xs
xsm
sm
md
lg

บช.น.ย้ำตำรวจปฏิบัติตามสถานการณ์ จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 5 โรงพักรับมือม็อบชุมนุม สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.และ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.
MGR Online - ตำรวจแจ้งปิด ร.ร.เซนต์คาเบรียล และ ร.ร.เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เลี่ยงม็อบนัดชุมนุมหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เตือนห้ามล้ำระยะ 150 เมตร เขตพระราชฐาน พื้นที่ประวัติศาสตร์ ยันไม่เลือกปฏิบัติ ชี้ใช้รถฉีดน้ำขึ้นอยู่กับความจำเป็น เร่งตรวจสอบแชร์ข่าวรัฐประหาร

วันนี้ (24 พ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงความพร้อมมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย และการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร กรณีการชุมนุมของกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง ในวันที่ 25 พ.ย. บริเวณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวว่า จะเริ่มปิดการจราจรตั้งแต่เวลา 04.00 น.ของวันที่ 25 พ.ย. เส้นทางที่แนะนำให้ประชาชนใช้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านการจราจร ได้แก่ 1. เส้นทางแนะนำด้านทิศเหนือ คือ ถนนสุโขทัย-สะพานกรุงธนบุรี (ซังฮี้), ถนนนครไชยศรี และถนนเศรษฐศิริ-ถนนอำนวยสงคราม 2. เส้นทางแนะนำด้านทิศตะวันออก คือ ถนนพระราม 6, ถนนกำแพงเพชร 5 และทางพิเศษศรีรัช

3. เส้นทางแนะนำด้านทิศใต้ คือ ถนนหลานหลวง-ถนนราชดำเนินกลาง-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, ถนนหลานหลวง-ถนนจักรพรรดิพงษ์-ถนนวิสุทธิกษัตริย์-สะพานพระราม 8 และถนนบำรุงเมือง-ถนนพระราม 1 และ 4. เส้นทางแนะนำด้านทิศตะวันตก คือ ถนนจรัญสนิทวงศ์, ถนนบรมราชชนนี และถนนอรุณอมรินทร์

เส้นทางที่แนะนำให้ประชาชนใช้ (กรณีเดินทางโดยใช้ทางด่วน) ได้แก่ ลงด่วนพระราม 6-ถนนพระราม 6-ขวาแยกโรงกรองน้ำ-ถนนนครไชยศรี-ถนนสุโขทัย-สะพานซังฮี้, ลงด่วนจารุเมือง-ถนนพระราม 4-ถนนเยาวราช-ซ้ายถนนจักรวรรดิ์-สะพานพระปกเกล้า และลงด่วนจารุเมือง-ถนนพระราม 4-ถนนเยาวราช-ขวาถนนจักรวรรดิ-แยกหลานหลวง-ตรงไปสะพานพระราม 8 หรือเลี้ยวซ้ายไปสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ทั้งนี้จะทำการปิดการจราจรทางด่วนยมราช

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า บช.น.ได้จัดเตรียมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันเหตุร้าย ตำรวจจราจรในการอำนวยความสะดวกการด้านจราจร และตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วตั้งจุดตรวจค้นในพื้นที่ต่างๆ บริเวณโดยรอบ 5 โรงพัก ได้แก่ สน.สามเสน, สน.ชนะสงคราม, สน.นางเลิ้ง, สน.สําราญราษฎร์ และ สน.ดุสิต ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ เหตุการณ์ และสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 39 กองร้อยตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมแชร์เอกสารเรื่องการระดมกำลัง

เบื้องต้นโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และโรงเรียนที่อยู่ถนนสามเสนได้ประกาศปิด 1 วัน รวมถึงหน่วยราชการและห้างร้านต่างๆ ได้ประสานข้อมูลให้ปิดพื้นที่โดยรอบการชุมนุม ส่วนการกำหนดพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนมีแห่งไหนบ้างนั้น ทุกพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ ถ้าทุบทำลายเกิดความเสียหาย บางอย่างสูญเสียไม่สามารถกลับคืนมาได้ ทั้งนี้ มีบางส่วนอาจเป็นเขตพระราชฐาน ทั้งชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก

