“เบนซ์ เรซซิ่ง” ขอศาลปลดกำไลข้อเท้าจริง ชี้แจงเป็นอุปสรรคในการใส่ชุดแข่งรถที่ออกแบบเพื่อความปลอดภัย การเดินทางไปต่างจังหวัด และมีปัญหาอุปกรณ์แบตเตอรี่อ่อน ศาลเห็นความจำเป็นจึงอนุญาตให้ปลดตั้งแต่ปลายปี 62
เมื่อเวลา 17.30 น. วันนี้ (25 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วิภาวดี ได้จับกุม นายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือ เบนซ์ เรซซิ่ง อายุ 33 ปี กับพวกรวม 7 คน ขณะกำลังขี่รถจักรยานยนต์ขับตามกันมา จำนวน 7 คัน บริเวณหน้าโรงแรมรามาการ์เด้นส์ ในช่องทางด่วน ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา สามารถยึดจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นฟอร์ซ่า สีเทา ทะเบียน 8 กษ 985 กทม. ติดสติกเกอร์ว่า “เบนซ์ เรซซิ่ง” จักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นเอ็กซ์แม็กซ์ สีดำคาดเทา ทะเบียน 9 กบ 2532 กทม. จักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นทีแม็กซ์ สีขาวทะเบียน อฬบ 777 กทม. จักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นทีแม็กซ์ สีดำ ทะเบียน 4 กม 51 กทม. จักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นเอ็กซ์แม็กซ์ สีขาวดำ ทะเบียน 9 กต 51 กทม. และจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นเอ็กซ์แม็กซ์ สีบรอนซ์เทา ไม่มีทะเบียนไว้เป็นของกลาง ดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง
ซึ่ง นายอัครกิตติ์ ให้การปฏิเสธข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน และยังได้ชี้แจงสื่อมวลชนประเด็นที่ไม่ได้ใส่กำไลข้อเท้า หรืออุปกรณ์ EM ซึ่งเป็นเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวในคดีที่ถูกศาลอาญาพิพากษา จำคุก 8 ปี ในคดีร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หมายเลขดำ อย.2201/2560 ว่าได้รับการอนุญาตจากศาลให้ถอดกำไลข้อเท้า หรือ อุปกรณ์ EM แล้ว
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากศาลแล้ว ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุวันนี้ นายอัครกิตติ์ ซึ่งเคยได้รับการประกันตัวคดีฟอกเงินที่ศาลอาญาจำคุกเป็นเวลา 8 ปี และได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดีจำนวน 1 ล้านบาท พร้อมการติดกำไลข้อเท้า หรืออุปกรณ์ EM ได้มายื่นคำร้องขอปลดกำไลข้อเท้า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2562 ให้เหตุผลว่า ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เพราะต้องทำงานโดยการแข่งรถที่ถือเป็นอาชีพหนึ่งของตน ซึ่งได้รับค่าตอบแทนจากค่ายรถโดยกำไลข้อเท้าเป็นอุปสรรคในการใส่ชุดแข่งที่ออกแบบเพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะ อีกทั้งการสวมกำไลข้อเท้า ทำให้มีอาการเจ็บบริเวณข้อเท้าจากการกดทับเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งพบว่าตัวเครื่องอุปกรณ์ EM มีปัญหาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ ประกอบกับต้องเดินทางไปต่างจังหวัด บางครั้งติดต่อกันหลายสัปดาห์ ซึ่งด้วยข้อบังคับและกฎดังกล่าว ทำให้ตนไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ โดยการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวต้องใช้เวลานานแต่หากปลดอุปกรณ์ EM ดังกล่าวแล้ว จะทำให้สามารถเดินทางด้วยเครื่องบิน ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางตลอดปีจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยังต้องไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติมที่ ม.รามคำแหง ส่วนหลักประกันที่ใช้เป็นหลักทรัพย์นั้น มีมูลค่ามากกว่าวงเงินประกันของศาลที่ตีราคาพอสมควร และตนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยศาลพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า นายอัครกิตติ์ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และหลักประกันมีมูลค่าเพียงพอที่จะบังคับคดี หากเกิดกรณีผิดสัญญาประกันจึงอนุญาตให้ปลดกำไลอีเอ็ม โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อศาลทุก 2 เดือนแทน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ครบกำหนดการรายงานตัวครั้งล่าสุด แต่นายอัครกิตติ์ไม่ได้มาตามนัด โดยวันนี้ (25 มิ.ย.) ทนายความได้มายื่นคำร้องต่อศาลมาขอเลื่อนการรายงานตัว ซึ่งยังไม่ปรากฏว่า ศาลมีคำสั่งอย่างไร ดังนั้น จะต้องติดตามคำสั่งอีกครั้งว่ากรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายการผิดเงื่อนไขประกันตัวหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สำหรับ นายอัครกิตติ์ นั้น เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2561 ถูกศาลอาญาพิพากษา จำคุก 8 ปี ในคดีร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หมายเลขดำ อย.2201/2560 ต่อมาได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยศาลตีราคาประกันหลักทรัพย์ 44 ,369,280 บาท และให้ติดอุปกรณ์ EM ที่เป็นกำไลข้อเท้า และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาต