xs
xsm
sm
md
lg

“ศาลยุติธรรม” พาสื่อมวลชนดูงานศาลพัทยา ใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
“ศาลยุติธรรม พาสื่อดูงานศาลพัทยา พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่โจทก์ จำเลย ทนายความ เชื่อมโยงข้อมูลตำรวจ เผยกำลังพัฒนาระบบ SMART CARD และตั้งเป้าสร้างระบบสแกนม่านตายืนยันตัวบุคคล

วันนี้ (1 ส.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วย นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศาลจังหวัดพัทยาและศาลแขวงพัทยา ชมการสาธิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ที่ศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม สนับสนุนสู่การเป็นศาลดิจิทัล ซึ่งกว่า 5 ปีที่พัฒนามาใช้เพิ่ออำนวยความสะดวกแก่โจทก์-จำเลย ทนายความ รวมทั้งงานส่วนตุลาการ

โดยช่วงเดือนสิงหาคมนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม ครบ 20 ปี การบริหารองค์กรได้ก้าวสู่การพัฒนาอีกขั้นจึงจัดทำ “ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” หรือ Smart Card ซึ่งเป็นอีกนวัตกรรมก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลคอร์ท โดยระบบดังกล่าวจะทำให้การติดต่อราชการศาลมีความสะดวก รวดเร็ว ซึ่งมีสาวเสื้อฟ้าประจำแต่ละศาล สอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการมาติดต่อศาล จากนั้นสแกนบัตรประชาชนของผู้มาติดต่อ ผ่านโปรแกรม SIAM ID เมื่อขึ้นข้อความให้เลือกติดต่อกลุ่มงาน เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อความไปยังกลุ่มงานที่ถูกเลือกทันทีผ่าน LINE NOTIFY ชื่อของผู้ติดต่อก็ปรากฏโดยอัตโนมัติที่หน่วยงานปลายทาง ไม่ต้องมีการพิมพ์ และยังปรากฏรายละเอียดของการมาติดต่อเบื้องต้นด้วย โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานที่ได้รับข้อความแจ้งดังกล่าว สามารถเตรียมความพร้อมในการให้บริการล่วงหน้าประชาชนคู่ความ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตามห้องพิจารณาต่างๆ เกี่ยวกับการมาถึงของพยานคู่ความได้ทันที ช่วยอำนวยความสะดวกให้พนักงานอัยการและทนายความในการติดตามพยานได้ทางหนึ่งด้วย ซึ่งผลงานนวัตกรรมนี้ คณะทำงานบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของศาลยุติธรรมประจำจังหวัดกาญจนบุรีได้ร่วมพัฒนา ขณะนี้ศาลจังหวัดกาญจนบุรีกำลังดำเนินการนำร่องเริ่มต้นระบบ ในอนาคตเตรียมขยายถึงศาลพื้นที่ต่างๆ ด้วย พร้อมกับการพัฒนาต่อยอดที่จะนำข้อมูลที่ได้จากบัตรประชาชนมาเก็บในฐานข้อมูลเพื่อสร้างแบบคำร้องขออัตโนมัติ เช่น คำร้องขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวน คำร้องขอปล่อยชั่วคราว คำร้องใบเดียวของจำเลยในการปล่อยชั่วคราวตามนโยบายประธานศาลฎีกา หรือสร้างระบบการตรวจสอบฐานข้อมูลความเกี่ยวข้องของบุคคลนั้นๆ อาทิ ข้อมูลประวัติคดี ข้อมูลหมายจับ ข้อมูลการมีสิทธิได้รับเงินในคดี

