รายการ “ถอนหมุดข่าว” ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 16 พ.ค.64 นำเสนอรายงานพิเศษ ‘แอ๊ด บาว’ อับแสง อวย 18 มงกุฎ สุดลิ่ม ประสิทธิ์ [เจียวก๊ก]ผู้ให้
"ความขัดแย้งในสังคมไทยมันมากเหลือเกิน
ขอยุติบทบาทแต่เพียงเท่านี้ ดูแลตัวเองด้วยครับพี่น้อง"
ยืนยง โอภากุล หรือ 'แอ๊ด คาราบาว' โพสต์ในสเตตัสเฟซบุ๊กบัญชีชื่อของตัวเองเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564
นับเป็นการยอมรับสภาพอย่างจำนนต่อโลกออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง อันสะท้อนถึงยุคสมัยของซูเปอร์สตาร์เพลงเพื่อชีวิตที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมและวงการเพลงไทยสากลร่วมสมัยของเขาว่า
‘เดินทางมาถึงหลักสุดท้ายของความชื่นชอบและศรัทธาจากมหาชน เหลือเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นสาวกและแฟนพันธุ์เพียงเท่านั้น’
หากย้อนหลังกลับไป แอ๊ด บาว ไม่ได้หยุดความทะเยอทะยานที่จะนำพาตัวเองและแบนด์คาราบาวหยุดอยู่แค่ในประเทศไทยและอาเซียนเท่านั้น แต่ผลักดันสู่ความเป็นระดับโลก
ภาพจากการขึ้นมอบเหรียญรางวัลและถ้วยแชมป์ฟุตบอลคาราบาวคัพที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนภาพถึงความพยายามที่จะเดินตามรอยทางของกระทิงแดง แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง หรือยุคหลังเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มให้พลังงาน
ตั้งแต่ปี 2547 บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังคาราบาวแดง สู่ท้องตลาด
แอ๊ด บาว ก็ไม่ใช่นักเพลงเพื่อชีวิตเพื่ออุดมการณ์สายศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนคนเดิมอีกต่อไป เขาวางตัวเองเป็นนักธุรกิจอย่างเต็มที่รูปแบบ แม้ก่อนหน้านี้จะอยู่ในธุรกิจดนตรีอย่างเต็มรูปแบบก็ตาม
ต่อมาก็ขยายอาณาจักรเป็นบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขึ้น เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 และนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557
ข้อมูลรายบริษัท/หลักทรัพย์ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นรายย่อย ณ วันที่ 25/05/2563
3. นาย ยืนยง โอภากุล 70,480,000 คิดเป็น 7.05%
7. นาง ลินจง โอภากุล 26,145,800 คิดเป็น 2.61%
10. น.ส. ณิชา โอภากุล 15,511,500 หรือ 1.55%
เพราะฉะนั้นตระกูลโอภากุลจึงถือหุ้นอยู่ในลำดับที่ 3, 7 และ 10 รวม 11.21% ในคาราบาวกรุ๊ป รวมมูลค่ากว่า15,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เข็มที่แหลมสองด้าน เย็บกระสอบไม่ได้ ฉันใด คนก็เช่นกัน คิดจะหยิบฉวยทั้งเงินทั้งกล่องย่อมมีปัญหาตามมา อย่างแอ๊ด บาว ยังเป็นนักร้องเพลงเพื่อชีวิต ขณะเดียวกันก็อยากเอาดีเป็นนักธุรกิจด้วย
วิกฤติศรัทธาก็ได้ก่อตัวขึ้นมา หลังจากที่ แอ๊ด บาว เดินเข้าวงการธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ แอ๊ด บาวจัดว่าบุคคลระดับเอลิสต์ของประเทศไทย โด่งดังในระดับซูเปอร์สตาร์
สิ่งที่ตามมาคือ ข้อกังขาในบทบาทและตัวตนที่แท้จริงของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรอบหลายเดือนของ ปี 2564 ที่ผ่านมา แอ๊ด บาว มีเรื่องต้องตอบคำถามกับสังคมหลายๆ เรื่อง และเป็นความเปราะบางที่ลดทอน และทำลายความน่าเชื่อถือของนักสู้ทางอุดมการณ์ของเพลงเพื่อชีวิตจากในอดีต ให้มลายหายไปอย่างสิ้นเชิง
กรณี #เซฟชัยวัฒน์ ในเพจเฟซบุ๊กคาราบาว นำโดยยืนยง โอภากุล โพสต์ข้อความให้กำลังใจนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ที่ถูก อกพ.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงมติปลดออกจากราชการ จนมีการต่อต้านอย่างหนักจากเครือข่ายชาวกะเหรี่ยงบางกลอยใจแผ่นดิน ที่ถูกละเมิดสิทธิ
ทั้งการอุ้มฆ่าบิลลี่ เผาบ้านปู่คออี้เผาบ้านชาวบางกลอยใจแผ่นดิน และผลักดันไล่รื้อ สร้างข่าวกล่าวหาชาวบ้านมากมาย และเครือกะเหรี่ยงภาคเหนือก็ร่วมสมทบ
หลังจาก แอ๊ด บาว ได้ประกาศยุติบทบาทตัวเองที่มีต่อสังคมไทย สังคมโซเชียลออนไลน์ ก็ออกมาตั้งข้อสังเกตและนำมิวสิควิดีโอ ‘ประสิทธิ์ ผู้ให้’ ในปี 2563 ซึ่งเพลงนี้ แอ๊ด บาว แต่งเนื้อร้อง ทำนอง และร้องเอง โดยมีเนื้อหาชื่นชม ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ถึงชีวิตที่ฝ่าฟันอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ และเป็นแบบอย่างการเป็นผู้ให้ และทำความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน
แต่ล่าสุดปรากฏว่า กองปราบปราม เปิดปฏิบัติการปิดเกมคนเหนือโลก ทลายเครือข่ายหลอกลวงลงทุน มีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งพบว่าหัวหน้าขบวนการคือ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก นักธุรกิจคนดังที่เคยยอมรับว่า เป็นหัวหน้าขบวนการไอโอของกองทัพ
เพราะฉะนั้นจากโลกยุค 2.0 ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวจากสื่อต่างๆ แอ๊ด คาราบาว หรือ ยืนยงโอภากุล อยู่ในสถานะของผู้นำทางความคิดจิตวิญญาณในฐานะนักเพลงเพื่อชีวิต และผู้ประสบความสำเร็จในฐานะนักธุรกิจระดับหลายหมื่นล้าน
เมื่อโลกเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ออนไลน์ ขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียทุกคนสามารถเป็นสื่อด้วยตัวเอง มีกระบอกเสียงของตัวเอง แอ๊ด บาว ในฐานะบุคคลสาธารณะจึงถูกตรวจสอบ ขุดคุ้ยขุดค้นผ่านหลักฐานข้อเท็จจริง และโดนทัวร์ลง จากการกระทำและการเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ของตัวเองผ่านเครือข่ายประชาสังคมออนไลน์เหล่านี้
โลกยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่โลกของ แอ๊ด คาราบาว แบบเดิมอีกต่อไป แม้เขาพยายามบอกเพื่อแก้ต่างให้ตัวเองว่า “ความขัดแย้งในสังคมไทย มันมากเหลือเกิน...” จนเขาต้องหนีออกมา