xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ส.ส.-ส.ว.หยุดยื้อแก้ รธน. ระวัง คนอื่นมาเขียนแทน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 24 พศจิกายน 2563 ตอน ส.ส.-ส.ว.หยุดยื้อแก้ รธน. ระวัง คนอื่นมาเขียนแทน



เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ว่าจะตรงไปตรงมา หรือโยกโย้ยื้อเวลา แม้ว่า ตอนนี้ รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรธน.วาระรับหลักการไปแล้ว

และมีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) ที่ประชุมกันนัดแรก ไปแล้ว ในวันนี้ 24 พ.ย. เพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมาธิการ

ซึ่งไม่มีรายการพลิกโผ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล บ้านใหญ่โคราช จากพลังประชารัฐ นั่งประธาน รวมถึงได้มีการประชุมในวางหลักเกณฑ์ต่างๆ และกรอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ฯ ที่ได้เวลามาให้ทำงานรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 45 วัน แต่สามารถขอขยายเวลาได้ หากยังถกปัญหาไม่แล้วเสร็จ

แต่ยังไม่ทันไร มีแนวโน้มว่าจะมีการยื้อเวลาในขั้นตอนนี้แล้ว ด้วยท่าทีของกรรมาธิการจากฝ่ายรัฐบาล ที่พยายามอ้างเงื่อนไขต่างๆ ว่า เดือนธันวาคม เดือนหน้ามีวันหยุดยาว วันหยุดราชการหลายวัน อีกทั้งส.ส.และสว. ก็ต้องประชุมสภา ประชุมวุฒิสภา และประชุมกรรมาธิการบางคณะที่สับหลีกเวลาไม่ได้

เลยทำให้ การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ สุดท้ายแล้ว อาจเสร็จไม่ทันสิ้นปีนี้ มีความเป็นไปได้ อาจไปเสร็จเอาต้นปี ราวๆ ต้นเดือนมกราคม 2564

อันนี้เพียงแค่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังไม่นับรวมกับการพิจารณาในชั้นที่ประชุมรัฐสภา วาระสอง ที่เป็นการพิจารณารายมาตรา จากนั้น พอเสร็จในวาระสอง ก็ต้องพักไปอีกอย่างน้อย 15 วัน ถึงค่อยมาประชุมลงมติโหวตในวาระสาม

หากทุกอย่างเรียบร้อย ที่ประชุมร่วมรัฐสภา โหวตเห็นชอบกับการแก้ไขรธน. วาระสาม ทางประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ก็นำร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว ที่เป็นการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรธน. นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป และรอการโปรดเกล้าลงมา

เมื่อมีการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายตามรธน.ที่แก้ไขไป เช่นการรับสมัครคนเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นกลไกสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป

แต่ที่สุดแห่งที่สุด อยู่ที่ด่านแรก ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ ภายใต้การกุมบังเหียนของวิรัช โคราช พลังประชารัฐ จะคุมเกม ทุกอย่างให้ออกมา ตามที่แกนนำพลังประชารัฐต้องการเพื่อให้การแก้ไขรธน.ออกมาแล้วฝ่ายพลังประชารัฐและรัฐบาล คุมความได้เปรียบ

ตามเกม ดูแล้ว วิรัช คงอาศัยลูกเก๋าส์ พอสมควร ในการคุมเกมทั้งหมด ซึ่งคงไม่น่าหนักใจที่จะตั้งลำเค้าโครงรธน. ไปในทิศทางที่รัฐบาลอยากให้เป็นเท่าไหร่ เพราะในกรรมาธิการชุดดังกล่าว 45 คน เสียงข้างมาก ก็เป็นคนจากฝาย พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา ที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายค้านอยู่แล้ว

ทำให้ ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลและสว. คุมความได้เปรียบอย่างมากในการคุมทิศทางกระบวนการเขียนร่างแก้ไขรธน.มาตรา 256 เรื่อง สภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้ออกมาตามที่ฝ่ายตัวเองต้องการมากที่สุด

