MGROnline - “เสี่ยเบนซ์” เมาชน “รอง ผกก.ตี๋” เสียชีวิต ขอให้ศาลไม่รอการลงโทษ แม้ชดใช้ครอบครัว-ดูแลบุตรผู้ตายแล้ว 45 ล้าน
จากกรณีศาลจังหวัดตลิ่งชันมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ 1839/2562 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี 5 ยื่นฟ้องนายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ อายุ 56 ปี เสี่ยเจ้าของธุรกิจผลิตและประกอบอะไหล่รถยนต์ เป็นจำเลยในฐานความผิดขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด, ขับรถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย, ขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส รวม 3 ข้อหา
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 เวลาประมาณ 23.30 น. ตร.สน.ศาลาแดง ได้รับแจ้งว่ามีเหตุรถยนต์ชนกัน ที่ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวงและเขตทวีวัฒนา เมื่อได้ออกตรวจที่เกิดเหตุพบรถยนต์เบนซ์ ทะเบียน บฮ 789 กทม แต่ขณะนั้นไม่พบตัวคนขับเนื่องจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิได้นำตัวส่งโรงพยาบาลธนบุรี 2 เพราะได้รับบาดเจ็บ ส่วนที่เกิดเหตุพบ พ.ต.ท.จตุพร งามสุชวิชชากุล รอง ผกก.สอบสวน กก.2 บก.ป. เสียชีวิตอยู่ในรถยนต์ยี่ห้อซูซูกิ สวิฟท์ ทะเบียน 2 กก 3653 และทราบจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ว่ายังมีนางนงนาฏ งามสุวิชชากุล ภรรยา และบุตรสาวอายุ 12 ปีซึ่งนั่งโดยสารมาด้วยได้รับบาดเจ็บ แต่ต่อมานางนงนาฏเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
ภายหลังทราบว่า นายสมชายได้ขับรถเบนซ์วิ่งมาจากถนนพุทธมณฑลสาย 3 จะไปทางถนนพุทธมณฑลสาย 2 เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก ได้ขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของ พ.ต.ท.จตุพร ที่วิ่งมาจากถนนพุทธมณฑลสาย 2 กำลังมุ่งหน้าไปถนนพุทธมณฑลสาย 3 จึงได้พุ่งชนกันอย่างแรง เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้ง 2 คันได้รับความเสียหาย และ พ.ต.ท.จตุพร เสียชีวิต และจากการสอบสวนทราบว่าคืนเกิดเหตุ นายสมชายได้ดื่มเบียร์มาจากสนามไดรฟ์กอล์ฟ แขวง-เขตทวีวัฒนา กระทั่งเวลาประมาณ 23.30 น.ได้ขับรถเบนซ์คันเกิดเหตุชนกับรถของผู้ตาย และเมื่อได้ทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 260 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
จำเลยให้การสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้มีการสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา โดยให้พนักงานคุมประพฤติรายงานผลการสืบเสาะนั้นให้ศาลทราบภายใน 15 วัน ระหว่างนั้น นายสมชายได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 200,000 บาท ขณะที่นายสมชายผู้ก่อเหตุยินยอมเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย 45 ล้านบาท ให้แก่ครอบครัวของนายตำรวจผู้เสียชีวิตซึ่งปัจจุบันคงเหลือเพียงบุตรสาวคนโตและบุตรสาวคนเล็ก
ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ประกอบคำรับสารภาพ รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลย เกี่ยวกับประวัติการศึกษา อาชีพ ครอบครัวแล้ว มีคำพิพากษาเป็นคดีอาญาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.291, 300 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม.43 (2) (4), 67 วรรคหนึ่ง, 152, 157, 160 ตรี วรรคสาม วรรคสี่ อันการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราฯ มาตรา 43 (2) ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ม.160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุก 6 ปี และปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี พร้อมปรับ 100,000 บาท รวมทั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของนายสมชาย จำเลย และสั่งห้ามจำเลยดื่มสุรา-เบียร์ หรือเครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิดด้วย
ส่วนโทษจำคุกจำเลยนั้น ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี กับทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ มีกำหนด 48 ชั่วโมง ภายเวลา 1 ปีตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด
มีรายงานว่า สำหรับคดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลสูงธนบุรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งยื่นอุทธรณ์คดีขอให้ศาลไม่รอการลงโทษนายสมชายจำเลยต่อศาลอุทธรณ์ เนื่องการเมาแล้วขับในประเทศมีอัตรารุนแรงเพิ่มขึ้น รัฐต้องสูญเสียทรัพยากรและทรัพย์สินในการบริหารจัดการต่างๆ อีกทั้งเป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนาน และจำเลยเป็นคนที่มี มีฐานะดี หากรู้ตัวว่าเมาสุราแล้วย่อมมีศักยภาพในการกลับบ้านด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่การขับรถยนต์ในขณะมึนเมาและขับด้วยความเร็วเกินกำหนดจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง การกระทำของจำเลยจึงไม่ควรรอการลงโทษ
ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมาภภ ศาลอาญาตลิ่งชันได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้แล้ว
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจำเลยเมาสุราขณะขับรถโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 260 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์โดยมีข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยซึ่งจำเลยไม่ค้านว่าจำเลยนั่งดื่มเบียร์ตั้งแต่เวลา 19.00-23.00 น.และตามฟ้องว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินกว่า 80 กม. ในขณะเกิดเหตุโดยจำเลยเมาสุราแล้ว จำเลยขับรถล้ำช่องของตนเป็นเหตุให้ชนกับรถของผู้ตายทำให้มีผู้ถึงแก่ความตายถึง 2 คนและได้รับอันตรายสาหัส 1 คน การกระทำของจำเลยนับว่าเป็นอันตราย แก่ผู้ร่วมใช้ถนน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม
แต่หลังเกิดเหตุจำเลยมิได้หลบหนีและยังนำ บุตรสาวของผู้ตายทั้งสองไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเสียค่ารักษาไปประมาณ 1.5 ล้านบาท จำเลยไปร่วมงานศพของผู้ตายทั้งสองและร่วมทำบุญในการปลงศพ 3แสนบาท ชดใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะให้แก่มารดาของผู้ตายที่ 1 จำนวน 2 ล้านบาท และมารดาของผู้ตายที่ 2 จำนวน 1.9 ล้านบาท ชำระหนี้สินของผู้ตายที่ 1 เป็นเงิน 2ล้านบาท ซื้อรถยนต์ใหม่ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ ราคา1.5 ล้านบาท ทดแทนรถคันเดิมที่ประสบอุบัติเหตุ มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรของผู้ตายทั้งสองคนละ 15 ล้านบาท บุตรทั้งสองของผู้ตายผู้ปกครองล้วนแถลงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำของตน
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษ จำคุกมาก่อนมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง และมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว การรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยน่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมยิ่งกว่าการลงโทษจำคุกจำเลย โดยเป็นการให้โอกาสจำเลยในการกลับตัวเป็นพลเมืองดี อุปการะดูแลบุตรของผู้ตายทั้งสองและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ดังที่จำเลยแก้อุทธรณ์มาคำพิพากษาที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยในคดีดังกล่าวนั้น มีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่มีการบรรเทาผลร้ายในการกระทำของจำเลยจนเป็นที่พอใจแก่ฝ่ายผู้ตายดังเช่นคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
หลังจากนั้นอัยการคดีศาลสูงจึงไม่ฎีกา จึงถือว่าคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ถึงที่สุดแล้ว