“เมธินี ชโลธร” ประธานศาลฎีกา วางนโยบายดูแลพยานคดีอาญา พร้อมใช้ทุกศาลทั่วประเทศ จัดห้องพัก-ที่จอดรถให้พยานที่มาเบิกความเป็นสัดส่วน ลดการเผชิญหน้า คดีเลื่อนพยานต้องรู้ พร้อมแจ้งสิทธิพยานงดตอบได้หากเจอคำถามประเภทข่มขู่ หมิ่นประมาท
วันนี้ (15 ม.ค.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า “คณะทำงานส่งเสริม ดุลยภาพแห่งสิทธิ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น” สำนักประธานศาลฎีกา ได้เผยแพร่แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยานบุคคลในคดีอาญา สำหรับศาลชั้นต้นทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอันเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเพิ่มการดูแลเอื้อเฟื้อต่อพยาน ตามนโยบายของ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ข้อ 2 ในเรื่องสมดุล สร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ ซึ่งแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยานบุคคลในคดีอาญานั้นได้กำหนดรายละเอียดกำกับไว้ 5 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านสถานที่ และมาตรการความปลอดภัย อำนวยความสะดวกจัดที่จอดรถแก่พยาน, ให้มีที่พักพยานเป็นสัดส่วน กรณีพยานซึ่งเป็นเด็กห้องพักพยานต้องแยกต่างหากจากห้องพักพยานทั่วไป รวมทั้งปฏิบัติต่อพยานตาม “คำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติต่อพยานที่เป็นเด็กในคดีอาญา พ.ศ. 2559” เช่น ต้องตระหนักว่าพยานที่เป็นเด็กมีความอ่อนแอและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับอายุ วุฒิภาวะ เพศ และปัจจัยอื่นที่มีลักษณะเฉพาะของเด็กนั้นๆ, จัดให้มีสถานที่ที่เหมาะสมต่อการสืบพยานในกรณีที่ศาลเห็นสมควรให้พยานนั้นไม่ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับจำเลย, จัดให้มีการคุ้มครองหรือบุคคลซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องตามที่เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเป็นกรณีที่มีบุคคลร้องขอ โดยให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานพยานดำเนินการ, ให้จัดข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ของพยานที่จำเป็นในการเบิกความ ติดไว้ที่ห้องพักพยานด้วย
2. ด้านบุคลากร จัดให้มี “เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานพยาน” ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบก่อนวันนัด เช่น การแจ้งเตือนพยานให้มาเบิกความตามกำหนด รับแจ้งข้อขัดข้องเกี่ยวกับพยานและรายงานศาลเพื่อให้มีคำสั่งแก้ข้อขัดข้องได้อย่างทันท่วงที่ โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานพยาน ต้องสามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่พยานได้ด้วย เช่น เวลา-สถานที่ที่ต้องเข้าเบิกความ ความเกี่ยวกันของพยานในคดี รวมทั้งต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของพยานตามกฎหมายได้
3. ด้านการออกหมายเรียกพยาน หมายเรียกนั้นควรกำหนดให้พยานมาศาลในช่วงลำดับเวลาที่พยานจะเข้าเบิกความโดยไม่ให้พยานต้องมารอนานเกินสมควร และควรกำหนดช่วงเวลาที่พยานแต่ละปากจะเข้าเบิกความให้เหมาะสมกับภารกิจหรือสถานะของพยาน เช่น พยานที่เป็นพระภิกษุ หรือแพทย์ ขณะที่ในการส่งหมายเรียกพยาน ควรมีคำแนะนำเบื้องต้นในการเตรียมตัวมาเบิกความเป็นพยาน หน้าที่ของพยาน คำแนะนำในการมาศาล รวมถึงช่องทางการติดต่อศูนย์ประสานงานพยานแนบไปพร้อมกันด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการสอบถามข้อมูลต่างๆ และเพื่อความสะดวกของพยาน เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานฯ อาจแจ้งให้ทราบถึงเรื่องหรือประเด็นที่ประสงค์ให้เบิกความ
