xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกายกฟ้อง “เรืองไกร-ธาริต” คดีแจ้งความเท็จ-หมิ่นประมาท “วัชระ เพชรทอง”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลฎีกายกฟ้อง “เรืองไกร-ธาริต” คดีแจ้งความเท็จ-หมิ่นประมาท “วัชระ เพชรทอง” กรณีร้อง กกต.กล่าวหาเเทรกเเซงการทำงานอดีตธิบดีดีเอสไอในคดีชายชุดดำ



วันนี้ (28 ต.ค.) ศาลแขวงดอนเมือง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ อ.812/2559 ที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ว. กับ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขณะนั้นเป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ ให้พนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และหมิ่นประมาท

คดีนี้ สืบเนื่องจากนายเรืองไกร อดีต ส.ว. ซึ่งเป็นทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า นายวัชระ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน คนที่ 1 ใช้สถานะหรือตำแหน่ง ส.ส. เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของนายธาริต โดยเรียก นายธาริต มาให้การเรื่องชายชุดดำในเหตุการณ์ความไม่สงบเดือน เม.ย.- พ.ค. 2553 ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีอำนาจและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคประชาธิปัตย์ และไม่ได้มีมติของ กมธ. อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 266(1) โดยนายเรืองไกร และ นายธาริต ขณะเป็นอธิบดีดีเอสไอ ก็ได้ไปให้การยืนยันข้อความดังกล่าวต่อเจ้าพนักงาน กกต.

คดีนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 1 มีมูลเฉพาะข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานและข้อหาหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องส่วนจำเลยที่ 2 คดีมีมูลเฉพาะข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานและหมิ่นประมาทโจทก์ 133, 267 และ 326 ให้ประทับฟ้องส่วนฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและข้อหาหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 ข้อหาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องไม่มีมูลให้ยกฟ้อง

ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 (เดิม), 267 (เดิม), 326 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน ให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นเวลา 7 วันต่อเนื่องกัน โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณาสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องคำขออื่น นอกจากนี้ ให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ไขเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

โดยในวันนี้ นายเรืองไกร จำเลยที่ 1 นายธาริต จำเลยที่ 2 เดินทางมาศาล ส่วนโจทก์ส่งเสมียนทนายความมา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วสำหรับความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท และสำหรับจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดนั้น ศาลชั้นต้นยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยโจทก์ไม่อุทธรณ์จึงเป็นอันยุติที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานและหมิ่นประมาทนั้น ปรากฏว่า ในชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 สำหรับความผิดดังกล่าวนี้ด้วยกรณีจึงห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2494 มาตรา 22

การที่โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาไม่สุจริตและมุ่งใส่ร้ายโจทก์โดยยืนยันข้อเท็จจริงที่เป็นความเท็จและเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนากระทำความผิดอันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำจึงไม่มีความผิดดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตามกฎหมายข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยมานั้นไม่ชอบและไม่ก่อให้เกิดสิทธิฎีกาแก่โจทก์ต่อมาแม้โจทก์จะได้รับอนุญาตให้ฎีกาก็ตามศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาของศาลอาญาหรือไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำเนาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีถึงที่สุด เห็นว่า แม้หนังสือที่จำเลยที่ 1 ยื่นและที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดในคดีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงและรายละเอียดอันเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ แต่ศาลชั้นต้นในคดีนี้ได้ยกฟ้องในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานกับหมิ่นประมาทตามฟ้องไปแล้วส่วนความผิดตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 อีกส่วนหนึ่งในเวลาต่อมา โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จโดยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานและคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอันเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแม้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือถึงประธานกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้กาคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบและวินิจฉัยการกระทำของโจทก์ แต่ในครั้งนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

โดยมีหนังสือหรือคำสั่งเรียกให้จำเลยที่ 2 ไปให้ถ้อยคำเกี่ยวกับข้อเท็จจริงว่ามีชายชุดดำใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค. 2553 ต่อคณะกรรมาธิการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือโจทก์ พรรคประชาธิปปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งห็นผลให้พ้นข้อหาดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยคณะกรรมาธิการดังกล่าวไม่ได้มีมติให้เรียกจำเลยที่ 2 มาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมาธิการ แต่อย่างใด และโจทก์พูดข่มขู่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ที่ปฏิเสธไม่ให้ถ้อยคำและข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่ชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ ซึ่งถือเป็นการกระทำคนละส่วนกับคดีก่อนและเป็นการกระทำต่างกรรมกันการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานและฐานหมิ่นประมาทตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยไม่ย้อนสำนวนศาลฎีกาให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อนจากทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ความว่าสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือถึงประธานกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอให้ตรวจสอบโจทก์ว่ามีการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองของผู้อื่นหรือของพรรคการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 226(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 หรือไม่ แล้วต่อมาจำเลยที่1 เข้าให้ถ้อยคำอาศัยข้อมูลจากข่าวในเว็บไซต์และหนังสือของสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งโจทก์ก็มิได้นำสืบปฏิเสธว่าเว็บไซต์และหนังสือดังกล่าวไม่ได้ลงข่าวหรือมีข้อความดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง จึงรับฟังได้ว่าเว็บไซต์และหนังสือดังกล่าวได้ลงข้อความและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรณีที่คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือเชิญอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชายชุดดำจากกรณีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2553 ซึ่งเกิดข้อขัดแย้งในที่ประชุมกรรมาธิการและการตอบโต้กันไปมาในที่ประชุมและทางสื่อสารมวลชนระหว่างโจทก์ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยจำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์กระทำเกินอำนาจและหน้าที่ของกรรมาธิการมีลักษณะเป็นการซักฟอกพยายามไต่สวนจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการทำหน้าที่ในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

ที่จำเลยให้ถ้อยคำก็เพียงแต่อ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริงตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ และหนังสือข้างต้นมิได้มีการบิดเบือนแต่งเติมหรือกล่าวข้อความอันเป็นเท็จซึ่งไม่มีอยู่จริงขึ้นใส่ร้ายโจทก์อย่างใดส่วนที่จำเลยที่ระบุว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองของผู้อื่นหรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริงซึ่งมีการออกข่าวเผยแพร่ต่อสาธารณชนอยู่ก่อนแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มิได้นำข้อมูลอื่นมากล่าวอ้างเพื่อให้ร้ายโจทก์กรณีจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานและหมิ่นประมาทตามฟ้องโจทก์ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน
กำลังโหลดความคิดเห็น