ศาลอาญารับฟ้องคดี “ดร.เซปิง” กับพวก 1 ราย โฆษณาชักชวนเหยื่อทำศัลยกรรมใบหน้า“เฟซออฟ” ฐานฉ้อโกงประชาชน แต่สถานพยาบาลและผู้ขอใบอนุญาตไม่มีส่วนรู้เห็นให้ยกฟ้อง โดยศาลนัดสอบคำให้การ 19 ต.ค.นี้
วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำ อ.742/2562 ที่ น.ส.กนกวรรณ แสงอรุณ โดยมี น.ส.สายชล ศรีสุข ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.เซปิง ไชยศาส์น, นายบทมากร วัฒนะนนท์, บริษัท เอ็ม เอฟ เซอร์เจอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด และ นายกมล พันธ์ศรีทุม เป็นจำเลยที่ 1-4 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550, พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525, พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จากกรณีร่วมกันประกอบธุรกิจโครงการศัลยกรรม “เฟซออฟ”
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันประกอบธุรกิจโครงการเฟซออฟ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสถานพยาบาล จำเลยที่ 4 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลดังกล่าว โจทก์ระบุจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงโจทก์และประชาชน โฆษณาโครงการเฟซออฟศัลยกรรมอย่างปลอดภัยและต้องไร้รอยแผลเป็นความจริงแล้วจำเลยหาได้มีความสามารถทำศัลยกรรมผ่าตัดใบหน้าให้ได้ผลลัพธ์ตามที่กล่าวอ้าง โดยหลังทำศัลยกรรมกับโครงการ ใบหน้าของโจทก์ผิดรูป มีรอยแผลเป็นน่าเกลียด
และบวมช้ำเกินร้อยละ 10
ศาลเห็นว่า โจทก์ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเฟซออฟจากการโฆษณาชักชวนของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการโครงการ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงสถานพยาบาล ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 3-4 มีส่วนรู้เห็นหรือกระทำการใดๆ ให้โจทก์ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ในส่วนของจำเลยที่ 3-4 จึงไม่เกี่ยวข้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามฟ้องจึงไม่มีมูล แต่จำเลยที่ 1-2 มีพฤติการณ์ร่วมกันชักจูงให้โจทก์และประชาชนโอนเงินเพื่อทำศัลยกรรมกับโครงการ โดยเสนอส่วนลดให้เป็นพิเศษ รับรองว่าจะไม่มีรอยแผลเป็น พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีมูล เมื่อการโฆษณาของจำเลยที่ 1-2 มีมูลฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จึงมีมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยอีกกระทงหนึ่ง
ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525, พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1-2 มิใช่แพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3-4 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาของจำเลยที่ 1-2 พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีการกระทำอันจะเข้าลักษณะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ในฟ้องสองข้อหาดังกล่าวจึงไม่มีมูล แต่จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้สถานพยาบาลจำเลยที่ 3 เป็นสถานที่ถ่ายทำ และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล โฆษณาใช้ข้อความที่มีลักษณะเกินจริง จำเลยทั้งสี่จึงมีมูลความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และประทับฟ้องจำเลยทั้งสี่ในความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยศาลนัดพร้อมเพื่อ สอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยาน วันที่ 19 ต.ค. 2563 เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้เป็นเพียงการอ่านคำสั่งศาลหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์เท่านั้น หลังจากนี้ฝ่ายโจทก์-จำเลยจะนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสู้คดีต่อไป