MGR Online - จตช.เผยเตรียมตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง อดีต ผกก.ทุ่งสง หลังป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทุจริตเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 คาดใช้เวลา 30 วัน
จากกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติมอบหมายคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นกับ พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผกก.สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มีความผิดฐานทุจริตเงินจัดสรรค่าตอบแทนหรือค่าเบี้ยเลี้ยงงบโควิด-19 ของสภ.ทุ่งสง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 172 ร้องชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีในศาลตามเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี พร้อมทั้งส่งรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามมาตรา 91 ของกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
วันนี้(14 มิ.ย.)พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวยแห่งชาติ(จตช.) กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบการทุจริตเบี้ยเลี้ยงโควิด-19 ว่า เรื่องนี้พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้สั่งการให้ จเรตำรวจ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทันทีที่ปรากฏว่ามีการร้องเรียน ตั้งแต่ช่วง ตุลาคม 2563 โดยมีการตรวจสอบ จนนำไปสู่การดำเนินการตั้งกรรมการทางวินัยไปแล้ว 10 บช. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริง และสอบสวนทางวินัย รวมแล้วกว่า 200 นาย ในส่วนของ พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผกก.สภ.ทุ่งสง ทางจเรตำรวจได้ลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่ามีมูลว่ากระทำผิดจริง จึงส่งข้อมูลให้ ผบช.ภ.8 ในฐานะผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด ตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนทางวินัย โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า มีมูลความผิดจริง และผบช.ภ. 8 ได้พิจารณาลงทัณฑ์เบื้องต้นให้รับโทษโดยการตัดเงินเดือน และกักยาม 3 วัน ในขณะเดียวกัน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการประสานส่งข้อมูลผลการตรวจสอบ และรายงานผลให้ ป.ป.ช. และ สตง.ทราบด้วย ซึ่งการดำเนินการหลังจาก ป.ป.ช.พิจารณามีมติดังกล่าวแล้ว ทาง ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการในอำนาจก็จะมีการดำเนินการพิจารณาโทษทางวินัยร้ายแรงตามฐานความผิดที่ป.ป.ช.ชี้มูลมาดังกล่าวต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการภายใน 30 วัน
"ผบ.ตร.มีความห่วงใยในการติดตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยได้สั่งการตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา มอบหมายให้ผมติดตามผลการดำเนินการทางวินัยกรณีเรื่องร้องเรียนที่สังคมที่ให้ความสนใจ เพื่อสนองนโยบายปราบปรามการทุจริตของทางรัฐบาลที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งได้มีการเร่งรัด ผบช.ทุกหน่วย รวมถึง กองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีหน้าที่ และอำนาจในการพิจารณาผลการสืบสวน และสอบสวนทางวินัยข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดำเนินการในกรอบเวลาที่กำหนดไม่ให้เกิดความล่าช้า และให้ปรากฏผลที่เกิดความเป็นธรรม ยึดข้อเท็จจริงตามระเบียบกฏหมาย และต้องสามารถตอบคำถามสังคมให้เป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งจะมีการเร่งรัดติดตามผลอย่างต่อเนื่องต่อไป"จตช.ระบุ