MGR Online - บช.น.ควง กทม.และกรมศิลปากร นั่งแถลง เผยนำหมุดที่ฝังในสนามหลวงส่ง พฐ.ตรวจสอบ กทม.สั่งเปิดปกติแล้ว พบมูลค่าข้าวของเสียหายไม่มาก ขุดเจาะต้องขออธิบดีกรมศิลปากร ยังไม่พบแจ้งเอาผิดม็อบบุกรุก มธ.
วันนี้ (21 ก.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม.และ นายสถาพร เที่ยงธรรม ผอ.กองโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมกันแถลงข่าวกรณีมีเจ้าหน้าที่ถอนหมุดชื่อ “คณะราษฎร 2” ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจัดกิจกรรมฝังไว้ในท้องสนามหลวง เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (20 ก.ย.)
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากที่ตัวแทน กทม.และกรมศิลปากร เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้จัดให้มีการชุมนุมในความผิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทำให้เสียทรัพย์ พ.ร.บ.โบราณสถาน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) จึงร่วมกันตรวจสอบที่เกิดเหตุ สำรวจความเสียหายที่เกิดจากการชุมนุม และพบหมุดทองเหลืองดังกล่าวปักไว้บนพื้นซีเมนต์ จึงทำการอายัดไว้และส่งมอบให้ พฐ.นำไปตรวจสอบ เพื่อนำไปประกอบการดำเนินคดีตามที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวหา จากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นพบแผงเหล็ก 7 แผง แม่กุญแจที่ใช้คล้องระหว่างแผงเหล็ก 92 อัน รวมถึงจุดที่มีการเจาะพื้นเพื่อวางหมุดดังกล่าวได้รับความเสียหาย จึงมอบหมาย ผอ.เขตพระนคร ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ เป็นตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี ส่วนความเสียหายอื่นๆ อาทิ ต้นไม้ สนามหญ้า อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีความเสียหายมากน้อยเพียงใด แต่มองว่าความเสียหายดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่มาก ขณะนี้ กทม.ได้กลับมาเปิดให้ประชาชน เข้าใช้บริการในพื้นที่สนามหลวงได้ตามปกติแล้ว
นายสถาพร กล่าวว่า เหตุที่มีการร้องทุกข์ฐานทำให้โบราณสถานได้รับความเสียหาย เนื่องจากสนามหลวงเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แม้ว่าพื้นที่ที่มีการวางหมุด “คณะราษฎร 2”จะเป็นพื้นซีเมนท์ที่ปรับภูมิทัศน์ไม่นานมานี้ แต่ถือว่าอยู่ในบริเวณที่มีการขึ้นทะเบียน ดังนั้น หากจะมีการปรับปรุงพื้นที่ หรือขุดเจาะใดๆ ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร จึงจะสามารถดำเนินการได้ และเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตจึงดำเนินคดีในเรื่องนี้
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า หมุดทองเหลืองไม่ได้หายไปไหน แต่ส่งมอบให้ พฐ.ทำการตรวจสอบ กรณีถ้าปักหมุดทองเหลืองเพิ่มเติม จะแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ 1. หากเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ส่วนราชการ เป็นพื้นที่ที่หน่วยงานใดดูแลอยู่ หากกระทำดังกล่าวดูแล้วมีความผิดตามกฎหมาย สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนได้ และ 2. หากเป็นพื้นที่เอกชน หรือพื้นที่ส่วนบุคคล การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิ์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ความฐานบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ได้เช่นกัน
“อธิบดีกรมศิลปากรบอกแล้วว่า หมุดนี้ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่สามารถที่จะมาไว้ในพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์”น.2 กล่าว
พล.ต.ต.สุคุณ ระบุว่า เรื่องการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ เบื้องต้นพบผู้กระทำความผิด 16 คน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการชุมนุม, การโฆษณาชักชวนคนมาร่วมการชุมนุม และปราศรัยบนเวที เข้าข่ายความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต” ส่วนความผิดอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่า เมื่อรวบรวมความผิดได้ชัดเจนแล้ว จะออกหมายเรียกผู้กระทำความผิดมารับทราบข้อกล่าวหาทันที
ทั้งนี้ กรณีที่มีการบุกรุกเข้าไปภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เบื้องต้นยังไม่พบมีการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม การที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้ สนามหลวงเคยถูกใช้เป็นสถานที่จัดการชุมนุมนั้น ชี้แจงว่า ขณะนี้ตำรวจยังไม่มีการพิจารณา ดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกสถานที่แต่อย่างใด