และในปี 2563 ต่อเนื่องปี 2564 “สำนักงานศาลยุติธรรม” ยังเตรียมพัฒนาระบบคัดกรอง ตรวจสอบ ยืนยันตัวบุคคล สำหรับผู้ต้องหา-จำเลยในคดีอาญา ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ Biometrics (ไบโอเมทริกซ์) อาทิ การสแกนม่านตา หรือ ไอริส (IRIS CODE) การสแกนนิ้วมือ (Finger Print) ระบบ 4 : 4 : 2 การสแกนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต หรือ Passport) ที่พร้อมจะต่อยอดเชื่อมโยงการตรวจสอบฐานข้อมูลยืนยันตัวบุคคลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดพัฒนาโดยสำนักส่งเสริมงานตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม

นายสราวุธ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการนำสื่อมวลชนมาเยี่ยมชมศาลในพื้นที่พัทยาวันนี้ ว่า เนื่องจากการทำงานของศาลแขวงพัทยาและศาลจังหวัดพัทยา มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากช่วงโควิด คดีที่ยื่นผ่านระบบ e-Filing เพิ่ม 150,000 กว่าคดี และจากเดิมที่ใช้ระบบกระดาษ ตอนนี้มีระบบ CIOS ให้ยื่นคำร้องขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชนและประหยัดเวลาเดินทางมาศาล และยังมีระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ผ่าน Video Call สามารถยืนยันตรวจสอบคนที่เกี่ยวข้องในคดีได้อย่างชัดเจน

ส่วนการทำงานระบบออนไลน์เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทางตำรวจ นายสราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับสำนักงานศาลในงานยื่นคำร้องขอหมายจับ สามารถยื่นผ่านออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการทุกจังหวัดทุกศาล ตำรวจทั่วประเทศยื่นออนไลน์ได้ตลอด ระบบนี้ทำให้เรามีฐานข้อมูลที่เป็นระเบียบระหว่างศาลกับผู้พิพากษา ซึ่งจะเป็นผลดีกับการบังคับใช้กฎหมายและการติดตามจับกุม นอกจากนี้ เมื่อมีการเพิกถอนหมายจับก็จะมีการลงระบบอย่างทันที ในอดีตเราใช้ระบบกระดาษเป็นหนังสือแจ้งเพิกถอนไป ประชาชนอาจจะได้รับความเดือดร้อน เพราะที่ด่านชายแดนยังมีหมายจับค้างอยู่ กรณีนี้เรายังลดความเสียหายได้ด้วย เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาหน่วยงานราชการถูกฟ้องกรณีกระทบสิทธิ์ของประชาชน ฉะนั้นกระบวนการระบบต่างๆ ทำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญ การฝากขังหรือการอ่านคำพิพากษาผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก็ลดความเสี่ยงในการหลบหนีจากที่คุมขัง ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยก็มีส่วนช่วย อย่างการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาที่ผ่านมา การฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนทซ์ช่วยทางเรือนจำดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง และบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่ศาล

นายสราวุธ ยังกล่าวถึงการปล่อยชั่วคราวโดยใช้กำไลข้อเท้า EM ของศาลจังหวัดพัทยา ว่า ศาลจังหวัดพัทยามีการใช้ยื่นขอปล่อยชั่วคราว 80 กว่าคดี ซึ่งการลงพื้นที่ทำให้เห็นปัญหากำไลข้อเท้า หรือ EM มีจำนวนไม่เพียงพอ ทางศาลจังหวัดพัทยาได้ขออุปกรณ์ EM ไปยังศาลส่วนกลาง ตนจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องส่งไปให้ทันที เพื่อให้สิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราว อันนี้เป็นประโยชน์หรือตรงกับนโยบายประธานศาลฎีกาในการดูแลคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลย อุปกรณ์ EM เหล่านี้ช่วยให้ชาวบ้านที่ไม่มีเงินวางประกัน หรือเพียงวางเงินประกันเล็กน้อย ก็สามารถสั่งปล่อยชั่วคราวโดยให้ใส่กำไลข้อเท้า EM ที่สำคัญช่วยลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคมได้ ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมมีนโยบายสั่งปล่อยชั่วคราวไม่เว้นวันหยุด รวมทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ ก็เปิดทำการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น