รวมถึงแม้กระทั่งการคุมเกมเรื่องการใช้เวลาในการทำงานของกรรมาธิการ ที่ตอนนี้ ฝ่ายค้านออกมาดักทาง กันท่ากรรมาธิการจากพรรคร่วมรัฐบาลไว้แล้วว่า ไม่จำเป็นที่การพิจารณาเขียนมาตรา 256 ในชั้นกรรมาธิการ

เพราะเป็นการเขียนแค่มาตราเดียว แม้จะมีรายละเอียดมาก แต่ก็สามารถทำได้รวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเต็มแม็ค 45 วันก็ได้ เรียกว่า ยังไม่ทันได้เริ่มทำงาน ก็มีการชิงเหลี่ยมกันเองในคณะกรรมาธิการระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน

ว่ากันตามจริง การทำงานของกรรมาธิการ ก็ไม่ควรซื้อเวลา หรือคิดดึงเกมยื้อ ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการ ขึ้นมาแล้วอย่างน้อยสองชุด ในการศึกษาเรื่องการแก้ไขรธน.

ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการที่เกิดจากมติของที่ประชุมสภาฯ คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งตอนนั้น ก็มีส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านอยู่ในกมธ.ชุดนี้จำนวนมาก

รวมถึงที่อยู่ในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) ตอนนี้ด้วยเป็นส่วนใหญ่ โดยกรรมาธิการ ชุดดังกล่าว ก็มีการศึกษา พูดคุยเรื่องมาตรา 256 กันจนตกผลึกกันไปหมดแล้ว

และต่อมา ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก็ยังตั้ง คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ที่เรียกกันว่า กมธ.ยื้อแก้รธน. หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ยอมโหวตร่างแก้ไขรธน.เมื่อปลายเดือนกันยายน

แล้วตั้งกมธ.ชุดนี้ขึ้นมา ศึกษาการแก้ไขรธน.เป็นเวลาสามสิบวัน แม้ว่ากมธ.ชุดนี้ จะไม่มีส.ส.ฝ่ายค้านไปร่วมด้วย เพราะบอยคอยไม่ร่วมสังฆกรรม แต่ก็มีตัวแทนจากสมาชิกวุฒิสภา รุ่นใหญ่ ระดับตัวเอ้ ไปร่วมเป็นกรรมาธิการจำนวนมาก

ในวันนั้น ก็มีการศึกษาเรื่องมาตรา 256 เรื่องการตั้งสภาร่างรธน. กันแบบทะลุปรุโปร่งมาหมดแล้ว โดยที่ส.ส.รัฐบาลและสว.ในกมธ.ชุดนี้ ปัจจุบัน ก็มาเป็น กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...)แบบยกแผง เกือบทุกคน

แค่นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ทั้งส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึง สว. ต่างก็มีการศึกษาเรื่องการแก้ไขรธน.มาตรา 256 เรื่องการมีสภาร่างรธน.กันมาแบบ ทุกซอกทุกมุม ถึงตอนนี้ส.ส.รัฐบาลหลายคนมานั่งเป็นกรรมาธิการทำเรื่องแก้ไขรธน.มาแล้ว แถมบางคน เป็นมาแล้วสามชุดติดๆกัน อีกด้วย แทบจะหลับตาท่องได้แล้ว ก็ว่าได้

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุผลอันใดเลย ที่การประชุมพิจารณาของ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะต้องใช้เวลาอะไรมากมายในการพิจารณา เพราะเรื่องหลักๆ ตกผลึกหมดแล้ว เหลือก็แค่ถกเถียงเรื่อง รายละเอียดต่างๆเท่านั้น

เช่น ที่มาของส.ส.ร. -กรอบเวลาการให้ส.ส.ร. พิจารณายกร่างรธน.ฉบับใหม่ -การทำประชามติ จะเอาอย่างไร เท่านั้น ประเด็นแบบนี้ คุยกันประเด็นหนึ่งสองสามวัน เอาให้จบ ทุกอย่างมันก็เสร็จเร็ว

เว้นเสียแต่จะหวังดึงเกมยาว ยื้อแก้ไขรธน. ไปเรื่อยๆ ทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว กับเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรธน.เพื่อปลดล็อกวิกฤตการเมือง หากยื้อกันทุกเม็ด แบบไม่มีเหตุผล ระวังจะได้คนอื่นมาเขียนแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น