เรื่องการข่าวขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ถ้าพยามหลีกเลี่ยงการปะทะได้ ตำรวจก็สามารถให้กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน โดยปกติได้จัดแยกให้อยู่คนละฝั่งอยู่แล้ว บางกลุ่มเชื่อแต่บางกลุ่มไม่เชื่อบางครั้งตำรวจ ในฐานะเป็นคนกลางก็ปฏิบัติหน้าที่ยากลำบาก อยากให้ทุกคนเคารพกฎหมายและเชื่อฝังตำรวจเป็นหลัก ตนเชื่อว่าจะไม่เกิดการกระทบกระทั่งแน่นอน

พื้นที่ชุมนุมในระยะรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ตำรวจตั้งแนวป้องกันไม่ให้รุกล่ำตลอดทาง โดยมีการแจ้งเตือนทุกระยะตั้งแต่เริ่มชุมนุม ห้ามเข้ามาในพื้นที่สำคัญ หรือพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่กรอบสีแดงในแผนที่ ถือเป็นสถานที่ราชการสำคัญ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน ผกก.หรือรอง ผกก.ในพื้นที่จะทำการประชาสัมพันธ์ และประกาศให้เลิกชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในระยะ 150 เมตร ตำรวจจะใช้มาตราการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น บางครั้งอาจลุกลามจนบานปลายใหญ่หลวง ตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ยืนยันปฏิบัติไปตามหน้าที่และอำนาจ ย้ำว่าตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ต้องดูตามสถานการณ์ว่าผู้ชุมนุม หรือผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมอย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้จะใช้มาตรการอย่างไร แต่คงใช้มาตรการตามความเหมาะสม

“ประเด็นแกนนำพยายามใช้สื่อโซเชียล ระบุมีกลิ่นไปของรัฐประหาร พร้อมเรียกมวลชนให้ออกมามากขึ้น จะเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นหรือไม่ ต้องดูข้อความที่เผยแพร่ออกไปว่าเข้าข่ายกระทำความผิดส่วนไหน อย่างไร” น.2 กล่าว

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า การชุมนุมพรุ่งนี้ (25 พ.ย.) กลุ่มคณะราษฎร และกลุ่มเยาวชนปลดแอก ยังไม่แจ้งการชุมนุมต่อตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ ฝากเรียนว่าการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนตามกฎหมาย แต่การชุมนุมต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และการแจ้งให้ตำรวจได้รับทราบเพื่อพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชม. นอกจากนี้ การชุมนุมต้องเป็นไปด้วยความสงบปราศจากอาวุธ รวมถึงไม่ละเมิดสิทธิของประชาชนผู้อื่น การใช้เครื่องเสียงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามใช้ป้ายที่มีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น สร้างความเกลียดชัง หรือยุยงให้เกิดความแตกแยก ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ปฏิบัติตามกฎหมายของอำนาจตำรวจ ใช้หลักความจำเป็น หลักสัดส่วนที่สมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัติต้องสามารถตรวจสอบได้

สิ่งที่สื่อกังวลในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ทั้งในเรื่องการใช้กำลัง การบังคับใช้กฎหมาย การจัดการด้านการจราจร หรือมาตรการของตำรวจ ได้ยึดกรอบของกฎหมายซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ยึดหลักความเหมาะสมของสถานการณ์ ยึดหลักการแจ้งเตือนก่อน มีความเหมาะสม ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ ที่สำคัญสามารถตรวจสอบได้ เป็นหลักการปฏิบัติของตำรวจทั่วไป การจัดกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนไม่ใช่เพื่อสลายการชุมนุม

