ศาลอาญาคดีทุจริตสั่งจำคุก “ศุภฤกษ์” อดีตอธิบดีกรมอุตุฯ 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ลดค่าปรับ บ.เอกชน จาก 300 ล้านบาท เหลือเพียง 4 ล้าน ทำให้รัฐเสียหาย ปมส่งคอมพิวเตอร์ไม่ตรงสเปกตามสัญญา
วันนี้ (30 ก.ย.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
คดีนี้สืบเนื่องจาก ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยา กรณีร่วมกันตรวจรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ไม่ตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในสัญญา ต่อมากรมอุตุนิยมวิทยา เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด ฐานผิดสัญญาและเรียกค่าปรับ ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 โดยเรียกค่าปรับเป็นเงิน 242,519,845 บาท 20 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 70,064,979 บาท 44 สตางค์ รวมเป็นเงิน 312,584,825 บาท ในระหว่างการพิจารณาของศาล จำเลยมอบหมายให้ นายเฉลิมชัย เอกก้านตรง อดีตรองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงให้บริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด ชำระเบี้ยปรับให้กับกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นเงินเพียง 4,327,045 บาท 20 สตางค์เท่านั้น ทำให้ทางราชการเสียหาย ไม่สามารถเรียกปรับได้เต็มจำนวน
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาเพื่อประโยชน์ให้กับบริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด ในฐานะคู่สัญญาชำระค่าปรับเพียง 4 ล้านบาท จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับความเสียหาย และการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นเพียงการละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบเท่านั้น แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าการที่จำเลยลดค่าปรับเป็นจำนวนมากเกินกว่าระเบียบและกฎหมายให้อำนาจไว้ ย่อมไม่อาจกระทำได้
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า การกระทำของจำเลยมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายกรมอุตุฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เหตุเกิดที่แขวงบางนา เขตพระโขนง และ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้รับผลประโยชน์ใดก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จำเลยใช้ดุลพินิจปรับลดค่าปรับให้แก่บริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด จากค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 312,584,825 บาท ลดค่าปรับเหลือเป็นเงิน 4,327,045.20 บาท กรมอุตุนิยมวิทยา ตกลงชำระเงินตามสัญญางวดที่ 7-8 เป็นเงิน 901,625.74 บาท และ 49,999,399 บาท ให้แก่ บริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาตกลงคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พฤติการณ์แห่งคดีล้วนบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชั่น กรุ๊ป จำกัด และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) การกระทำของจำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) วางโทษจำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นเงินจำนวนมาก กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
ภายหลังอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกัน โดยตีราคาหลักทรัพย์ 300,000 บาท