xs
xsm
sm
md
lg

ศาลตักเตือน-ปรับ 500 “อดิศักดิ์ สมบัติคำ” ?อดีตผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ ตบไหล่ “ผู้คุม” ในห้องพิจารณาคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“อดิศักดิ์ สมบัติคำ” ?อดีตผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ ละเมิดอำนาจศาล
ศาลอาญาตักเตือน-สั่งปรับ 500 บาท “อดิศักดิ์ สมบัติคำ” ​อดีตผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ ละเมิดอำนาจศาล ประพฤติตนไม่เรียบร้อย ตบไหล่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ในห้องพิจารณาคดี

วันนี้ (2 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญาไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญาผู้กล่าวหา ตั้งเรื่องให้ศาลดำเนินคดี นายอดิศักดิ์ สมบัติคำ แกนนำคณะราษฎรและอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.มหาสารคาม ผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาล

จากกรณีเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 ซึ่งศาลได้พิจารณาคดีดำ อ. 287/2564 ที่มี นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกเป็นจำเลยรวม 22 คน ซึ่ง นายอดิศักดิ์ ตกเป็นจำเลยที่ 18 ในคดี และได้ใช้มือตบที่หัวไหล่ขวา นายไพฑูรย์ มนัสศิลา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยผู้ต้องขังในห้องพิจารณา จนเกิดเสียงดัง และมีอาการเจ็บ เมื่อ นายไพโรจน์ หันไปดู นายอดิศักดิ์ บอกให้หลบออกไป เพราะยืนบังการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา

ภายหลังจศาลไต่สวนพยานเสร็จสิ้นแล้ว

ช่วงบ่ายศาลอาญาได้อ่านคำสั่ง โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติ ว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. ซึ่งศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลยคดีในคดีหมิ่นเบื้องสูง ที่ห้องพิจารณาคดี 704 คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.287/2564 ระหว่าง พนักงานอัยการโจทก์ นายพริษฐ์หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกรวม 22 คน จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และความผิดฐานอื่นที่เกี่ยวกับการชุมนุม อันผิดต่อกฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยที่ 18 ซึ่งในคดีดังกล่าวมีจำเลยส่วนหนึ่งถูกคุมขังและอีกส่วนหนึ่งได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่

เห็นว่า ผู้กล่าวหาและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เบิกความประกอบภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุนายไพโรจน์ มนัสสิลา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังชาย ซึ่งเป็นจำเลยบางคนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวที่ห้องพิจารณาคดี 304 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.287/2564 ที่นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ พวกเป็นจำเลย โดยนายอดิศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยที่ 18 และได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ขณะเกิดเหตุ นายไพโรจน์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ยืนควบคุมตัวจำเลยที่ถูกคุมขังโดยยืนอยู่บริเวณช่องทางเดินระหว่างเก้าอี้ สำหรับจำเลยถูกคุมขังกับเก้าอี้จำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว

นายอดิศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหา นั่งอยู่ฝั่งเก้าอี้สำหรับจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราว.และอยู่แถวหลัง ส่วน นายไพโรจน์ กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยืนอยู่ด้านหน้า ขณะที่ นายอานนท์ นำพา จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกคุมขังกำลังแถลงแนวทางคดีต่อผู้พิพากษา ผู้ถูกกล่าวหาลุกจากเก้าอี้ตรงเข้าไปใช้มือตบเบาๆ ที่บริเวณไหล่ของนายไพโรจน์ 1 ครั้ง แล้วกลับไปนั่งประจำที่เดิม นายไพโรจน์ ตกใจและรู้สึกเจ็บเล็กน้อยจึงหันกลับไปถามผู้ถูกกล่าวหาว่า “พี่ ผมปฏิบัติหน้าที่อยู่นะ ทำแบบนี้กับผมได้อย่างไร” ผู้ถูกกล่าวหาตอบว่า “คุณยืนบังผม ทำให้ผมมองไม่เห็นการพิจารณาคดีของศาล”

