หากจะพูดถึง ความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไม่ว่าจะในชั้น ตำรวจ อัยการ หรือ ศาล อดีตมีเกิดขึ้นหลายต่อหลายกรณีคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นมาไม่นานนี้ คือ "คดีน้องแนน" สาวสุรินทร์ เมื่อได้
รับทราบแล้วเชื่อว่า หลายๆคนก็คงรู้สึกสะเทือนใจมาก โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ หลาย ๆ กรณีก่อนหน้านี้อย่างเช่น กรณีของ ลูกมหาเศรษฐีอย่าง “บอส” นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดงที่เสพยาเสพติด และขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดาบวิเชียร หรือ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2555 หรือเมื่อเกือบ 8-9 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถตามตัวกลับมารับโทษได้
แต่ที่น่าทุเรศไปกว่าการตามตัวกลับมารับโทษตามกฎหมาย คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ รวมไปถึงคนในกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตํารวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมไปถึง “ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง” กลับไปช่วยให้นายบอส หลุดคดี ทั้งยังพยายามทำให้ผู้เสียชีวิต-เหยื่อของเหตุการณ์ อย่าง “ดาบวิเชียร” กลายเป็นผู้ต้องหา โดยอ้างว่าเป็น “ขับรถตัดหน้า” รถเฟอร์รารีของนายบอสเสียอีก เหล่านี้ ทำให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ขาดความเชื่อมั่นต่อ กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่กระบวนการ “ต้นน้ำ” คือตำรวจที่สอบสวนติดตามจับกุม “กลางน้ำ” ที่อัยการ และ “ปลายน้ำ” ที่ศาล
กรณีของ “น้องแนน” เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 กับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอชื่อ น.ส.สุพรรณษา บำเพ็ญเพียร หรือ “น้องแนน” ชาวบ้านโคกเพชร ต.ตระแสง อ.เมือง จังหวัดสุรินทร์ ที่ไม่ได้รับความยุติธรรม หรือ ความช่วยเหลือใด ๆ ระหว่างถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลย แต่เธอกลับถูกลากเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาร่วมกับแฟนหนุ่ม
ย้อนรอยคดี
คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก เมื่อ วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 “น้องแนน” สุพรรณษา ซ้อนรถจักรยานยนต์กับแฟนหนุ่ม คือ นายศุภกิจ นิยมสวน ขณะนั้นอายุ 21 ปี ที่เพิ่งจะคบกันได้ไม่กี่เดือน (“น้องแนน” จบการศึกษาระดับ ม.3 เป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ส่วนนายศุภกิจเป็นลูกจ้างอยู่ในร้านคาร์แคร์ใกล้ๆ กัน และอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายศุภกิจ) เพื่อไปทำตลาดนัด แต่แฟนหนุ่มกลับพาเธอไปส่งยาบ้า 41 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 4.041 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.854 กรัม มูลค่า 2,400 บาท ให้กับ “สายตำรวจ” ที่ดำเนินการล่อซื้อ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งแฟนหนุ่มที่เป็นผู้ต้องหา ให้การรับสารภาพ จึงถูกศาลตัดสินให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน
ส่วน “น้องแนน” สุพรรณษา นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตรวจปัสสาวะก็ไม่พบสารเสพติด แต่ครอบครัวไม่มีเงินประกันตัว จนถูกคุมขังในเรือนจำกลางสุรินทร์ฟรี กว่า 8 เดือน จนกระทั่ง ทนายคำสิงห์ ชอบมี ทนายความอาสาที่ยื่นมือเข้าช่วย ด้วยความบังเอิญ กล่าวคือ ขณะที่ไปติดต่อคดีอื่นที่ศาล ได้ไปพบกับพ่อแม่ของ “น้องแนน” ที่อับจนหนทาง เนื่องจากเป็นประกอบอาชีพเป็นเพียงชาวนา ไม่มีความรู้ใด ๆ เรื่องกฎหมาย นอกจากนี้คดียาเสพติดอย่างนี้ก็ไม่มีทนายคนใด อยากช่วยเหลือ หรืออาสาเป็นทนายให้
ทนายคำสิงห์ เล่าว่า “วันนั้นผมไปธุระที่ยุติธรรมจังหวัดสุรินทร์ เห็นสองผัวเมียที่เป็นพ่อแม่น้อง เข้ามาขอความช่วยเหลือจากยุติธรรมสุรินทร์ เท่าที่ผมฟัง เชื่อที่พ่อแม่เล่ามาตั้งแต่ต้นว่า น้องบริสุทธิ์ ไม่รู้เรื่องจริง ๆ เดือนกว่า ๆ ก็มีหนังสือจากทางยุติธรรมจังหวัดสุรินทร์แจ้งว่า ไม่อนุมัติช่วยเหลือรายนี้ทั้งจัดหาทนายความและเงินประกันตัว อาจจะเป็นคดีนโยบายเรื่องยาเสพติดหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ ...
