ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพิ่มโทษ อดีตพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ อีกกระทง ร่วมทุจริตงบสำนักพุทธศาสนา จากจำคุก 36 เดือน เป็น จำคุก 48 เดือน ปรับ 36,000 บาท แต่รอลงอาญาไว้ 2 ปี
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดี “ทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)” คดีหมายเลขดำ อท.251/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “นายพนม ศรศิลป์” อายุ 61 ปี อดีตผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.), “นายชยพล พงษ์สีดา” อายุ 65 ปี อดีตรอง ผอ.สำนักงาน พศ., “นายณรงค์เดช ชัยเนตร” อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา, “นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี” อายุ 51 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา, “พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข” หรือ นายธงชัย สุขโข อายุ 65 ปี อดีตพระราชาคณะเจ้าคณะรอง และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ, ทำ, จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157 ประกอบมาตรา 83, 86, 91
โดยคดีนี้ อัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2561 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 29 ต.ค. 2558 - 22 ก.ค. 2559 พวกจำเลย ได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณของสำนักงาน พศ.ประจำปี 2559 จำนวน 69,700,000 บาท (จากวงเงินงบประมาณประจำปี 2559 จำนวน 5,360,188,000 บาท) ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้ “วัด” เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงิน ด้วยการให้ “วัด” โดยเจ้าอาวาส เสนอโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุนที่เบียดบังมา จากที่ได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการเงินอุดหนุนในโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม จำนวน 37,200,000 บาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท ซึ่งวัดสระเกศฯ ได้รับอนุมัติเงินไปเพียงวัดเดียว โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 61 “พ.ต.ท.พงศพร พราหมณ์เสน่ห์” ผอ.สำนักงาน พศ.ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามกฎหมาย ซึ่งมีคำขอท้ายฟ้อง ขอศาลให้มีคำสั่งจำเลยที่ 1-5 ร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินจำนวน 69,700,000 บาท คืนแก่สำนักงาน พศ. ผู้เสียหาย
ซึ่งศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาลงโทษ จำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี 12 เดือน, จำเลยที่ 2-4 จำคุกคนละ 3 ปี 18 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 ให้จำคุก 36 เดือน และปรับ 27,000 บาท แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกนั้นให้รอการลงโทษ (รอลงอาญา) ไว้มีกำหนด 2 ปี
ต่อมาอัยการโจทก์ และจำเลยที่ 5 ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2-4 มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ตามฟ้องข้อ 2.3 อีกกระทงหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 2-4 คนละ 2 ปี โดยลดโทษให้จำเลยคนละหนึ่งในสี่ เป็นจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และเมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2-4 คนละ 4 ปี 24 เดือน
จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ตามฟ้องข้อ 2.3 อีกกระทงหนึ่ง จำคุกมีกำหนด 1 ปี 4 เดือนและปรับ 12,000 บาท โดยลดโทษให้หนึ่งในสี่
เป็นจำคุกจำเลยที่ 5 เป็น 12 เดือนและปรับ 9,000 บาท เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 5 ทั้งสิ้น 48 เดือนและปรับ 36,000 บาท ซึ่งนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โดยส่วนของจำเลยที่ 5 นั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 5 มานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ศาลอุทธรณ์ฯ มีคำพิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 5 ให้จำคุก 48 เดือน และปรับ 36,000 บาท โดยระบุว่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เท่ากับว่า โทษจำคุกดังกล่าวยังคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น คือให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้หากคู่ความจะยื่นฎีกา ก็จะต้องเป็นการขออนุญาตฎีกา ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559
โดยมาตรา 42 กำหนดว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์จะฎีกาต้องปฏิบัติตามมาตรา 44 ที่กำหนดให้ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาด้วย
ซึ่งเหตุที่ศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ ระบุไว้ใน มาตรา 46 คือต้องเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยซึ่งรวมถึงปัญหาดังต่อไปนี้
(1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ
(2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
(3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน
(4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขัดกับคำพิพากษา หรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
(5) เมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
(6) เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
(7) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา