MGR Online - รองอธิบดีราชทัณฑ์ แจงทำระเบียบกลางให้เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ต้องขัง 3 นิ้ว ตามมาตรฐานเดียวกัน ลดข้อครหา สั่งเรือนจำพิจารณาเปิดเยี่ยมญาติผ่านไลน์ระหว่างกักตัว
วันนี้ (24 มี.ค.) ที่กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมดูแลกลุ่มม็อบแกนนำราษฎร ว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการควบคุมผู้ต้องขังและผู้ต้องกักขังที่เป็นที่สนใจของประชาชน ดังนี้ 1. นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ อยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี 2. น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง 3. นายภาณุพงศ์ จาดนอก 4. นายปิยรัฐ จงเทพ 5. นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม 6. นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 7. นายอานนท์ นำภา 8. นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 9. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ อยู่ที่สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี และ 10. นายพรหมศร วีระธรรมจารี ที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในห้องแยกกักโรคตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ในแต่ละเรือนจำ โดยหากพ้นระยะกักตัวแล้ว จะได้รับการจำแนกเพื่อส่งตัวไปควบคุมตามแดนต่างๆ ต่อไป
นายวีระกิตติ์ เผยอีกว่า ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ประสบปัญหาในการประสานการทำงานให้เป็นแนวทางเดียวกันอยู่บ้าง เนื่องจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมราชทัณฑ์ ประกอบไปด้วย เรือนจำทัณฑสถาน และสถานกักขัง มีมากถึง 143 แห่งทั่วประเทศ แม้ว่าภายใต้ระเบียบหลักจะมีการเขียนกำกับไว้อย่างชัดเจน แต่อาจจะไม่ได้มีการเขียนระบุในส่วนของรายละเอียด ทำให้ในบางครั้งผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องใช้ดุลพินิจของตนเองในการตัดสินใจ ซึ่งอาจจะมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันเล็กน้อยภายใต้กรอบข้อบังคับ แต่ก็อาจจะสร้างความไม่พอใจ รวมถึงเป็นประเด็นสงสัยต่อสาธารณชนตามที่เป็นข่าว
“กรมราชทัณฑ์ จึงได้ดำเนินการจัดทำ Standard Operation Procedures หรือ SOPs เพื่อเป็นระเบียบกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะรายละเอียดพื้นฐานที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดการใช้ดุลพินิจของผู้ปฏิบัติงานลงให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง และช่วยปรับปรุงระเบียบข้อบังคับที่อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทบทวนเอกสาร และคำสั่งที่เคยประกาศไปแล้วทั้งหมด เพื่อจัดทำร่างและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการจัดทำร่างดังกล่าวได้แล้วเสร็จภายในช่วงกลางเดือน เม.ย. 64 นี้”
นายวีระกิตติ์ เผยต่อว่า ส่วนการเปิดเยี่ยมญาติผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องระบุให้ชัดเจน โดยเฉพาะในผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างกักตัว 14 วัน ที่กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้ผู้บริหารเรือนจำและทัณฑสถานใช้ดุลพินิจเพื่อพิจารณาเปิดเยี่ยมได้ เพียงแต่จะต้องจัดสถานที่สำหรับการเยี่ยมผ่านแอปพลิเคชันไลน์เป็นการเฉพาะ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือกำชับไปยังผู้บริหารเรือนจำและทัณฑสถานแต่ละแห่ง เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ให้มีการทบทวนระเบียบการเยี่ยมอีกครั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสพบปะญาติในระหว่างกักตัว โดยเฉพาะในผู้ต้องขังรับใหม่และผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เป็นที่สนใจของประชาชน ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลทั้งต่อญาติเอง และลดความเครียดของผู้ต้องขังได้เป็นอย่างดี
นายวีระกิตติ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาการของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ที่อยู่ในช่วงอดอาหาร ในวันนี้ (24 มี.ค.) ทีมแพทย์ห้วงเวลาและเจ้าหน้าที่พยาบาลได้เข้าตรวจอาการ นายพริษฐ์ ยังคงปฏิเสธการรับประทานอาหารและการตรวจวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้ว เนื่องจากวิตกกังวลในเรื่องความปลอดภัย ผลการตรวจร่างกายอื่นๆ พบว่า ยังมีระดับความรู้สึกตัวที่ดี มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อยจากการอดอาหาร โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้รับประทานอาหารอื่นทดแทน อาทิ ขนมปัง นม น้ำหวาน เกลือแร่ เพื่อป้องกันภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และยังคงมีผื่นบริเวณหน้าอกและหลังอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จ่ายยารับประทานและยาทา เพื่อรักษาอาการดังกล่าวแล้ว ส่วนสภาพร่างกายทั่วไปยังถือว่าปกติไม่น่าเป็นห่วง โดยทีมแพทย์ได้กำชับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องกักขังร่วมห้องให้สังเกตอาการผิดปกติอยู่เป็นระยะเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
นายวีระกิตติ์ กล่าวปิดท้ายว่า ในข้อสงสัยเกี่ยวกับการย้ายเรือนจำของผู้ต้องขังโดยไม่แจ้งญาตินั้น ขอเรียนว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของงานราชทัณฑ์ ที่การย้ายผู้ต้องขังระหว่างเรือนจำจะต้องเป็นความลับจนกว่าการย้ายจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ก็เป็นไปเพื่อความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในระหว่างการปฏิบัติงาน ส่วนสาเหตุที่ผู้ต้องขังบางรายมีความกังวลใจในความปลอดภัย คาดว่า เป็นเพราะยังอยู่ในช่วงการปรับตัว ทำให้อาจจะมีความกังวลใจ ความเครียด และวิตกกังวล ซึ่งขอยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ มีการดำเนินการและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และผู้ต้องขังทุกคนที่ถูกคุมขังภายใต้หน่วยงานของกรมราชทัณฑ์จะได้รับการปฏิบัติตามกฎ และระเบียบอย่างเท่าเทียม ไม่มีการทำร้ายร่างกาย หรือใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่เรือนจำแต่อย่างใด