4. ด้านการจัดระบบประสานงานพยาน “ศูนย์ประสานงานพยาน” มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลและประสานงานติดต่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาคดี เช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ชำนาญการพิเศษ ล่าม, มีหน้าที่ติดต่อพยานก่อนวันนัดเพื่อยืนยันวัน-เวลานัด ความพร้อมที่จะมาเบิกความ และแจ้งสถานที่ที่ให้พยานมาพบ โดยเมื่อมีเหตุต้องเลื่อนคดี หรือมีเหตุใดที่พยานซึ่งถูกออกหมายเรียกแล้วไม่จำต้องมาเบิกความ ก็จะต้องแจ้งให้พยานทราบโดยเร็วเพื่อไม่ให้พยานต้องมาศาลโดยไม่จำเป็น และกรณีที่พยานมีเหตุจำเป็น มีช่วงเวลาจำกัดของการเบิกความ ศูนย์ประสานงานพยาน หรือเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ (ผู้ทำการบันทึกข้อความและรายงานกระบวนพิจารณา) ต้องแจ้งคู่ความและศาลจัดเวลาเบิกความของพยานให้เหมาะสมด้วย
5. ด้านการมาศาล การเบิกความของพยาน การจ่ายค่าพาหนะ ค่าป่วยการ และค่าเช่าที่พัก เมื่อพยานมาศาลให้เจ้าหน้าที่ศาลพาพยานรอในห้องพักจนกว่าจะถึงเวลาเบิกความ ทั้งนี้ ก็เพื่อลดการเผชิญหน้าและเพื่อความปลอดภัย พร้อมกำชับห้ามการบันทึก ถ่ายรูป หรือถ่ายทอดภาพ-เสียงของพยานขณะเบิกความ หรือขณะอยู่ในบริเวณศาล เว้นแต่จะมีกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับของศาลให้ทำได้ ขณะที่การเบิกความให้ศาลเตือนพยานเกี่ยวกับสิทธิที่จะไม่ตอบคำถามได้ หากคู่ความถามด้วยคำถามที่อาจทำให้พยานถูกดำเนินคดีอาญา หรือศาลให้ระงับการใช้คำถามได้กรณีที่ใช้คำถามลักษณะข่มขู่ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท เสียดสีพยาน โดยสิทธิของพยานเมื่อมาศาลเพื่อเบิกความตามหมายเรียก มีสิทธิได้รับค่าพาหนะ ค่าป่วยการ หรือค่าเช่าที่พัก ซึ่งให้ศาลสั่งจ่ายค่าตอบแทนแก่พยานตามระเบียบ โดยให้พยานรับไปในวันที่เบิกความ และเมื่อเป็นพยานเบิกความแล้ว หากพยานต้องการทราบคำพิพากษาในคดีที่เบิกความนั้นแล้วจำเลยไม่คัดค้าน เมื่อคดีมีคำพิพากษาแล้วก็ให้ส่งคำพิพากษานั้นไปให้พยานตามภูมิลำเนาได้
นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยานบุคคลในคดีอาญาสำหรับศาลชั้นต้นทั่วประเทศนี้ เป็นการระบุข้อที่ควรปฏิบัติและต้องปฏิบัติไว้ให้เห็นชัดเจน และเป็นการแจ้งสิทธิบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ทราบก่อน เช่น การที่พยานจะต้องการทราบคำพิพากษาในคดีที่เบิกความนั้น ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ได้ระบุไว้ให้เห็นชัดเจนว่าสามารถทำได้ ซึ่งก่อนหน้านี้การขอทราบคำพิพากษาได้นั้นต้องเป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องในคดี ซึ่งกรณีของพยานตามแนวปฏิบัตินี้หากต้องการทราบคำพิพากษาก็สามารถทำได้แต่ต้องสอบถามความยินยอมของจำเลยที่เป็นคู่ความโดยตรงในคดีด้วย
โฆษกศาลยุติธรรม ยังกล่าวถึงคำแนะนำ เมื่อได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานในศาลด้วยว่า เมื่อได้รับหมายเรียกเป็นพยานศาล 1. ควรต้องตรวจสอบหมายเรียกที่ได้รับ ว่าระบุชื่อ-สกุล ตรงกับท่านหรือไม่ ศาลนั้นตั้งอยู่ที่ใดเพื่อจะไม่ไปผิดศาล และตรวจดูวัน-เวลา กับเรื่องที่นัดแล้วไปให้ตรงตามวันนัด 2. หากมีเหตุขัดข้องไปศาลตามวัน-เวลานัดไม่ได้ ก็ให้แจ้งไปยังศาลนั้นก่อนถึงวันนัด ซึ่งตามกฎหมายบุคคลใดที่ได้รับหมายเรียกให้เป็นพยานศาลแล้วจงใจไม่ไปศาล มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจจะออกหมายจับมาศาลเพื่อให้มาเบิกความได้อีกด้วย 3. การไปเบิกความ ให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อย และนำหมายเรียกไปด้วยโดยให้สอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพื่อทราบเกี่ยวกับห้องพิจารณาคดีและไปติดต่อเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ประจำห้องพิจารณาคดีนั้นเพื่อแสดงตัวพยานว่ามาแล้ว 4. ก่อนการเบิกความเจ้าหน้าที่จะให้สาบานหรือปฏิญาณตน และเมื่อถึงเวลาเบิกความให้ตอบคำถามด้วยถ้อยคำตามความเป็นจริงที่ได้รู้ ได้เห็น หรือได้ยินโดยตรงเท่านั้น เพราะหากเบิกความเท็จจะมีความผิดได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ซึ่งหากเป็นการเบิกความเท็จคดีแพ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการเบิกความเท็จคดีอาญา ระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท