MGR Online - ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เดินหน้าศึกษาการปนเปื้อนสารระเบิดหลัก 4 ชนิด ในตัวผู้ต้องหาจังหวัดชายแดนใต้ ให้มีตามมาตรฐานเชื่อถือได้ และเป็นธรรมทุกฝ่าย
วันนี้ (21 พ.ย.) พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.ยธ.) กล่าวถึงโครงการตรวจหาสารระเบิดจากผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า โครงการวิจัยดังกล่าวจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแง่วิชาการและผลงานด้านการวิจัย โดยจะใช้เป็นค่ามาตรฐานที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งการตรวจหาสารระเบิดจากกลุ่มผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับนโยบายจาก นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ได้มอบให้ศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งเป็นการสร้างมาตรฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันและปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป
“สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีภารกิจรับผิดชอบในเชิงสนับสนุน ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมในคดีอาญาทั่วไป และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง สนับสนุนภารกิจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากภารกิจที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีภารกิจหลักตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน เช่น การจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคล ลายนิ้วมือแฝง การตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดและสารระเบิด จากผู้ต้องสงสัย นอกจากนี้ ยังดำเนินการร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด และกรมคุ้มครองสิทธิ ภายใต้นโยบายของกระทรวงยุติธรรม” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าว
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า การตรวจหาสารระเบิดนั้นพบว่า มีการตรวจหาสารระเบิดจากกลุ่มผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก แต่เกิดข้อต่อสู้จากผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา เกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจเก็บสารระเบิด ซึ่งที่ผ่านมานั้น การตรวจหาสารระเบิดทางนิติวิทยาศาสตร์จะตรวจหาสารระเบิดหลักๆ จำนวน 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ TNT, RDX, PETN และ Nitroglycerine โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้เดินหน้าทำวิจัยเพื่อสร้างมาตรฐานการตรวจหาสารระเบิดจากผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแนวทางการวิจัย เริ่มจากขั้นตอนการดำเนินในลักษณะของการเก็บตัวอย่างในพื้นที่ต่างๆ เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของสารระเบิด ซึ่งจะวิเคราะห์ออกมาเป็นค่าเฉลี่ย จากนั้นจะทำวิจัยเปรียบเทียบข้อมูลดังกล่าว เพื่อเป็นค่ามาตรฐานต่อไป