“ดูแล้วน่าสงสาร คนไม่มีที่พึ่งแล้ว เดินทางมาเพื่อหากองทุนยุติธรรม ตามที่คุณโฆษณาสวยหรูว่าช่วยเหลือประชาชน ในใจผมคิดว่า เขาน่าจะเดือดร้อนจริง เพราะตอนแรกผมยังไม่ได้พูดคุยกับน้อง เพราะน้องยังอยู่ในเรือนจำ ผมก็คิดว่าให้พวกเขายื่นเรื่องราวตามขั้นตอนราชการก่อนว่าจะช่วยเหลือไม่ช่วย พอผมฟังก็บอกว่าถ้าเรื่องราวเป็นจริง ก็เอา ‘นามบัตร’ ผมไว้ ถ้าทางยุติธรรม
จังหวัดสุรินทร์มีหนังสือแจ้งว่าไม่อนุมัติหรือช่วยเหลือใด ๆ ก็ติดต่อผม ผมจะว่าความให้ฟรี”
จากนั้นพ่อกับแม่น้องก็โทรหาผม ขอความช่วยเหลือเรื่องทนายความ และหาทางเอาลูกสาวออกจากเรือนจำ ซึ่ง ครอบครัวนี้มีลูกสาว 1 คน คือ น้องแนน และน้องชายอีก 1 คน ซึ่งกำลังเรียนหนังสืออยู่เนื่องจากตั้งแต่ลูกถูกจับมาก็ถูกส่งเข้าเรือนจำ ไม่มีเงินประกันตัว เพราะครอบครัวมีฐานะยากจน
นางพัชรพร บำเพ็ญเพียร แม่ของน้องแนน กล่าวว่า “ไม่รู้จักคุณทนายมาก่อน บังเอิญไปเจอ ถ้าไม่เจอทนายก็ไม่รู้จะทำยังไง เขาก็ถาม เจอโดยบังเอิญจริง ๆ ไม่เคยรู้จักเลย”
จากนั้น “ทนายคำสิงห์” จึงทำเรื่องเพื่อเข้าไปสอบถามลูกความในเรือนจำ จนมั่นใจว่า “น้องแนน” ไม่น่าจะโกหก และไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่รู้เห็น และไม่มีส่วนร่วมในการทำผิดในครั้งนี้ เพียงแค่ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปกับแฟนที่เพิ่งคบหาคดีนี้ ศาลชั้นต้นยกฟ้อง-อัยการอ้างอุทธรณ์ตามหน้าที่
ระหว่างนั้น ทางทนายคำสิงห์ ได้ช่วยสู้คดี จนอีก 8 เดือนต่อมา คือ ช่วงต้นปี 2562 ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” แต่ในช่วงนั้น “น้องแนน” ต้องอยู่ในเรือนจำยาวนานถึง 8 เดือน หลังจากยกฟ้อง “น้องแนน” เพิ่งได้ออกจากเรือนจำ ทางอัยการก็มีการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งทนายคำสิงห์ก็เล่าว่า วันนั้นได้พาคุณแม่ของน้องแนนไปขอร้องท่านอัยการ
“อย่าอุทธรณ์เลย สงสารเด็ก อัยการก็อ้างว่าเป็นหน้าที่ของเขา เขาฟังแต่ไม่ทำตามที่เราร้องขอ เขาก็อุทธรณ์ไปตามหน้าที่ ... เราก็ทำตามหน้าที่ของเราคือต่อสู้คดี”
“ผมคิดว่าต้องช่วยต่อสู้คดีแบบสุดๆ แม่บอกไม่มีเงิน ผมบอกว่าไม่เป็นไร เราก็ทนายคนจน ทนายบ้านนอกเหมือนกัน ครั้งแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะช่วยต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกา จะช่วยแค่ศาลชั้นต้นก็พอ หลังจากผมสอบถามน้องในเรือนจำสุรินทร์แล้วมั่นใจว่าน้องเขาบริสุทธิ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่พอดีเราไปขอความเมตตาจากท่านอัยการ ท่านก็บอกว่าอุทธรณ์คดีตามหน้าที่ ผมก็ต้องช่วยแก้อุทธรณ์” ทนายคำสิงห์เล่า
