xs
xsm
sm
md
lg

“ราชทัณฑ์” จับมือ “กรมหม่อนไหม” พัฒนาฝีมือผู้ต้องขังอาชีพด้านหม่อนไหมครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - อธิบดีกรมราชทัณฑ์แจงความร่วมมือกรมหม่อนไหม ส่งเสริมอาชีพผู้ต้องขังงานหม่อนไหมในเรือนจำและทัณฑสถาน ตามโครงการหลวง

วันนี้ (18 ก.พ.) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม, นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา ร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพหม่อนไหมในเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ต้องขังให้มีความรู้ ความสามารถ จนนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง และครอบครัวภายหลังพ้นโทษ และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข

นายอายุตม์กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพหม่อนไหมในเรือนจำและทัณฑสถานฯ เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเสด็จทรงงานติดตามการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ณ เรือนจำชั่วคราวเขาน้อย อ.เมืองน่าน จ.น่าน เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2555 โดยพระองค์ได้ตรัสแก่ผู้บริหารระดับสูงของกรมหม่อนไหม และกรมราชทัณฑ์ ให้ขยายผลโครงการฯ สู่ทัณฑสถานแห่งอื่น จากนั้นศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จ.เชียงใหม่ จึงได้เข้าหารือกับทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ร่วมกับ โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อบูรณาการส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหมให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยแล้วยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ต้องขัง สำหรับดูแลตนเองและเลี้ยงดูแลครอบครัวได้อีกด้วย

นายอายุตม์กล่าวอีกว่า การผสานความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์ และกรมหม่อนไหมในครั้งนี้ มุ่งเน้นส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหมอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรม ด้วยการพัฒนาทั้งด้านทักษะ ความรู้ ความชำนาญ ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ ได้แก่ การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม กระบวนการกลางน้ำ ได้แก่ การทอผ้าไหม การทำลวดลายสีสัน โดยเฉพาะลาย “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความงดงามทางภูมิศาสตร์ และมีอัตลักษณ์ ที่อยู่ระหว่างเสนอเข้ารับตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกระบวนการปลายน้ำ ได้แก่ การแปรรูปผ้าไหม ออกแบบ ตัดเย็บให้เป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่มที่มีความร่วมสมัย ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการแปรรูปผลผลิตอื่นๆ เช่น ชาใบหม่อน แยมมัลเบอร์รี น้ำลูกหม่อน เพื่อจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ งานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ประจำปี งานตรานกยูงพระราชทานประจำปี รวมทั้งผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก, ไลน์ และการจำหน่ายใบสดให้แก่เอกชนเพื่อนำไปแปรรูปต่อ

ด้านนายปราโมทย์เผยว่า กรมหม่อนไหมได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ขยายผลการดำเนินการส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหม ภายใต้โครงการคืนคนดีสู่สังคม ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งกรมหม่อนไหมได้มอบหมายให้สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทุกเขต และศูนย์เครือข่ายทั่วประเทศ ขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่โดยบูรณาการร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรให้แก่ผู้ต้องขัง ตั้งแต่การปลูกหม่อน ทั้งหม่อนใบและหม่อนผลสด การเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกย้อมสี การออกแบบลวดลาย การทอผ้าไหม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมที่หลากหลายซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ปัจจุบันได้ดำเนินการในเรือนจำและทัณฑสถานไปแล้ว 16 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 23 แห่งในปี พ.ศ. 2564

นายปราโมทย์เผยอีกว่า ส่วนของภาคเหนือ จ.ลำปาง ลำพูนและเชียงใหม่ ได้นำร่องจัดทำโมเดลภาคเหนือครบวงจร เริ่มจากกระบวนการต้นน้ำ โดยทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง คือ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวเส้นไหม และเป็นศูนย์กลางกระจายเส้นไหมไปยังเรือนจำอื่นๆ ถัดมา คือ กระบวนการกลางน้ำ ดำเนินการโดยเรือนจำจังหวัดลำพูน มีการจัดทำจุดเรียนรู้ด้านหม่อนไหม และฝึกอบรมทอผ้าไหมยกดอกลำพูนเพื่อให้ได้ 2 มาตรฐานได้แก่ ตรานกยูงพระราชทาน และ GI ผ้าไหมยกดอกลำพูน และสุดท้ายกระบวนการปลายน้ำ คือ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ที่ดำเนินการทอผ้าไหมยกดอกลำพูนให้ได้มาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน การออกแบบพัฒนาลวดลายผ้า และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับตลาด ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถผลิตผ้าไหมและได้รับการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน จำนวน 680 เมตร อีกทั้งในอนาคตจะมีแผนส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม เช่น น้ำมัลเบอร์รี สบู่โปรตีนไหม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามศักยภาพพื้นที่ต่อไป

นายอายุตม์กล่าวปิดท้ายว่า กรมราชทัณฑ์มีความพร้อมทั้งด้านกายภาพ ภูมิศาสตร์ และประชากรศาสตร์ เพราะมีผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ ที่พร้อมรับการฝึกอบรม โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมหม่อนไหม ให้ศูนย์หม่อนไหมในพื้นที่ดำเนินการอบรม ให้คำแนะนำปรึกษาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ผู้ต้องขัง เมื่อพ้นโทษไปแล้ว ผู้ต้องขังเหล่านี้จะสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดเพื่อประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข โดยไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก ตลอดจนเป็นการการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน สมดั่งเจตนารมณ์ของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมสืบไป




กำลังโหลดความคิดเห็น