MGR Online - รมว.ยุติธรรม เตรียมร่างกฎหมายติดตามนักโทษอันตรายหลังพ้นคุก เพื่อให้สังคมปลอดภัย ต้องใส่ EM ตลอดชีวิต เผยสั่งยุติธรรมจังหวัดเยียวยาครอบครัวเหยื่อ “ไอ้แหบ” หลังต้องกู้เงินทำศพ
วันนี้ (15 ก.พ.) เวลา 15.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม ตึกใหม่ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เปิดเผยว่า จากคดีสะเทือนขวัญ “ไอ้แหบ” นายอนุวัฒน์ ผลจะโป๊ ที่ก่อคดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงที่ จ.นครราชสีมา โดยก่อนหน้านี้เคยมีคดีอนาจารเด็กชาย และได้พ้นโทษเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 63 ผ่านมาเกือบ 1 ปีก็ก่อเหตุฆ่าข่มขืนอีก ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมสนใจที่จะแก้ปัญหาตรงนี้มาตลอด อยากให้สังคมมีการรับรู้ว่ามีบุคคลอันตรายเข้ามาอยู่ในชุมชน แม้ว่าจะเกี่ยวกับหลายกระทรวง รวมทั้งรัฐสภามีการพูดคุยถึงเรื่องการละเมิดทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากไม่ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมคงต้องรอกันอีกนาน
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ตนขอเรียนว่าจากนี้เราจะทำ 2 แนวทาง คือ 1. เรื่องการดำเนินการทำกฎหมาย และ 2. ในระหว่างรอการร่างกฎหมาย เราจะมีมาตรการให้ประชาชนปลอดภัยขึ้น ในเรื่องของกฎหมายเราพยายามจะออกกฎหมายควบคุมพวกฆาตรกรโรคจิตที่ข่มขืนเด็กอายุน้อยกว่า 13 ปีลงไป อย่างน้อยๆ หลังพ้นโทษต้องถูกติดตามตลอด ติดกำไล EM ตลอดชีวิต หรือจนกว่าแพทย์ลงความเห็นว่าเขาไม่อันตรายแล้ว รวมถึงฆาตกรประเภทอื่นๆ และผู้ต้องขังที่อันตรายด้วย
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า กระทรวงยุติธรรมมีการถกเถียงในเรื่องกฎหมายอย่างหลากหลาย หากอัยการมีการแนบคำขอท้ายฟ้องไปยังศาลในการควบคุมตัวผู้ต้องหาก็ทำได้ไม่ยาก แต่ห่วงว่าผู้ต้องหาที่จะพ้นโทษแล้วเราจะควบคุมเขาอย่างไร ในที่ประชุมคิดว่าอาจจะต้องออกกฎหมายให้คนประเภทนี้ได้รับการตรวจสอบโดยแพทย์ นี่คือแนวทางของกฎหมายที่เราวางไว้ กระทรวงยุติธรรมจะเป็นเจ้าภาพซึ่งคงใช้เวลาพอสมควร และในระหว่างนี้เราควรทำให้สังคมรับรู้ว่าฆาตกรเหล่านี้กำลังจะพ้นจากพันธนาการของราชทัณฑ์แล้วเราจะปล่อยออกมาก่อนเวลา
โดยควบคุมโดยศูนย์ JSOC ติดกำไล EM สังคมอาจจะตกใจว่าทำไมไม่ขังจนครบ โดยหลายความเห็นคิดว่าหากเราขังจนครบแล้วปล่อยตัวมา สังคมจะไม่เกิดความระวังตัว อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบไอ้แหบอีกได้ จึงคิดว่าหากปล่อยก่อน 1-2 ปี แล้วเฝ้าระวังโดยศูนย์ JSOC ติดกำไล EM สร้างความรับรู้ให้กับสังคมว่ามีบุคคลอันตรายมาอยู่ สังคมจะช่วยกันระวังตัว ดีกว่าสังคมไม่รู้เลย แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของสังคม ที่ผ่านมาได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 63 โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยให้ความเห็น ครั้งที่ 2 วันที่ 15 ก.พ. 64 เป็นนักวิชาการ เอ็นจีโอ เข้ามาพูดคุยกันอย่างหลากหลาย มีความเห็นเป็นบวกกับแนวคิดของกระทรวงยุติธรรม ส่วนในการฟังความเห็นครั้งต่อไปเราจะจัดวันที่ 3 มี.ค. 64 โดยจะเชิญภาคประชาชนและสื่อมวลชนว่าคิดเห็นอย่างไรบ้าง
“ท้ายสุดนี้ผมของแจ้งในกรณีเด็กหญิง 9 ขวบ ที่ถูกไอ้แหบทำร้ายจนเสียชีวิต ซึ่งครอบครัวของน้องต้องกู้เงินมาจัดงานศพ ผมมีความเป็นห่วงอย่างมาก จึงได้สั่งให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดลงไปประสานให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยจะดูแลค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายจำเลยในคดีอาญา โดยจะได้รับค่าเสียหาย ค่าทำศพ ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู และค่าอื่นๆ รวมทั้งหมด 110,000 บาท โดยคณะกรรมการฯ จะมีการประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 17 ก.พ. จากนั้นจะมีการมอบเงินให้ต่อไป คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนนี้เราจะสามารถมอบเงินให้แก่ครอบครัวของน้องได้” นายสมศักดิ์กล่าว