ตรงนี้ยิ่งตอกย้ำว่าพนักงานอัยการในฐานะทนายของแผ่นดินได้ทำหน้าที่ยุติธรรมแค่ไหน เมื่อเทียบกับกรณีรองอัยการสูงสุด นายเนตร นาคสุข เมื่อปี 2563 มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง “บอส” นายวรยุทธ อยู่วิทยา ในคดีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต โดยตำรวจไม่แย้งคำสั่งอัยการจึงเป็นอันสิ้นสุดคดี ก่อนที่เรื่องจะแดงขึ้นมา และกลายเป็นประเด็นครึกโครมในสังคม
วันที่ 12 ธันวาคม 2562 – ศาลอุทธรณ์ อ่านคำพิพากษาให้ “น้องแนน” มีความผิด สั่งลงโทษจำคุก 5 ปี 12 เดือน และปรับเงิน 566,600 กว่าบาท (ค่าปรับ 41 เม็ด ตกปรับเม็ดละ 13,700 บาท) ถ้าไม่มีเงินให้กักขังแทนโดยคิดวันละ 500 บาท (สูงสุดสองปี) แทนเงินค่าปรับ เท่ากับ “น้องแนน” ต้องกลับเข้าเรือนจำ ด้วยระยะเวลาในการ จำคุก 8 ปี!
ทนายคำสิงห์ เล่าว่า “วันนั้นผมฟังคำตัดสินศาลอุทธรณ์แล้วเข่าอ่อนเลย คดีพลิกกลับ เพราะเขาหยิบยกประเด็นผู้ชายที่เป็นแฟนเขาโพล่งว่า ใช้น้องคนนี้ไปโอนเงินเข้าเอทีเอ็ม ทั้ง ๆ ที่ในข้อเท็จจริง “น้องแนน” ยืนรอที่ฟุตบาทตรงตามคำเบิกความของสายลับล่อซื้อยา ศาลอุทธรณ์จึงหยิบยกประเด็นนี้ประเด็นเดียวมาลงโทษว่าสมคบกัน เป็นแฟนกัน อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ต้องรู้เรื่องนี้ เชื่อมโยงให้สอดคล้องเรื่องโอนเงินเพื่อลงโทษ ประเด็นนี้ทำให้ผมฮึดสู้ถึงฎีกา หักล้างให้ได้”
ด้าน นางพัชรพร บำเพ็ญเพียร แม่ของน้องแนน กล่าวว่า ก็ไม่คิดว่าจะมีการอุทธรณ์ต่อหลังที่ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องแล้ว และลูกสาวต้องอยู่ในเรือนจำฟรี ๆ ถึง 8 เดือน ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ไปฟังคำตัดสินอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 และได้ตัดสินจำคุก 5 ปี 12 เดือน ตนตกใจเป็นอย่างมาก พูดไม่ออก แล้วปรับอีก 5 แสนกว่าบาท ครอบครัวก็ยากจนไม่มีอะไรที่จะไปประกันตัวลูก ก็เลยต้องไปอยู่ที่เรือนจำ เคยไปร้องเมื่อตอนที่ลูกสาวเข้าไปครั้งแรกที่ยุติธรรมจังหวัด แต่ก็ไม่รับเรื่องให้ ระหว่างที่ลูกถูกจำคุกอยู่นั้น ทุกสัปดาห์ ปกติคือวันศุกร์ ตนจะก็ขี่มอเตอร์ไซค์จากบ้านไปเรือนจำซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อเยี่ยมซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดตั้งแต่รอบแรกแล้วว่า ลูกสาวนั้นจากที่เคยเป็นคนร่าเริงก็กลายเป็นโรคซึมเศร้า (เป็นตั้งแต่ถูกจำคุก 8 เดือนรอบแรก) และระหว่างจำคุกรอบ 2 ก็ต้องกินยารักษาโรคซึมเศร้าไปด้วยระหว่างที่น้องแนนอยู่ในเรือนจำ
เดินหน้าฎีกาหาความยุติธรรมหลังศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษ
น้องแนน ทนายคำสิงห์ จึงเดินหน้าทำ 2 เรื่องคือ
1. คำร้องเรื่องขออนุญาตฎีกาว่าศาลจะรับฎีกาหรือไม่รับ
2. ทำฎีกาไปพร้อม ๆ กัน
แม้จะมีความหวังริบหรี่เนื่องจากคดียาเสพติด ยาบ้า 41 เม็ด นั้นถือเป็นคดียาเสพติดเล็ก ๆ ในสารบบ ถ้าศาลฎีกาไม่รับ คดี “น้องแนน” ก็จบที่ศาลอุทธรณ์เลย และน้องแนนจะต้องโทษอีกจำคุก 8 ปี
สถิติ : ในช่วงปี 2557-2562 จากข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม ผู้ต้องหาคดียาเสพติดทั่วประเทศไทยนั้นมากถึงราวปีละ 3 แสน ถึง 4 แสนคน
อย่างไรก็ตาม ทนายคำสิงห์ก็สู้ถึงที่สุดโดยใช้เวลานานกว่า 4 เดือน ทำเรื่องยื่นฎีกาเข้าไป จนศาลจังหวัดสุรินทร์ได้รับเรื่องยื่นคำร้อง แล้วส่งให้ศาลฎีกาซึ่งศาลฎีกาก็รับเรื่องไว้พิจารณาทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา และระหว่างดำเนินการให้ศาลฎีการับเรื่อง “น้องแนน” สุพรรณษาต้องกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำยาวนานอีก เนื่องจากครอบครัวไม่มีเงินประกันตัวเช่นเคย
“สุดท้ายศาลฎีกาก็มีคำสั่งอนุญาตรับไว้พิจารณา ระหว่างศาลอุทธรณ์ตัดสินแล้ว น้องต้องเข้าเรือนจำเลย ท่ามกลางความโศกเศร้า คุณแม่ร้องไห้จนเป็นลม ไม่คิดว่าศาลอุทธรณ์จะตัดสิน” ทนายคำสิงห์เล่า
ฟ้าเปิด เมื่อ “ศาลฎีกา” ยกฟ้อง
วันที่ 28 มกราคม 2564 - ในที่สุด ศาลฎีกามีดุลยพินิจตามพยานหลักฐานอ่านคำพิพากษาตัดสินยกฟ้อง ว่าจำเลยไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกา
“... วันเกิดเหตุจำเลยเดินทางมากับนายศุภกิจซึ่งเป็นสามี เนื่องจากนายศุภกิจชวนไปตลาดนัด โดยนายศุภกิจขับรถจักรยานยนต์ให้จำเลยนั่งซ้อนท้ายมา เห็นได้ว่าในการตรวจค้นตัวจำเลย และการปัสสาวะก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ หรือ สารเสพติด ลำพังข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า ตามวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุในฟ้องจำเลยร่วมทางมากับนายศุภกิจ แล้วจะนำพฤติการณ์ของนายศุภกิจมาเชื่อมโยงเพื่อลงโทษจำเลยนั้นจึงยังไม่ชอบด้วยเหตุผล
“ดังนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยร่วมกับนายศุภกิจมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ใน
ครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณายาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง”
ข้อคิดจาก “ทนายคำสิงห์”
“คดีนี้มันจบลงไปแล้ว แต่ผมอยากจะสะท้อนว่า แม้มันจะเป็นจุดเล็กๆ แต่เรื่องราวยิ่งใหญ่สำหรับคนจน เราต่อสู้ด้วยเสรีภาพของเราเป็นเดิมพัน”
“ศาลฎีกายกฟ้อง ผมไม่ค่อยติดใจเท่าไร เพราะสมประโยชน์เราแล้ว ตามที่เราต่อสู้แนวทางคดี ศาลไม่เชื่อตามที่ศาลอุทธรณ์ลงในประโยคนี้ ศาลฎีกาค้าน คุณจะเอาตรงนี้มาเชื่อมโยงเพื่อลงโทษจำเลย ศาลไม่เห็นด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
