xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” รับคดียักยอกเงินสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เป็นคดีพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ดีเอสไอรับคดีผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เป็นคดีพิเศษ พบมีความซับซ้อน ทำเป็นขบวนการ ร่วมกันยักยอก ความผิดเข้าข่ายฐานฟอกเงิน
วันนี้ (24 ก.พ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสารโดยระบุว่า “สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้พิจารณาสั่งการให้ DSI รับคดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เป็นคดีพิเศษ โดยได้แนบหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษของ รศ.ชูชาติ ธรรมเจริญ เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และให้ดำเนินการตามกฎหมายกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ซึ่งมี ดร.บัญชา ชลาภิรมย์, ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา และบุคคลอื่น ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้บริหาร ได้ร่วมกันเบียดบัง นำเงินฝากของสมาชิกออกจากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยมีพฤติการณ์การกระทำความผิดโดยการนำเงินไปฝากและให้เงินกู้แก่สหกรณ์หลายแห่ง โดยการนำเงินไปฝากหรือให้กู้นั้น ไม่เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด อันเป็นการยักยอกและหรือร่วมกันยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยร่วมกันกระทำหลายครั้งอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยในการเบียดบังนำเงินของสมาชิกออกจากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด มีพฤติการณ์นำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าว ไปโอน รับโอน ไปยังบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 และสมคบกันฟอกเงิน ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นความผิดตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

โดยการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความซับซ้อนในการกระทำความผิด กระทำเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน สร้างความเสียหายมีมูลค่าสูง อันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือกระทบต่อระบบสหกรณ์โดยรวม เข้าหลักเกณฑ์ในการรับเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งมีรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) บัญชีท้ายประกาศ ข้อ 6 คณะกรรมการกลั่นกรองคดีพิเศษ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้รับเรื่องกรณีผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด กระทำเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน ดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ โดยรับเป็นที่คดีพิเศษ 25/2564 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564”
กำลังโหลดความคิดเห็น