MGR Online - รมว.ยุติธรรม ประชุมร่วมกรมราชทัณฑ์ ยันเดินหน้าลดสถิติผู้ต้องขังทำผิดซ้ำ เล็งเพิ่มวิชาโหราศาสตร์ หลังอบรมภาษาอังกฤษและจีน ผลตอบรับดี
วันนี้ (4 ม.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยธ. เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมราชทัณฑ์ เพื่อรับฟังปัญหา รายงานสรุปผลการดำเนินงานปี 2563 และติดตามนโยบาย โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ เลขานุการ รมว.ยธ. นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัด ยธ. นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการราชทัณฑ์ และข้าราชการ ร่วมประชุม
นายอายุตม์ กล่าวว่า รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ตามนโยบายของ รมว.ยธ. คือ การพัฒนาแนวทางบริหารจัดการสาธารณูปโภค เช่น การอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพื้นที่เรือนจำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสังคม การจัดอบรมภาษาต่างประเทศ โดยภาษาอังกฤษมี 23 เรือนจำ ผู้ผ่านการอบรม 2,038 คน ส่วนภาษาจีน 3 เรือนจำ ผู้ผ่านการอบรม 169 คน และการจัดอบรมบัญชีครัวเรือนให้ผู้ต้องขัง 16 เรือนจำ ผู้ผ่านการอบรม 1,494 คน
นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า การฝึกวิชาชีพเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ มี 4 หลักสูตร คือ 1. การเลี้ยงสุนัขเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง รุ่นที่ 1 ในเรือนจำ 80 แห่ง ผู้ต้องขังเข้าร่วม 2,484 คน จำนวนสุนัขในโครงการ 337 ตัว 2. การส่งเสริมฝึกวิชาชีพปลูกทุเรียน รุ่นที่ 1 ในเรือนจำ 22 แห่ง มีผู้ต้องขังเข้าร่วม 635 คน ทุเรียน 533 ต้น 3. การส่งเสริมการเลี้ยงไก่ชน รุ่นที่ 1 ในเรือนจำ 45 แห่ง ผู้ต้องขังเข้าร่วม 1,352 คน จำนวนไก่ชน 312 ตัว และ 4. โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (โคขุน) รุ่นที่ 1 ในเรือนจำ 23 แห่ง ผู้ต้องขังเข้าร่วม 465 คน จำนวนโคเนื้อ (โคขุน) 107 ตัว
นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า นโยบายกรมราชทัณฑ์ 2564 คือ 1. การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นมาตรฐาน พัฒนาสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งด้านเรือนนอน โรงเลี้ยงอาหาร สถานพยาบาล และการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล 2. การแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จัดทำข้อมูลพื้นที่และอัตราความจุของเรือนจำทัณฑสถานทั่วประเทศให้เป็นปัจจุบัน การจัดทำเตียงนอน 2 ชั้น การพักการลงโทษกรณีปกติและกรณีมีเหตุพิเศษ การเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาด 3. พัฒนาองค์กรให้ทันสมัยและโปร่งใส ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ระบบขายสินค้าและเงินฝากผู้ต้องขังด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ติดตั้งระบบเยี่ยมญาติทางไกลด้วยแอปพลิเคชันไลน์ และการใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พัฒนาบุคลาการ มีการอบรมให้ความรู้ให้ทันสมัย และ 4. การคืนคนดีสู่สังคมและติดตามผู้พ้นโทษ
ด้าน นายสมศักดิ์ เผยว่า สถิติที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังส่วนหนึ่งประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ อยากทำงาน แต่ไม่มีงานอะไรให้เขาทำ ส่วนอีก 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่อยากทำงานและกลับไปทำผิดซ้ำอีก หากเราไม่มีอะไรทำให้ผู้ต้องอยากทำงาน หรือประพฤติตนเป็นคนดี ก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนเขา ตนได้เคยไปติดตามผู้ต้องขังที่เข้าออกเรือนจำ 8-9 ครั้ง เพราะบุคคลนั้นไม่รู้จะทำอะไร กลับไปติดคุกสบายกว่าอย่างน้อยก็มีข้าวกิน ซึ่งหากไม่รีบแก้ปัญหาจะเสียเวลาและเปล่าประโยชน์ในการทำงาน เราต้องพยายามทำอะไรที่เกิดประโยชน์ ในส่วนของการสร้างอาชีพ อย่างการเลี้ยงไก่ชน คนอาจจะมองดูเหมือนเป็นการพนัน แต่ตนพยายามให้เห็นในมุมที่เป็นประโยชน์
“ผมพยายามส่งเสริมวิชาชีพ ให้ผู้ต้องขัง คนกลุ่มนี้จะได้มีโอกาส มีที่ยืนในสังคม ต้องลดสถิติผู้กระทำผิดซ้ำให้ได้ ผลักดันกันเต็มที่ ทั้งการเรียนการสอน การเลี้ยงสัตว์ที่ไปทำอาชีพได้ รวมถึงการฝึกเพาะปลูก เช่น การปลูกทุเรียน ที่คนส่วนใหญ่ปลูกแล้วตาย เรามีเรือนจำหลายจังหวัดมีพื้นที่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ หากปลูกแล้วมีผลผลิต แสดงว่าปลูกได้ ชาวบ้านก็จะได้ปลูกตาม เป็นการนำร่อง จากนี้ต้องฝากราชทัณฑ์เพิ่มหลักสูตรวิชาดูหมอ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำมาก เมื่อก่อนผมคิดว่าขายหมูปิ้งลงทุนน้อยสุดแล้ว แต่หมอดูมีไพ่แค่ 2 สำรับ ลงทุนประมาณ 500 บาท ก็เป็นอาชีพได้แล้ว จึงอยากให้กรมราชทัณฑ์ไปเพิ่มเติมตรงนี้ หัดให้ผู้ต้องขังนั่งสมาธิ และอ่านหนังสือโหราศาสตร์ ขณะที่การขายของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องเป็นมาตรฐาน และพยายามยกระดับให้เป็นแบรนด์เนมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว