“เมทินี” ประธานศาลฎีกา ย้ำมาตรฐานทำคำพิพากษาศาลฎีกาเสร็จไม่เกิน 12 เดือน ตั้งเป้าอ่านฎีกาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้ผู้ถูกคุมขังทุกคดี พร้อมให้ความสำคัญคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญาให้มากขึ้น
วันนี้ (24 ธ.ค.) นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการทำงานของศาลฎีกา โดย นางเมทินี เปิดเผยว่า ในรอบปี 2563 ศาลฎีกามีปริมาณคดี (นับถึงวันที่ 23 ธ.ค.) ต้องพิจารณารวม 25,316 คดี แยกเป็นคดีที่ต้องพิจารณาทำคำพิพากษา 11,623 คดี เป็นคำร้องขออนุญาตฎีกา 13,693 คดี โดยพิจารณาแล้วเสร็จ 20,545 คดี คิดเป็นร้อยละ 81.15 ยังมีคดีค้างพิจารณาไม่เสร็จเพียง 4,771 คดี
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ศาลฎีกามีปริมาณคดีที่ต้องพิจารณา 22,091 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 17,338 คดี ในอัตราร้อยละ 78.48 แสดงให้เห็นว่า แม้ปริมาณคดีในปี 2563 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ศาลฎีกายังสามารถพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จได้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.69 ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของคำพิพากษาศาลฎีกาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะคดีที่ศาลฎีการับไว้พิจารณาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันพิจารณาแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด ถือได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานระยะเวลาที่กำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นฎีกาไม่เกิน 12 เดือน
“ในปีหน้า ศาลฎีกาจึงจะกำหนดมาตรฐานระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ว่า คดีที่ต้องพิจารณาและทำคำพิพากษาต้องเสร็จไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีนั้นไว้ ส่วนคดีที่ต้องพิจารณาและทำเป็นคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาเสร็จไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีนั้นไว้”
นางเมทินี ระบุด้วยว่า ศาลฎีกายังให้ความสำคัญกับคดีที่จำเลยถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยมีนโยบายที่จะพิจารณาคดีดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ปัจจุบันมีคดีที่จำเลยถูกคุมขังค้างพิจารณาในศาลฎีกาประมาณ 337 คดี เป็นคดีที่ค้างพิจารณาเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน เพียง 13 คดี นอกนั้นเป็นคดีที่ค้างพิจารณายังไม่เกิน 6 เดือน ศาลฎีกาจึงจะกำหนดมาตรฐานระยะเวลาสำหรับคดีที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณาไว้ว่า จะต้องพิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีนั้นไว้ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลย ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ให้จำเลยที่ต้องขังระหว่างพิจารณาได้รับทราบคำพิพากษาศาลฎีกาโดยเร็ว
นอกจากนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการสนับสนุนงานพิพากษาคดี ด้วยการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาให้จำเลยที่ถูกคุมขังในเรือนจำฟังผ่านการถ่ายทอดภาพและเสียง ในลักษณะการประชุมทางจอภาพ (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) เป็นจำนวนถึง 20 คดี ส่งผลให้จำเลยที่ถูกคุมขังได้รับทราบคำพิพากษาศาลฎีกาเร็วขึ้น ถ้าหากคดีนั้นศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ก็จะมีการออกหมายปล่อยทันที เพื่อมิให้ถูกคุมขังโดยไม่จำเป็น หรือหากพิพากษาลงโทษจำคุก ก็จะออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดทันที จะส่งผลให้จำเลยได้รับสิทธิเป็นนักโทษเด็ดขาดที่อาจได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ หรืออาจได้รับสิทธิพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษต่อไป
“ศาลฎีกาตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปีหน้าจะดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาที่จำเลยถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผ่านการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ทุกคดี”
ทั้งนี้ นางเมทินี ยังกล่าวแสดงความพอใจภาพรวมการทำงานของศาลฎีกา ที่พร้อมจะเร่งรัดคดีและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เพื่อหวังให้ศาลฎีกาเป็นที่ยอมรับและเป็นที่พึ่งของประชาชน
