xs
xsm
sm
md
lg

ถูกแต่จับได้! ตร.ทุ่มงบ 30 ล้านติด CCTV อุดจุดบอด บช.น.นำร่อง 9,000 กว่าตัว ยันไม่มีกล้องดัมมี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - นครบาลเรียกชุดสืบสวน และป้องกันปราบปราม เรียนรู้วิธีการทำงานกล้อง CCTV ผบ.ตร.สั่งติดตั้งเพิ่มรอบกรุงเทพฯ เฟสแรกเสร็จแล้ว 2,500 ตัว ในพื้นที่ใจกลางเมือง

วันนี้ (25 ม.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร.ร่วมเปิดอบรมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีตำรวจ บก.น.1 บก.น.5 และ บก.น.6 เข้าร่วมประชุม

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประชาชนมีความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.เล็งเห็นว่าทำอย่างไรให้คนกรุงเทพฯปลอดภัย เมื่อเดินในทางเปลี่ยวกลางคืน จึงมีโครงการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมเพื่อเชื่อมรอยต่อกับกล้องเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมถึงทำอย่างไรให้เกิดผลได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นกล้องแบบใช้ Sd Card สามารถส่งภาพได้

จากการที่ บช.น.ทำการสำรวจพบว่าต้องการติดตั้งกล้องเพิ่มในพื้นที่กรุงเทพฯจำนวน 9,138 ตัว ขณะนี้เฟสที่ 1 ดำเนินการติดตั้งเสร็จแล้วในพื้นที่ บก.น.1 บก.น.5 และ บก.น.6 จำนวน 2,500 ตัว ส่วนเฟส 2 และเฟส 3 คาดว่าติดตั้งแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม เมื่อมีการติดตั้งเรียบร้อยแล้วจะมีการอบรมตำรวจฝ่ายสืบสวน และตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปราม เพื่อรับรู้วิธีการทำงาน การควบคุม และประสิทธิภาพของกล้อง

กล้องถูกติดตั้งตามเสาไฟฟ้าเก็บและส่งภาพได้ในตัวเอง ไม่ต้องมีระบบเครือข่าย Network หรือการเดินสาย และสามารถส่งภาพเข้ามาที่โรงพักในพื้นที่ได้ทันที ก่อนจะส่งไปยังตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ของกล้องตัวนั้น รวมทั้งสามารถบันทึกข้อมูลได้ระยะ 20 วัน ถ้าเกิดเหตุก็นำภาพกลับมาดูย้อนหลังได้ โดยตำรวจ 1 นาย จะรับผิดชอบกล้องประมาณ 8-15 ตัว ตรวจสอบได้ตลอดว่ากล้องตัวไหนอยู่ในสภาพใช้งาน หากชำรุดมีบริษัทรับประกันดูแล 2 ปี เปลี่ยนแก้ไขได้ในระยะ 3 วัน ไม่มีการดูแลรักษารายเดือนรายปี ยืนยันว่าไม่มีกล้องเปล่า หรือดัมมี่แน่นอน หลังจากนี้ตำรวจจะอ้างว่าไม่มีกล้อง หรือกล้องเสียไม่ได้

พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวว่า กล้องดังกล่าวเป็นเหมือนส่วนเสริมกล้องหลักที่มีทั่วกรุงเทพฯอยู่แล้ว สาเหตุที่ต้องติดตั้งเพิ่มเนื่องจาก 1. ต้องการอุดจุดบอด หรือจุดที่คิดว่าหากเกิดเหตุแล้ว สามารถนำข้อมูลในกล้องมาวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว คือ หัวใจสำคัญของการกำหนดจุดติดตั้งกล้อง โดยฝ่ายสืบสวนและฝ่ายป้องกันปราบปราม เป็นผู้ลงพื้นที่กำหนดเองว่าควรติดตั้งจุดไหน และ 2. กล้องทั้งหมด 9,138 ตัว ใช้งบประมาณจัดซื้อ 30 กว่าล้านบาท ถือว่าเป็นราคาจัดซื้อในราคาถูก เมื่อเทียบกับงบประมาณโครงการใหญ่ๆ ต้องการใช้กล้องที่คุณภาพพอใช้การได้ และเชื่อมั่นว่าสามารถจับกุมคนร้ายได้ จากการที่ไม่มีการดูแลรักษารายเดือนรายปี ทำให้สามารถจำกัดงบประมาณที่มีอยู่ได้

ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลได้จากโทรศัพท์มือถือ หากต้องการทราบข้อมูลละเอียดก็นำ Sd Card มาวิเคราะห์ สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้สามารถนำข้อมูลจาก Sd Card ไว้ในพื้นที่จัดเก็บ Cloud หรือระบบ Network Attached Storage (NAS) รวมทั้งใน บก.และโรงพัก พล.ต.อ.สุวัฒน์ ได้ออกแบบระบบไว้ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว ในอนาคตจะขยายไปยังหัวเมืองสำคัญต่างๆ และครอบคลุมทั่วประเทศในอีกไม่นาน จะสามารถมอนิเตอร์เหตุการณ์สำคัญได้ทั่วประเทศ

กล้องเดิมที่มีอยู่ไม่ว่าจะของหน่วยงานราชการใดก็ตาม เป็นเรื่องโครงสร้างหลักของประเทศอยู่แล้ว โครงการดังกล่าวเป็นกล้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่ออุดจุดบอดที่ตำรวจวิเคราะห์ว่าถ้าเกิดเหตุ บริเวณนี้จะเป็นจุดบอดยากต่อการติดตามคนร้าย ข้อดีของการมีกล้องเป็นของตัวเองทำให้เกิดความรวดเร็ว ไม่ต้องไปประสานขอดูกล้องจากหน่วยอื่นอาจต้องใช้เวลา








กำลังโหลดความคิดเห็น