“ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” ตัวแทนศาลยุติธรรม ได้รับเชิญนั่ง กก.ที่ปรึกษาผู้พิพากษาองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ช่วยพัฒนาระบบกฎหมายของไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไมตรี สุเทพากุล ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการที่ปรึกษาผู้พิพากษาขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Advisory Board of Judges) ในวาระปี 2563- 2564 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนศาลยุติธรรมและประเทศไทย
สำหรับ “คณะกรรมการที่ปรึกษาผู้พิพากษาขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก” นี้ ประกอบด้วยกรรมการ 15 คนซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีความรู้และประสบการณ์จากหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยทำงานในรูปแบบคณะกรรมการมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้ทันสมัยภายใต้พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยคำนึงถึงบริบทด้านกฎหมาย และสภาพสังคมของประเทศภาคีสมาชิก
ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีตัวแทนปฏิบัติหน้าที่ในองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเพื่อส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งพัฒนาระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และยกระดับมาตรฐานคำพิพากษาของศาลไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล
นายไมตรี ประธานศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ สำเร็จการศึกษาปริญาตรี นิติศาสตรบัณทิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2521 (รุ่นที่ 18) และเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสำเร็จการศึกษาเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 31 จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ขณะที่ได้ศึกษาต่อต่างประเทศ ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา Master of Laws และ Postgraduate Diploma ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน
ด้านประสบการณ์การทำงาน นายไมตรี มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งการบริหารงานศาล และการพิจารณาพิพากษาคดีทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยเริ่มรับราชการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา (รุ่นที่ 23) ปี พ.ศ. 2525 และได้รับความก้าวหน้า ดำรงตำแหน่งของการปฏิบัติงานผู้พิพากษาสูงขึ้นตามลำดับชั้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2538 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา
และเริ่มสะสมประสบการณ์เข้าสู่การปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา พิจารณาพิพากษาคดีศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในปี พ.ศ. 2541 กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ปี พ.ศ. 2551 ก่อนจะเป็นผู้พิพากษาฎีกา ในแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ศาลฎีกา ปี พ.ศ. 2556 จากนั้นปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน นายไมตรีได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (ประธานศาลฯ คนที่ 2 นับจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เริ่มจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2559) ซึ่งการดูแลบริหารจัดการด้านคดีนั้น มีแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ด้วย
ทั้งช่วงการปฏิบัติหน้าที่ นายไมตรียังให้ความสำคัญในการศึกษาเพิ่มเติมศักยภาพผู้บริหารระดับสูง เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 15 และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง จากสถาบันวิทยาลัยตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 10 และนายไมตรียังเป็นอาจารย์บรรยายวิชากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ณ สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ถึงปัจจุบันด้วย
สำหรับ “องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก” หรือ WIPO ภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา บริหารจัดการข้อพิพาท และระบบอำนวยความสะดวกในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของผู้พิพากษาทั่วโลกในการบริหารจัดการปัญหาข้อกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีภาคีสมาชิก 193 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ได้เชิญตัวแทนศาลยุติธรรมประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)