หลังจากนั้น มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกคนหนึ่งเดินมาสอบถามแล้วแนะนำนายไพโรจน์ให้ทำบันทึกรายงานพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา เห็นว่า ผู้กล่าวหาเป็น ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา และนายไพโรจน์เป็นเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ ต่างก็เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่และไม่รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหามาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งหรือปรักปรำให้ร้ายผู้ถูกกล่าวหา ทั้งเมื่อศาลเปิดดูภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่บันทึกจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งภายในห้องพิจารณาคดีที่เกิดเหตุ บันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ได้ ซึ่งผู้กล่าวหา, นายไพโรขน์ และ นายอดิศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาต่างยืนยันว่า เป็นข้อมูลภาพเคลื่อนไหวและข้อมูลเสียงในวันเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาเองก็เบิกความรับว่าได้กระทำการดังที่มีการบันทึกไว้จริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เช่นนั้น พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาที่ลุกจากเก้าอี้เดินเข้าไปประชิดตัวนายไพโรจน์แล้วยกมือขึ้นสูงในระดับไหลใช้แรงกายภาพกระทำต่อนายไพโรจน์ในขณะที่ยืนปฏิบัติหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลในห้องพิจารณา ถึงแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะก่อเหตุอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นและกลับไปนั่งที่เดิมโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของนายไพโรจน์ก็ตาม แต่ก็ส่งผลให้นายไพโรจน์ถึงกับหันกลับไปสอบถามผู้ถูกกล่าวหาทันที แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างว่าไม่มีเจตนาทำร้ายให้ได้รับบาดเจ็บก็ตาม แต่ก็ปรากฏภาพผู้ถูกกล่าวหาแสดงอาการ พร้อมทั้งโบกมือในลักษณะไม่พอใจนายไพโรจน์ จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อื่นเดินจากอีกฝั่งหนึ่ง เข้ามาสอบถามผู้ถูกกล่าวหาและนายไพโรจน์ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาที่จะใช้กำลังกระทำต่อร่างกายนายไพโรจน์จริง มิใช่เพียงใช้มือแตะหรือสะกิดไหล่เบาๆ เพื่อมิให้ยืนบังการพิจารณาคดีของศาล ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างแต่อย่างใด

แม้จะปรากฏตามภาพเคลื่อนไหวว่าก่อนเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหามีการขยับตัวชะเง้อมองไปทางด้านหน้าห้องพิจารณาคดี ซึ่งเป็นช่วงที่จำเลยคนหนึ่งยืนถือไมโครโฟน แถลงแนวทางคดีต่อผู้พิพากษาและบริเวณที่นายไพโรจน์ยืนอาจบดบังการมองเห็นของผู้ถูกกล่าวหาไปบางช่วงบ้างก็ตาม แต่หากเป็นเช่นนั้นจริงผู้ถูกกล่าวหาก็สามารถลุกขึ้นเดินเข้าไปแจ้งให้นายไพโรจน์ทราบด้วยกริยาวาจาสุภาพได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังกระทำต่อร่างกาย ของนายไพโรจน์ในลักษณะที่ไม่สมควรและไม่ให้เกียรติเช่นนี้ ทั้งยังกระทำในขณะที่ผู้พิพากษา กำลังนั่งพิจารณาคดี นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง อีกทั้งเมื่อพิจารณาข้อมูลประวัติการศึกษา ประวัติ หรือประสบการณ์การทำงาน ตลอดจนอาชีพทั้งในอดีตและปัจจุบัน คำแก้คำกล่าวหาที่ยื่นต่อศาลแล้ว ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการบำนาญ สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เคยรับราชการทหารเรือ ทำงานการเมืองท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง และเคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งยังระบุอาชีพปัจจุบันว่าเป็นผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ส.คนหนึ่งอีกด้วย โดยระบุสถานที่ทำงานว่ารัฐสภา ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาย่อม รู้ถึงกฎระเบียบของการราชการและการปฏิบัติตนในสถานที่ราชการเป็นอย่างดี รวมถึงการปฏิบัติตนในห้องพิจารณาคดีและในบริเวณศาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการด้วย การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ซึ่งบุคคลทั่วไปที่เข้ามาในบริเวณศาลย่อมมีความมั่นใจในความปลอดภัยว่าจะไม่ถูกล่วง
ละเมิดไม่ว่าในทางใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ มาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังในคดีซึ่งผู้ถูกกล่าวหาก็เป็นจำเลยคนหนึ่งด้วย ทั้งยังเป็นการใช้กริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในห้องพิจารณาคดี เป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2564 อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

จึงมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปรับ 500 บาท และตักเตือนผู้ถูกกล่าวหาว่าห้ามมิให้ประพฤติตนหรือแสดงกิริยาใดๆ ที่ไม่สมควรในบริเวณศาลอันถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีก หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชำระค่าปรับให้คุมขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30


กำลังโหลดความคิดเห็น