xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.สถาบันนิติวัชร์อัยการ ชี้ฎีการถไฟชนรถบัสไม่ประมาท เพราะเปิดหวูด-ปิดป้ายเตือนแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ธนกฤต” ผอ.สถาบันนิติวัชร์อัยการ ชี้อุบัติเหตุรถบัสงานบุญทอดกฐินชนรถไฟ เทียบเคียงเหตุการณ์รถไฟชนรถรับส่งนักเรียนที่บุรีรัมย์ปี 52 ยกฎีกาพิพากษารถไฟไม่ประมาท แม้ไม่มีเครื่องกั้น แต่เปิดหวูด-ปิดป้ายเตือนแล้ว ระบุกฎหมายรถไฟโบราณล้าหลัง ไม่ชัดเจน เสี่ยงกระทบความปลอดภัยประชาชน จี้ควรแก้ไขกฎหมายได้แล้ว

วันนี้ (13 ต.ค.) ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการ ผอ.สำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีอุบัติเหตุรถไฟชนรถบัสขนคนไปทอดกฐินที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ตามที่เกิดอุบัติเหตุขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์เฉี่ยวชนรถบัสที่บรรทุกผู้โดยสารที่จะเดินทางไปทอดกฐิน ที่จุดตัดทางรถไฟบริเวณป้ายหยุดรถคลองแขวงกลั่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ขณะที่ขบวนรถไฟผ่านสถานีคลองบางพระ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น ตามข้อเท็จจริง ที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลง ได้ความว่า บริเวณจุดตัดที่เกิดเหตุเป็นถนนเสมอระดับทางรถไฟ และเป็นทางผ่านที่ยังไม่ได้รับอนุญาต (หรือที่เรียกว่าทางลักผ่าน) โดยบริเวณจุดตัดนี้ไม่มีเครื่องกั้นถนนข้ามทางรถไฟ แต่ รฟท.ได้ติดตั้งป้ายสัญญาณจราจรและสัญญาณไฟเตือนไว้ เพื่อช่วยในด้านความปลอดภัยของผู้ขับขี่ และในขณะเกิดเหตุพนักงานขับรถไฟได้เปิดหวูดสัญญาณเตือนเป็นระยะ

เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เคยมีอุบัติเหตุที่มีลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกันเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2552 ที่ขบวนรถไฟได้พุ่งชนรถบรรทุกหกล้อรับส่งนักเรียนที่แยกหนองแสง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ทำให้เด็กนักเรียนและคนขับรถรับส่งนักเรียนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุรวม 9 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่เกิดเหตุไม่มีเครื่องกั้นถนนข้ามทางรถไฟ แต่ รฟท.ได้ติดตั้งป้ายสัญญาณจราจรประเภทเตือน หยุด และสัญญาณไฟเตือนไว้เพื่อช่วยในด้านความปลอดภัยของผู้ขับขี่ และในขณะเกิดเหตุพนักงานขับรถไฟได้เปิดหวูดสัญญาณเตือนเป็นระยะ เช่นเดียวกับลักษณะของอุบัติเหตุในครั้งนี้

คดีอุบัติเหตุที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์นี้ ฝ่ายผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสได้ยื่นฟ้อง รฟท.ต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 วินิจฉัยว่า จุดที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางข้ามรถไฟอยู่ในเขตเทศบาล มีประชาชนสัญจรไปมาพลุกพล่านตลอดเวลา แต่ รฟท.กลับไม่ติดตั้งเครื่องกั้น ทั้งที่ รฟท.มีหน้าที่ดูแลกิจการด้านรถไฟของประเทศไทย ทั้งด้านการจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัย การให้บริการ และความสะดวกต่างๆ ของกิจการรถไฟ แต่กลับปล่อยปละละเลย และไม่มีพนักงานควบคุมดูแลประจำ

ศาลจังหวัดบุรีรัมย์จึงเห็นว่า รฟท.ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ทำการติดตั้งเครื่องกั้นรถไฟ จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงดังกล่าว จึงพิพากษาให้ รฟท.รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับโจทก์ผู้เสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 14 ล้านบาท รฟท.ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ผู้เสียหายฎีกา

ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 4070/2560 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2560 วินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ. 2464 มาตรา 72 กำหนดว่า เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้นตามที่เห็นสมควร และมาตรา 73 กำหนดว่า เมื่อถนนที่ต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สำคัญพอถึงกับต้องทำประตูกั้นแล้ว ให้พนักงานขับรถจักรเปิดหวูดก่อนที่รถจะผ่านข้ามถนน กับให้ทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวรปักไว้ให้เห็นอย่างชัดเจนบนถนนและทางนั้น

ดังนั้น หากถนนบริเวณจุดตัดกับทางรถไฟไม่ใช่ถนนสำคัญแล้ว รฟท.ก็ไม่จำเป็นต้องทำเครื่องกั้น แต่ต้องทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวรปักไว้บนถนนและทางที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ฉะนั้น ถึงแม้ รฟท. จะไม่ได้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนก็ตาม แต่ รฟท.ก็ได้ทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวร คือ เสาไฟสัญญาณและป้ายที่มีคำว่าหยุด ปักไว้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนบนถนนและทางก่อนที่รถจะแล่นข้ามทางรถไฟ อีกทั้งพนักงานขับรถไฟของ รฟท.ซึ่งเป็นผู้ขับรถไฟขบวนที่เกิดเหตุก็ได้เปิดหวูดก่อนที่จะถึงจุดตัดทางรถไฟกับถนนแล้ว จึงฟังได้ว่า รฟท.ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวงฯ มาตรา 73 แล้ว

นอกจากนี้ การที่มาตรา 72 บัญญัติให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางตามที่เห็นสมควร และมาตรา 73 บัญญัติถึงกรณีที่ถนนที่ต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สำคัญพอถึงกับต้องทำประตูกั้น แสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้บังคับให้ รฟท.ต้องทำเครื่องกั้นเสมอไป แต่ให้เป็นดุลพินิจของ รฟท.หากเห็นว่าเป็นถนนไม่สำคัญก็ไม่ต้องทำประตูหรือราวกั้น เพียงแต่ต้องปฏิบัติอย่างอื่นให้ครบถ้วนตามมาตรา 73 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

การที่โจทก์ผู้เสียหายอ้างว่า รฟท.จะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำหรือมีเครื่องกั้นอัตโนมัติ ไม่ว่าจุดตัดนั้นจะเป็นทางสำคัญหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่บังคับให้ รฟท.จำเลย กระทำนอกเหนือไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานของ รฟท.จำเลย มีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังไม่ได้ว่า รฟท. กระทำประมาทเลินเล่อทำให้เกิดอุบัติเหตุในคดีนี้ พิพากษายืนยกฟ้องโจทก์

คดีอุบัติเหตุที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ที่ยกมาให้ดูนี้ มีข้อสังเกตว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกพันไปถึงคดีอื่นๆ ด้วยถึงแม้จะมีข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างเดียวกัน และประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย หรือระบบ Civil Law ดังนั้น คำพิพากษาของศาลจึงไม่มีผลผูกพันเป็นกฎหมายให้ศาลอื่นต้องยึดถือตัดสินตามเหมือนกับคำพิพากษาของศาลในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี หรือระบบ Common Law ที่คำพิพากษาของศาลสูงมีผลผูกพันเป็นกฎหมายบังคับให้ศาลอื่นต้องตัดสินตามหากมีข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างเดียวกัน ภายใต้หลัก The Rule of Precedent หรือ Stare Decisis

ดังนั้น หากคดีอุบัติเหตุรถไฟชนรถบัสทอดกฐินที่จังหวัดฉะเชิงเทรานี้ ขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาล ผลของคดีก็อาจจะแตกต่างไปจากที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคดีรถไฟชนรถรับส่งนักเรียนที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้

ในท้ายที่สุดนี้ ถึงแม้คดีรถไฟชนรถรับส่งนักเรียนที่จังหวัดบุรีรัมย์ ศาลฎีกาจะพิพากษาว่า ฝ่าย รฟท.ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ แต่หากพิจารณาถึง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวงฯ มาตรา 72 และมาตรา 73 ที่ได้กล่าวไปแล้ว น่าจะเห็นได้ถึงบทบัญญัติของกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงจะกระทบกับความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้อำนาจ รฟท. เป็นผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาได้เองตามที่เห็นสมควรโดยลำพังว่า ถนนที่ต้องผ่านข้ามไปนั้นมีความสำคัญเพียงพอที่จะต้องทำเครื่องกั้นหรือไม่

นอกจากนี้ บทบัญญัติตามมาตรา 72 และ มาตรา 73 ของ พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ. 2464 ดังกล่าว ประกอบกับ พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 16 และมาตรา 17 ได้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 นับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 99 ปีแล้ว ทำให้กฎหมายในส่วนนี้ล้าสมัย ไม่เหมาะสม และขาดหลักเกณฑ์การบังคับใช้กฎหมายที่แน่นอนชัดเจน จนอาจจะทำให้กล่าวถึง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวงฯ ได้ว่า เป็นกฎหมายโบราณนานนมที่ยิ่งกว่าชราภาพเสียอีก ซึ่งหน่วยงานและผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องควรร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวงฯ ในส่วนที่ยังคงใช้บังคับอยู่ โดยเฉพาะมาตรา 72 และ มาตรา 73 ให้มีความเหมาะสม มีหลักเกณฑ์การบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน ทันสมัย และมีความปลอดภัยต่อประชาชนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น