MGR Online - ผู้ว่าการ ททท. เข้าพบรอง ผบ.ตร.แจ้งความเอาผิด โรงแรม-ร้านอาหาร 512 แห่ง ส่อทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำข้อมูลโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร จำนวน 515 แห่ง ที่ต้องสงสัยทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มามอบให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ทำการตรวจสอบหาตัวผู้กระทำผิด
นายยุทธศักดิ์ เปิดเผยว่า ททท. ตรวจพบธุรกรรมที่ต้องสงสัยมีแนวโน้มไปในทางฉ้อโกงหลายรูปแบบ ซึ่งมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นโรงแรม ร้านค้า และประชาชนที่ร่วมขบวนการ พบว่า มีโรงแรมที่เข้าข่ายพฤติกรรมต้องสงสัยจำนวนประมาณ 312 ราย ในส่วนของร้านค้ามีประมาณ 202 ราย ส่วนผู้ที่ใช้สิทธิตามโครงการ ก็ยังคงสามารถเข้าพัก หรือใช้สิทธิต่างๆ ตามเงื่อนไขได้เช่นเดิม ทั้งนี้ การยืนหนังสือเพื่อดำเนินคดีการทุจริตครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันการกระทำผิดในส่วนของการขยายจำนวนและเวลาการใช้สิทธิของโครงการฯนี้ ในเฟส 2 ต่อไป
ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้มารับหนังสือ โดยทราบว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยทางเจ้าของแอปพลิเคชัน รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินพบการกระทำความผิดที่เข้าข่ายฉ้อโกงเงินของรัฐบาล จึงได้ส่งเอกสารมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบผู้เข้าข่ายกระทำความผิด เบื้องต้นพบว่ามีหลายโรงแรม ร้านค้าๆ เข้าข่ายกระทำความผิด ทั้งนี้ ทาง ตร. จะมอบหมายให้กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เป็นผู้รับผิดชอบคดี และเสนอให้ ผบ.ตร. ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนในนาม ตร. เพื่อให้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ที่มีร้านค้าหรือโรงแรมที่เกี่ยวข้อง ได้เป็นพนักงานสอบสวนร่วมในการดำเนินคดี ซึ่งตำรวจจะเร่งทำการตรวจสอบและนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
“เรื่องนี้ตำรวจต้องดำเนินคดีอาญา เราพยายามทำให้เร็วที่สุด เนื่องจากไม่อยากให้โครงการเฟสใหม่ชะลอลงไป และไม่อยากให้มีการทุจริตเกิดขึ้นอีก ฝากเตือนผู้ประกอบการร้านค้า และประชาชน ที่อาจกระทำโดยเจตนาหรือไม่เจตนา เพราะตำรวจมีวิธีการสืบสวนสอบสวน ซึ่งท่านจะหนีไม่พ้นความผิด ทั้งนี้ โรงแรมหรือร้านค้าใด ต้องการเข้ามาพูดคุยเป็นการส่วนตัว ตนก็ยินดี สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดส่วนตัว แต่รัฐเป็นผู้เสียหาย หากผู้เสียหายยินยอม อาจจะถอนคำร้องทุกข์ได้” รอง ผบ.ตร.กล่าว
สำหรับวิธีการทุจริตในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ในการวิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีกรณีการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งมีทั้งในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรม และในส่วนของร้านค้าที่รับชำระผ่านคูปองใช้จ่าย โดยรูปการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น ได้แก่
1. การเข้าเช็กอินในโรงแรมราคาถูก แต่ไม่ได้มีการเข้าพักจริง ซึ่งจะได้ประโยชน์ในการใช้สิทธิคูปองใช้จ่ายวันธรรมดา 900 บาท วันเสาร์-อาทิตย์ 600 บาท
2. โรงแรมขึ้นราคาค่าห้องพัก โดยร่วมมือกับร้านอาหาร หรือร้านค้าที่รับชำระคูปอง ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นการซื้อขายสิทธิการใช้ห้องพัก แต่ไม่ได้เกิดการเดินทางจริง ซึ่งสาเหตุที่ก่อให้สามารถกระทำลักษณะดังกล่าวได้ เป็นเพราะที่ผ่านมามีการปลดล็อกเงื่อนไข ให้สามารถใช้สิทธิเดินทางท่องเที่ยวได้ในภูมิลำเนาของตนเอง โดยเป็นการกระทำในแบบผู้ได้สิทธิร่วมมือกับโรงแรม ส่งเลขบัตรประชาชน 4 หลักสุดท้าย และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งสามารถใช้รับรหัสโอทีพียืนยัน ถือเป็นการโอนสิทธิได้
3. จองแล้วยังไม่ได้เช็กอิน และยังไม่ชำระเงิน
4. มีการใช้ส่วนต่างของคูปองเพื่อรับส่วนต่างเต็มจำนวนกรณีร้านค้าเพิ่มราคาอาหารไปมากกว่ามูลค่าอาหาร
5. มีการเข้าพักจริง แต่เข้าพักแบบเป็นกรุ๊ปเหมา โดยตั้งราคาห้องพักในระดับสูง และสามารถรับเงินส่วนต่างที่ตกลงกันไว้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างโรงแรมและผู้เข้าพัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีที่จองตรงกับโรงแรม และ
6. โรงแรมที่เปิดขายห้องพักเกินจำนวนจริงที่มี อาทิ มีห้องพักจริง 100 ห้อง แต่เปิดขาย 300 ห้อง ซึ่งจำนวนห้องที่เกินมาจะนำไปขายต่อให้กับโรงแรมอื่น เพื่อรับประโยชน์จากเงินส่วนต่าง ธุรกรรมที่ต้องสงสัยมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นโรงแรม และร้านค้า