xs
xsm
sm
md
lg

ก.ต.มีมติเลือก “เมทินี ชโลธร” นั่ง ปธ.ศาลฎีกาคนที่ 46 ส่วน “ปิยกุล บุญเพิ่ม” เป็น ปธ.ศาลอุทธรณ์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา
ก.ต.มีมติเลือก “เมทินี ชโลธร” นั่งประธานศาลฎีกา คนที่ 46 ถือเป็นประมุขตุลาการหญิงคนแรกของศาลยุติธรรม ขณะที่ “ปิยกุล บุญเพิ่ม” เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ส่วน “ไสลเกษ” โยกนั่งผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา

วันนี้ (24 ก.ค.) นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 10/2563 มีวาระการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาตามบัญชีรายชื่อของสำนักงานศาลยุติธรรมระดับตั้งแต่ประธานศาลฎีกาลงมาจนถึงระดับหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และบัญชีผู้พิพากษาอาวุโส โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
โดยบัญชี 1 เลื่อนชั้น 4 เป็นชั้น 5 มีมติตั้ง นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา คนที่ 46 โดยบัญชี 2 เป็นชั้น 4 สับเปลี่ยนตำเเหน่งจำนวน 48 ตำเเหน่ง

โดยมีตำเเหน่งที่น่าสนใจระดับ ประธานศาลอุทธรณ์ เเละรองประธานศาลฎีกาลงมาดังนี้
น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งตามลำดับอาวุโสมีโอกาสที่จะขึ้นประธานศาลฎีกาในวาระต่อไปต่อจาก นางเมทินี ซึ่งตำเเหน่ง ประธานศาลอุทธรณ์ ถือว่ามีความอาวุโสรองลงมาจากประธานศาลฎีกา นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา
นายพศวัจณ์ กนกนาก ประธานแผนกคดีพาณิชย์ เเละเศรษฐกิจในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา
นายนิพันธ์ ช่วยสกุล ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา
นายประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา
นายสรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์ หัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นรองประธานศาลฎีกา
นายเสรี เพศประเสริฐ หัวหน้าคณะในศาลฎีกาเป็นรองประธานศาลฎีกา
นอกจากระดับรองประธานศาลฎีกายังมีตำแหน่งที่น่าสนใจ เช่น

นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี หัวหน้าคณะในศาลฎีกาเป็นประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ซึ่งปัจจุบันเป็น ก.ต.ที่ได้รับเลือกคะเเนนสูงอันดับ 1 นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ขึ้นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขึ้นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นพื้นที่มีความสำคัญคุมจังหวัดสำคัญในภาคเหนือ โดยบัญชีอาวุโสบัญชี 2 จำนวน 85 ตำเเหน่ง และบัญชีอาวุโสสับเปลี่ยนศาล 45 ตำแหน่ง

ส่วนบัญชีอาวุโส ที่น่าสนใจได้แก่ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันไปดำรงตำแหน่ง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาซึ่งได้วางนโยบายไว้ 5 ด้าน ในเรื่องยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา/จำเลย, ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดี, นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม, เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานบุคคล, การสนับสนุนบทบาทของศาลในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหลายโครงการจากนโยบายนี้มีการนำมาใช้ปฏิบัติจริงเเละได้รับความชื่นชม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพการลดภาระคู่ความและการใช้เทคโนโลยี ซึ่งได้รับความชื่นชมจากประชาชน

นอกจากนี้ ยังมี นายบุญชู ทัศนประพันธ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งเป็นอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามา 2 ปี ไปนั่งผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

นายวิบูลย์ แสงชมภู ผู้พิพากษาศาลฎีกาตัวเต็งกรรมการเนติฯสายศาล ไปนั่งผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์
นอกจากนี้ ก.ต.ยังเห็นชอบเเต่งตั้งผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 71 ให้ดำรงตำเเหน่งผู้พิพากษาประจำศาลจำนวน 113 คนตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2563

สำหรับ นางเมทินี ประธานศาลฎีกาคนใหม่ เกิดวันที่ 3 ธ.ค. 2498 อายุ 64 ปี รับราชการเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2524 ปัจจุบันดำรงตำเเหน่งรองประธานศาลฎีกา และเลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา ประวัติการศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการบริหารงานยุติธรรม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เนติบัณฑิต, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ประวัติการทำงาน เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครนายก, ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเขียว, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 4, ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลอุทธรณ์, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา

มีบทบาทสำคัญเป็นประธานที่ปรึกษาฯและประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนเเละนโยบายด้านอื่นๆ ของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา หลายคณะทำงาน เคยนำคณะผู้พิพากษาลงพื้นที่เรือนจำนำร่องเพื่อนำคำร้องใบเดียวให้ผู้ต้องหาและจำเลยได้ทราบถึงสิทธิการประกันตัว และนโยบายด้านสิทธิมนุษย์ชนขั้นพื้นฐานหลายอย่าง รวมถึงยังเป็นเลขาธิการเนติบัณฑิตยสภาคนปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น