ประธานศาลฎีกา ยังกล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายเหยื่ออาชญากรรมและพยาน ว่า ช่วงที่ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ เป็นประธานศาลฎีกา จะเห็นได้ว่าตนก็ได้ไปช่วยทำโครงการดังกล่าว แล้วก็มีคำถามกลับมาว่า ศาลช่วยดูแลแต่จำเลยหรือผู้ต้องหาที่กระทำความผิดหรือไม่ ฝ่ายผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม รวมถึงพยาน ซึ่งเป็นพลเมืองดีที่มาเบิกความต่อศาล นั้น ได้รับการดูแลหรือไม่ ยืนยันว่า เราดูแลอยู่แล้ว แต่เวลาที่เราจะทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัด ก็จะมุ่งไปที่จุดเดียวก่อน แต่จุดอื่นก็ยังทำอยู่
นางเมทินี กล่าวว่า ตอนนี้การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหรือจำเลยเริ่มอยู่ตัว เข้าใจตรงกันแล้ว การเข้าถึงสิทธิก็เริ่มรับรู้แล้ว ก็จะมามาเน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรมและพยาน อยากให้ผู้เสียหายหรือผู้ที่ถูกกระทำ รู้สิทธิของตน เช่น หากถูกทำร้ายร่างกาย เขาต้องรู้ว่าทำอะไรได้บ้าง ตั้งแต่ชั้นสอบสวนถึงชั้นพิจารณาของศาล เมื่อมีการฝากขังผู้ต้องหา ถ้าผู้เสียหายอยากแถลงอะไรให้ศาลทราบทราบ ก็ต้องเปิดนั้นโอกาสให้ทำได้ การเรียกค่าสินไหมทดแทน ก็จะช่วยดูแลหรือให้คำแนะนำ หรือในชั้นพิจารณาคดีถ้าไม่อยากให้ผู้ต้องขังได้ประกันตัว เนื่องจากถ้าปล่อยชั่วคราว จะไปก่อเหตุทำให้หวาดกลัว ก็มีสิทธิที่จะแสดงความกังวลใจ ซึ่งตนเองได้ออกคำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้เสียหายไปแล้วว่าศาลจะต้องรับฟังความกังวลใจ รู้สึกนึกคิดของผู้เสียหาย ด้วยความมีเมตตา
“รับฟังแล้ว ไม่ใช่ว่ารับฟังเฉยๆ แต่เก็บเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษของจำเลย ไม่เช่นนั้นผู้เสียหายจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้การดูแลจากทางศาล หรือ รู้สึกศาลเรียกไปไกล่เกลี่ยกัน เพียงเพื่อเป็นประโยชนกับจำเลย ในการรอการกำหนดโทษแต่ จริงๆ ศาลต้องการให้ทั้งสองฝ่ายที่ทะเลาะ หรือขัดแย้งกัน สามารถออกไปจากศาลด้วยความเป็นมิตรต่อกันผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายไปแล้ว ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ คงไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยเงินทั้งหมด แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีการชดเชยในบางส่วนได้ และศาลจะเป็นคนดูแลให้เขารู้ถึงสิทธิเหล่านี้ว่าทำอะไรได้บ้าง สมมติศาลพิพากษาว่าให้ได้รับค่าสินไหมทดแทน ก็จะดูแลจนกว่าเขาจะบังคับคดีให้ได้รับเงินจำนวนนั้นด้วย โดยสามารถแต่งตั้งทนายความขอแรง ช่วยให้คำแนะนำได้ รวมถึงสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา และการเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม สามารถทำอะไรได้บ้าง” ประธานศาลฎีกากล่าว
เมื่อถามถึงการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับทางการเมือง นางเมทินี กล่าวว่า การทำงานของศาล เราพยายามอยู่ตรงจุดที่เป็นกลางที่สุดแล้ว จะไม่ให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เวลาที่มีการกล่าวถึง คือ ทำอะไรไปอย่างหนึ่ง เป็นศาลก็จะโดนว่าทั้งคู่ไม่ว่าจะมีคำสั่งหรือมีแนวทางอะไรก็ตาม เป็นธรรมชาติการทำงานของศาลว่าจะต้องมีฝ่ายหนึ่งพอใจ ฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ หรือไม่พอใจทั้งสองฝ่าย แต่ว่าอยากให้ทุกคนได้ดูสิ่งที่เราทำออกไปว่าให้ความเป็นธรรมแล้วหรือไม่
“ทุกครั้งจะเรียนท่านผู้พิพากษาว่าการสั่ง หรือมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งในเรื่องใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าเรามีเหตุผลในคำสั่งนั้นอย่างชัดเจน คำสั่งที่แตกต่างกัน ผลที่แตกต่างกัน ต้องให้เหตุผลให้เห็นว่าแต่ละเคสมันต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้นจะดูผลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูสาเหตุว่าฟ้องข้อหาอะไร มีปัจจัยอะไร ในคำสั่งมีเหตุผลประกอบอย่างไร ส่วนเหตุผลจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ อันนี้ก็แล้วแต่คนแล้ว แต่เชื่อว่าเราวางตัว ที่ผ่านมาก็พอใจในการทำงานของผู้พิพากษาในแต่ละศาล ท่านก็ได้รักษาจุดยืนที่มั่นคงพอสมควรในการให้เหตุผลประกอบในการมีคำสั่ง ถือว่าชัดเจน” นางเมทินี ประธานศาลฎีกา กล่าว