สิ่งที่ทนายคำสิงห์อยากจะสะท้อนปัญหาให้เห็นว่า “น้องแนน” ได้ถูกจองจำในเรือนจำรวม 2 ครั้ง เป็นเวลาถึง 21 เดือน (รอบแรก 8 เดือน และหลังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์อีก 13 เดือน) อยากจะให้หน่วยงานของรัฐได้เข้ามาเยียวยา โดยจ่ายไปตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน โดยผ่านกองทุนของจังหวัดมาเยียวยาในจุดนี้ ซึ่งตนก็จะพาลูกความไปยื่นหนังสือเพื่อขอรับเงินเยียวยาต่อไป ในส่วนที่รัฐจะเยียวยานั้นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของภาครัฐ ซึ่งในคดีนี้หากไม่มีการยื่นฎีกาลูกความตนต้องติดคุกถึง 8 ปีเลย แต่ที่น่ายินดีที่ศาลฎีกาท่านได้ยกฟ้อง และอยากให้ภาครัฐได้เข้ามาเยียวยาในจุดนี้ด้วย
“ผมอยากจะเปิดเผย จุดบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม เพราะ คดีนี้ศาลฎีกาพิมพ์ในคำพิพากษา วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563
ศาลพิพากษาใช้ดุลยพินิจตัดสินแล้วว่า ยกฟ้อง แต่ศาลฎีกากลับนัดอ่านคำพิพากษาเมื่อ วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2564 (หรือหลังจากที่ศาลฎีกาพิพากษาไปแล้ว 2 เดือน)
“ผมว่าขั้นตอนตรงนี้ไม่แฟร์ เมื่อพิพากษามาแล้วก็ควรอ่านทันที เพราะรู้ในสำนวนแล้วว่า จำเลยถูกจองจำ เสรีภาพสำคัญที่สุดของมนุษย์ ต้องอ่านโดยเร็วๆ เพราะฉะนั้น เท่าที่ตัดสินเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 ยันถึง 28 มกราคม 2564 ที่คุณอ่านคำสั่งเป็นเวลา 2 เดือนกว่าที่เขาถูกจองจำโดยคุณตัดสินว่ายกฟ้อง ตรงนี้ช้ำใจมาก ผมว่ามันล่าช้าเกินไป ต้องเร็วกว่านี้ถ้าจะอ่านคำพิพากษา
“โดยหลักธรรมชาติของระบบศาล เขาจะส่งคำพิพากษาไปให้ที่ศาลจังหวัดสุรินทร์นัดอ่าน ซึ่งกว่าจะนัดอ่านตั้งหลายเดือน แต่ว่าคดีนี้ 28 มกราคม 2564 ศาลฎีกาออกนั่งบัลลังก์ที่กรุงเทพ อ่านผ่านวีดิโอคอนเฟอร์เรนท์ โดยจำเลยอยู่ในเรือนจำสุรินทร์ ทนายและอัยการอยู่ในห้องพิจารณา และผู้พิพากษาอยู่เป็นสักขีพยานตรงจุดนั้น อ่านคำพิพากษาประมาณ 30 นาที เสร็จประมาณ 10 โมงเช้า กว่าจำเลยจะถูกปล่อย 6 โมงเย็น นี่คือขั้นตอน ผมก็ยังคิดว่าล่าช้า คนจะได้รับอิสรภาพต้องหน่วงเวลาช้า ใจเขาใจเรา คนรอรับก็ใจจะขาด คนอยากออกเร็ว ผมคิดว่าน่าจะทำงานให้เร็วกว่านี้”
อาจไม่ได้เงินเยียวยา-ยังไม่มีใครติดต่อ
สำหรับการเรียกร้องเยียวยาจากกองทุนยุติธรรม ทนายคำสิงห์กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยา จะต้องไปคัดเอกสารตามที่เขาต้องการ เพื่อไปยื่นเรื่องกับเขา
“สิ่งที่เราเรียกร้องเยียวยาคือ ค่าขาดประโยชน์ และการที่เขาถูกจองจำ ซึ่งผมถามยุติธรรมจังหวัดสุรินทร์แล้วว่า เขาให้ได้สูงสุดวันละ 800 บาท แต่จะได้รับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมวินิจฉัยประเด็นนี้ตามหลักพิพากษาคดีอาญา จะพิพากษาว่าจำเลยตาม ป.วิอาญามาตรา 227 ว่ายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย แต่ พ.ร.บ.เงินทดแทน ที่เยียวยาจำเลย เขาไปเขียนไว้ในมาตรา 20 และมาตรา 22 ว่า ศาลต้องพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่มีความผิด
“ซึ่งผมเคยสอบถาม เงินเยียวยาได้ยากมาก เพราะว่าตัวนี้มันล็อกกันอยู่ ผมเชื่อว่าตั้งแต่ผมเป็นทนายความมา ไม่เคยเห็นศาลพิพากษายกฟ้องว่าจำเลยไม่มีความผิด มีแต่ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย ตาม ป.วิอาญา ผมว่าถ้าศาลพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิด งั้นที่ตำรวจจับกุม พนักงานสอบสวน อัยการก็ผิดหมดใช่ไหมครับ? ดังนั้น ศาลจึงพิพากษายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย
“ถ้าตีความตามตัวบทกฎหมายนี้ แพะทั้งหลายจะไม่ได้รับการเยียวยา เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่าศาลต้องพิพากษาจนถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยไม่มีความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่มีความผิด แต่เราก็อยากจะร้องทุกข์ว่ารัฐบาลจะใจดำหรือในคดีนี้?” ทนายคำสิงห์กล่าวปิดท้าย
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำกระบวนการยุติธรรมที่สังคมคาใจถามว่า กรณีศาลฎีกายกฟ้อง น.ส.สุพรรณษา ให้เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ต้องติดคุกฟรี 21 เดือนจะได้รับการชดเชยไหม? แล้วที่สำคัญคือ กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ของเราจะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร? ทำอย่างไรให้คนจน ลูกชาวนา ทำอาชีเด็กเสิร์ฟอย่าง “น้องแนน” รวมถึงประชาชนทุกคน มีสิทธิในการเข้าถึงทนาย เข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงเงินกองทุน เพื่อที่จะสามารถสัมผัสกับความยุติธรรมได้เร็วกว่านี้ ไม่ใช่ต้องให้เขาไปนอนในเรือนจำ 21 เดือน ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า กรณีน้องแนนต้องขอบคุณ ทนายคำสิงห์ และท่านผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มองเห็นคนตัวเล็ก ๆ คดีเล็ก ๆ ว่าก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับคดีใหญ่ สุดท้ายคือ กรณีน้องแนนซึ่งเป็นคดีเล็ก ๆ ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ-อัยการส่งฟ้องว่า สมคบคิดกับแฟน “นายศุภกิจ” ว่าค้ายาบ้า 41 เม็ด น้ำหนักสุทธิแค่ 4.041 กรัม
ทั้ง ๆ ที่แค่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไป ... แต่กรณียาไอซ์ล็อตมโหฬาร 1,500 กิโลกรัม (ตีเป็นกรัมก็ 1.5 ล้านกรัม) มีผู้ต้องหาให้การซัดทอดเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจใหญ่ 2 นายว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่กลับถูกตัดตอน ไม่ถูกเรียกสืบสวนสอบสวนใด ๆ เพียงแค่บอกคำซัดทอดไม่มีมูล
ก็ต้องถามตรง ๆ ว่า “นี่หรือคือ ความยุติธรรม”!?!