MGR Online - รมว.ยุติธรรม ยันให้ความสำคัญกับการศึกษาเด็กเยาวชนในสถานพินิจทุกระดับชั้น ควบคู่ทักษะวิชาชีพยกมาตรฐานฝีมือก่อนเข้าทำงานสถานประกอบการ
วันนี้ (31 ก.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เปิดเผยว่า ข้อมูลการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2563 ภาคเรียนที่ 1 มีเด็กและเยาวชนทั้งหมด 6,564 คน ได้รับการลงทะเบียนเรียน 3,868 คน คิดเป็นร้อยละ 58.93 ส่วนเด็กและเยาวชนที่เหลือ คือ กลุ่มที่เข้ามาหลังการปิดลงทะเบียนแล้วแต่จะได้รับการส่งเสริมให้เข้าเรียนทุกราย โดยเป็นการทบทวนและปรับพื้นฐานความรู้เพื่อรอลงทะเบียนในภาคเรียนถัดไป ซึ่งต้องมีการเพิ่มเติมในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ที่ตนให้ความสำคัญเข้าไปด้วย ส่วนในรายละเอียดของการศึกษา กรมพินิจฯ ได้จัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆ คือ 1. การศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบ แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ผู้ไม่รู้หนังสือ, ประถมศึกษา, ม.ต้น และ ม.ปลาย 2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ 3. การศึกษาระดับอุดมศึกษา คือ ระดับปริญญาตรี และระบบ Pre-degree ของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ระบบสัมฤทธิบัตร ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาชีพระยะสั้น เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกับทางสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ ประกอบด้วยหลักสูตรช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้าในอาคาร ช่างซ่อมเครื่องยนต์และช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ โดยขณะนี้มีผู้ที่เข้าฝึกการอบรมและผ่านการอบรมแล้ว 18 คน และมีการฝึกวิชาชีพเพื่อเตรียมเข้าทำงานและฝึกยกระดับฝีมือแรงงานผ่านการฝึกอบรมแล้ว 475 ราย และมีผู้ที่ฝึกวิชาชีพระยะสั้น ภูมิปัญญาท้องถิ่น หลักสูตรมี 7 ประเภท ได้แก่ ช่างอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ศิลปกรรม คหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ บันเทิงและดนตรี และประเภทกีฬา มีผู้เข้ารับการอบรม 9,063 คน ผ่านการอบรม 8,778 คน
“ผมให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กและเยาวชน แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานพินิจ แต่ก็ยังจำเป็นต้องเรียนเพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะต่างๆ ให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต สำหรับกรณีของเด็กและเยาวชนที่ได้รับการปล่อยตัวแต่ยังอยู่ในระหว่างการเรียนกับทาง กศน. กรมพินิจฯจะดำเนินการนัดหมายให้เยาวชนทำงานให้ครบหลักสูตร และติดตามกลับมาสอบไล่ ที่ศูนย์ฝึก หรือกรณีที่บางคนไม่สะดวกจะมีการประสานกับทาง กศน. ในภูมิลำเนาของเยาวชน เพื่อให้เขาได้รับการเรียนอย่างต่อเนื่อง และเข้ารับการสอบเพื่อเลื่อนระดับต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว