MGR Online - บช.น.เผย ม็อบ 20 มี.ค.มีความผิดมาตรา 112 หลังก่อเหตุเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ควบคุมตัวสอบ ตชด.ภาค 1 ตำรวจบาดเจ็บ 50 นาย สาหัส 1 กะโหลกแตก ทราบเบาะแสชายชุดดำถืออาวุธสงครามแล้วยันเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม วอนช่วยตามล่าชายชุดสกอตมือปาระเบิด ชี้กลุ่มใช้ความรุนแรงเป็นหน้าเดิมๆ ให้ประชาชนตัดสินจงใจ หรือบังเอิญ เหตุนักข่าวถูกลูกหลงคงหนีออกมาไม่ทัน ย้ำทำเพื่อปกป้องสถานที่สำคัญของประเทศ
วันนี้ (21 มี.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.(จต.) ในฐานะโฆษก บช.น.และ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจํานงค์ รอง ผบช.ภ.2 ในฐานะโฆษก ตร.แถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีกรณีกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มศิลปะปลดแอก และกลุ่มเพื่อนอานนท์ รวมตัวชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) เวลา 17.00 น.
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า สืบเนื่องจากวานนี้ (20 มี.ค.) เวลา 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มรวมตัวทำกิจกรรมใน 2 พื้นที่ คือ 1. ที่ท้องสนามหลวง บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ และ 2. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณหน้าแมคโดนัลด์ เวลา 17.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมหน้าแมคโดนัลด์ ตั้งขบวนเพื่อเดินทางมาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ เวลา 17.35 น. พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม ได้ประกาศแจ้งเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ริมคลองหลอด บริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ว่าการชุมนุมในขณะนี้มีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรการควบคุมโรค) และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ผลักดันตำรวจออกจากบริเวณดังกล่าว พร้อมโห่ไล่และรุมทำร้ายตำรวจจนต้องถอยร่นออกมาในที่ปลอดภัย เวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้รื้อสิ่งกีดขวางที่ท้องสนามหลวงแนวที่ 1 ออกจากบริเวณที่ตำรวจตั้งเตือนเอาไว้ เวลา 18.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามเคลื่อนย้ายแนวสิ่งกีดขวาง หรือตู้คอนเทนเนอร์ มีการใช้ลวดสลิงและร่วมกันเคลื่อนย้าย ขณะเดียวกัน มีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มใช้สิ่งของต่างๆ เช่น ท่อนเหล็ก ท่อนไม้ และหนังสติ๊กบรรจุลูกแก้ว ลูกเหล็ก รวมถึงระเบิดบางส่วนเป็นระเบิดที่มีลักษณะสามารถติดไฟได้ง่ายโยนใส่ตำรวจ
เวลา 18.50 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวาง หรือตู้คอนเทนเนอร์อีก 1 ตู้ เปิดเป็นช่องและพยายามบุกรุกเข้ามาบริเวณพื้นที่หวงห้าม โดยใช้วัตถุระเบิดและอาวุธต่างๆ ทำร้ายตำรวจ ระหว่างนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้ทุบทำลายสิ่งของทางราชการ อาทิ กล้องวงจรปิด ม้านั่ง และแผงเหล็กก่อนจะนำมาทำร้ายตำรวจ เวลา 19.00 น. ตำรวจได้ประกาศเตือนให้หยุดการดำเนินดังกล่าว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับไม่ยอมหยุดยิ่งพยายามเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม โดยมีลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ในบริเวณสถานที่ราชการสำคัญโดยรอบ ตำรวจจึงมีความจำเป็นต้องฉีดน้ำเพื่อเตือนกลุ่มผู้ชุมนุม
เวลา 19.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามบุกเข้าไปในสถานที่ที่ตำรวจรักษาการณ์อยู่ จึงได้เคลื่อนชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ดำเนินการแก้ไขปัญหา จากนั้นผลักดันกลุ่มชุมนุมออกจากบริเวณท้องสนามหลวง กระทั่งเวลา 20.50 น. ตำรวจสามารถรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวงไว้ได้ ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะกระจายตัวออกไป 2 พื้นที่ คือ 1. ที่เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและพื้นที่โดยรอบ และ 2. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบริเวณแยกคอกวัวและพื้นที่โดยรอบ
เวลา 21.40 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้จุดเพลิงในบริเวณพื้นที่ต่างๆ โดยรอบพื้นที่การชุมนุม เช่น ถนนราชดำเนิน หน้ากองสลากเก่า ท้องสนามหลวง หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และพื้นที่อื่นๆ มีการทุบทำร้ายตำรวจ เผารถตำรวจจำนวนหลายคัน และทำลายทรัพย์ประชาชนบริเวณสะพานวันชาติ กระทั่งเวลา 00.30 น. ตำรวจสามารถรักษาการณ์และควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ขณะนี้ตำรวจได้จับกุมผู้กระทำผิดทั้งหมด 20 ราย ก่อนนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวไปสอบสวนที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี
เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรการควบคุมโรค), พ.ร.บ.โรคติดต่อ, ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิกผิดตามมาตรา 216, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมี หรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามมาตรา 138 ประกอบมาตรา 140” โฆษก บช.น.กล่าว
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อว่า สำหรับความผิดมาตรา 112 พบว่า มีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ บางส่วนถูกจับกุมแล้วและบางส่วนอยู่ระหว่างติดตามจับกุม ขณะนี้รู้ตัวผู้กระทำผิดหมดแล้ว ส่วนความผิดอื่นๆ ที่เป็นความผิดเล็กน้อย อาทิ เมาสุรา และพกพาอาวุธแต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ได้มีการเปรียบเทียบปรับ จำนวน 5 ราย ทั้งนี้ ตำรวจได้รับเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 50 นาย รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ จำนวน 9 นาย และ รพ.วชิรพยาบาล จำนวน 2 นาย ส่วนใหญ่ถูกสะเก็ดระเบิด และของแข็งตีเข้าที่ศีรษะกับต้นคอ ในจำนวน 1 นาย กะโหลกศีรษะแตก เข้าพักรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู รพ.ตำรวจ
ความรุนแรงเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะเป็นหน้าเดิมๆ เป็นกลุ่มรถจักรยานยนต์เรียกตัวเองว่า “จรยุทธ” เคยก่อเหตุที่สามย่านมิตรทาวน์ ตรงนี้ให้ประชาชนตัดสินเองว่าเป็นความจงใจ หรือเหตุบังเอิญ นอกจากนี้ ตำรวจอยู่ระหว่างติดตามตัวชายสวมเสื้อลายสก๊อต เป็นมือระเบิดที่ขว้างใส่ตำรวจจำนวนหลายลูก ฝากสื่อมวลชน หรือประชาชน หากมีเบาะแสบุคคลดังกล่าวให้แจ้งที่ บก.สส.บช.น.หรือ บช.น.หรือ ผกก.สน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) และเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นระเบิดชนิดใด หากพบว่าเป็นระเบิดที่อยู่ในยุทธภัณฑ์ก็จะมีความผิดสูงขึ้น
ส่วนกรณีชายสวมชุดดำและหมวกคล้ายหน่วยงานหนึ่ง ถืออาวุธปืนคล้ายอาวุธสงคราม ขณะนี้ตำรวจมีเบาะแสแล้วทราบว่าอยู่ในส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุม และกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมอ้างว่าไม่มีแกนนำนั้น จากการสืบสวนเชิงลึกพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมยังคงมีแกนนำ แต่ไม่ปรากฏตัวแค่นั้นเอง อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับแกนนำ สำหรับการประเมินในการใช้กระสุนยางของตำรวจ จนเป็นเหตุให้สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ ได้กำชับการใช้เครื่องมือในการควบคุมฝูงชน ให้เป็นไปตามระบบและระเบียบโดยมีการประกาศเตือนไปยังสื่อมวลชน ประชาชน และแพทย์อาสาให้ออกจากพื้นที่
“อาจมีสื่อมวลชนบางส่วนที่ออกมาไม่ทันจนถูกลูกหลงในช่วงชุลมุน ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณเปิดเผยว่า มีประชาชนได้รับลูกหลง จำนวน 11 ราย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้วและคงจะเดินทางไปเยี่ยม” น.2 กล่าว
พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าวว่า ตนขอย้ำว่า ตำรวจต้องดำเนินการใน 3 หลักการ คือ 1. การชุมนุมในขณะนี้ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรการควบคุมโรค) และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2. ตำรวจจำเป็นต้องใช้เครื่องกีดขวางในบางพื้นที่การชุมนุม เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับสถานที่สำคัญของทางราชการ และไม่อยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำความผิด ไม่อยากดำเนินการตามกฎหมายไปมากกว่านี้ โดยระงับยับยั้งไว้ในระดับหนึ่งดีกว่าที่จะเกิดความเสียหาย ทั้งกับตัวกลุ่มผู้ชุมนุมและสถานที่ราชการสำคัญ 3. การระงับยับยั้งกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้ไปทำลายสถานที่สำคัญและสิ่งกีดขวาง
ตำรวจมีมาตรการระงับยับยั้งตามกฎหมาย และเป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล แน่นอนว่า หลักการสำคัญต้องไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม พยายามควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบและไม่เกิดความรุนแรง มีการประกาศเตือนทุกระยะ และประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเคลียร์ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ออกไป เนื่องจากเป็นมาตรการควบคุมพื้นที่ให้อยู่ในความปลอดภัยมากที่สุด ฉะนั้น สิ่งที่ทำลงไปยืนยันว่าตำรวจเป็นฝ่ายตั้งรับ เพื่อรักษากฎหมาย มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย รักษาสมบัติและโบราณสถานที่สำคัญของประเทศชาติ