“มีหลายคนตั้งคำถามว่าการจัดกำลังในลักษณะแบบนี้ เป็นการมุ่งสลายการชุมนุมหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ใช่ ทุกอย่างมีเหตุมีผลอยู่แล้ว การจัดวางแบริเออร์ก็เพื่อเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ เช่น ระยะห่างจากสถานที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย การจัดวางกำลัง การจัดวางเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตำรวจเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ฉะนั้นแล้วคงไม่ได้มีแค่ในส่วน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่ยังมีกฎหมายตัวอื่น เช่น พ.ร.บ.การจราจรทางบก”รองโฆษก ตร.กล่าว

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวต่อว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ค.แม้อยู่ในช่วงการระบาดโควิด-19 มีการชุมนุมลักษณะแบบนี้ประมาณ 20 จังหวัดทั่วประเทศ ได้ดำเนินคดีต่อทุกกลุ่มทั้งที่มีความเห็นต่างหรือเหมือนรัฐบาล หรือในส่วนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีการดำเนินคดีในทุกความผิดประมาณ 170 กว่าคดีทั่วประเทศ แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 100 กว่าคดี และต่างจังหวัด 70 กว่าคดี

สิ่งที่ชี้ให้เห็นก็คือตั้งแต่เดือน ก.ค.-พ.ย.รวมระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ผู้ที่ออกมาชุมนุม หรือแกนนำที่ชักชวนออกมาชุมนุม ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องจะมีการดำเนินคดีตามหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็แล้วแต่เป็นดุลยพินิจ ของพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ ไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงการดำเนินคดีได้ ไม่มีการตั้งธงว่าจะออกมาในรูปแบบใด ดำเนินคดีกับใคร ตำรวจดำเนินการตามข้อมูล ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน

ความชัดเจนเรื่องน้ำที่ใช้ควบคุมฝูงชน ในเวลา 14.00 น. จะมีผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กองสรรพาวุธตำรวจ (สพ.) สำนักงานส่วนกำลังบำรุง (สกบ.) ชี้แจงให้สื่อมวลชนรับทราบ สิ่งที่สามารถตอบได้ขณะนี้แยกเป็น 2 ส่วน คือ 1. สารเคมีที่บรรจุในน้ำใช้ในการฉีด และ 2. สีที่ใช้ในการผสมเป็นสีย้อมทั่วไป ที่ปรากฎจะเป็นสีน้ำเงิน และสีม่วง ระบุตัวบุคคลเพื่อยืนยันว่ามาจากที่ไหนอย่างไร นอกจากสีก็เป็นแก๊สน้ำตาชนิดเหลว ได้รับการยืนยันว่ามีคุณสมบัติเกิดการระคายเคืองกับดวงตา ทำให้น้ำตาไหล น้ำมูกไหล หายใจติดขัดในช่วงสั้นๆ แต่ไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต โดยหลักการแล้วเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพียงระงับยับยั้งไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ควบคุมได้ ตำรวจที่ปฏิบัติตามหน้าที่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ผลที่ได้รับมีความแตกต่างกันระหว่างบุคคล แสบมากแสบน้อยแตกต่างกันไป

สำหรับการชุมนุมในวันที่ 25 พ.ย.จะใช้รถฉีดน้ำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถารการณ์ตามความเหมาะสมและจำเป็น ไม่เลือกปฏิบัติสามารถตรวจสอบได้ กรณีมีผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดน้ำเข้าแจ้งความที่ สน.บางโพ ส่งผลให้ตำรวจทบทวน หรือระมัดระวังการใช้มากขึ้นหรือไม่ ถือว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นโจทย์ และนำบทเรียนมาปรับปรุง ก่อนที่จะมีการปฏิบัติการทุกอย่าตำรวจฝึกซ้อม จนได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน และจากตำรวจผู้ปฏิบัติว่ามีระเบียบ ขั้นตอน และดำเนินการอย่างไร

“เรื่องการฟ้องร้องฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ถือเป็นสิทธิของผู้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และพยานหลักฐาน คงไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเดียว ที่ผ่านมามีการดำเนินการตำรวจก็ถูกฟ้องร้อง” พ.ต.อ.กฤษณะกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น