มีการคาดการณ์กันว่า เร็วๆ นี้ ศาลฎีกาน่าจะพิจารณารับคำร้องและมีคำสั่งออกมาเหมือนกับ ธณิกานต์ เพราะมีรายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปให้ศาลฎีการาวๆ เดือนกรกฎาคม หากดูระยะเวลาแล้ว น่าจะไม่เกินเดือนกันยายนนี้
สำหรับ นาที ไม่มีผลกระทบอะไรแล้ว เพราะทุกวันนี้ไม่มีตำแหน่งแห่งหนอะไรแล้ว หลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้จำคุกแต่รอลงอาญา และตัดสิทธิ์ทางการเมือง จากกรณีแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ
อีกทั้งสามี คือ โกเกี๊ยะ-พิพัฒน์ รัชกิจประการ ก็นั่งทำงานในโควตาของกลุ่มอยู่ในตำแหน่ง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จึงไม่มีปัญหาอะไร
แต่ในรายของ ฉลอง และ ภูมิศิษฏ์ เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต จ.พัทลุง หากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีโอกาสสูงเพราะเป็นข้อหาเดียวกับ ธณิกานต์ จะทำให้เสียงในสภาของพรรคภูมิใจไทย หายไปถึง 2 ที่นั่ง ขณะที่ จ.พัทลุง จะเหลือ ส.ส.เหลือเพียงคนเดียวคือ นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์
แน่นอนว่า 2 เสียงที่หายไป คงไม่ส่งผลกระทบอะไรกับพรรคภูมิใจไทย เพราะปัจจุบันมีเสียงเป็นลำดับที่ 2 ของรัฐบาล หลังไปดึงบรรดางูเห่าจากพรรคก้าวไกลมาได้หลายคน
แต่อย่างน้อยการที่ ส.ส.ของพรรคถึง 2 คน ถูกชี้มูล และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มันก็สร้างปัญหาให้แก่พรรคภูมิใจไทย ที่มักจะต่อรองกับแกนนำรัฐบาลบ่อยครั้ง
เป็นการกระตุกพรรคภูมิใจไทยไม่ให้กล้าออกนอกลู่นอกทาง หรือทำตัวเป็นเด็กดื้อ เพราะกลไกต่างๆ ยังอยู่ในมือของแกนนำรัฐบาล
พร้อมจะหวดทุกเมื่อ ต่อให้อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม