xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ร้อง ยธ.รื้อคดี “วัฒนา อัศวเหม” ทุจริตคลองด่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย หิ้วเอกสารขอ กระทรวงยุติธรรม รื้อฟื้นคดีอาญา นายวัฒนา อัศวเหม ทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หลัง ป.ป.ช. ตีตกไม่พบหลักฐานว่ากระทำผิด

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอรื้อฟื้นคดีอาญาของ นายวัฒนา อัศวเหม เนื่องจากมีหลักฐานใหม่ที่เป็นเงื่อนไขสามารถขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขาฯ รมว.ยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่อง

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก นายวัฒนา ก่อนหน้านี้เคยยื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามทวงถามหนังสือที่ นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ที่เคยร้องขอโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามนโยบายสมานสามัคคีของนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2559 และขอการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ โดย นายวัฒนา ยืนยันมาตลอดว่า มีพยานหลักฐานใหม่และถูกใส่ความ สามารถพิสูจน์ได้ว่าคำเบิกความของพยานในคดีเดิมนั้นเป็นเท็จ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบในสมัยดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย เพื่อบังคับให้สภา อบต.คลองด่าน ประชุมให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยสามารถรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ เนื่องจากมีหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)​ ยืนยันว่า มูลเหตุของคดีที่ถูกกล่าวหา ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหาจึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ 2526 ประกอบระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ 2560 การขอรื้อฟื้นคดีอาญาเพื่อขอพิจารณาใหม่นั้น สามารถทำได้หากเข้าเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 ข้อ คือ 1. คำเบิกความของพยานในคดีเดิมนั้นเป็นเท็จ หรือ 2. พยานหลักฐานเดิมปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ 3. มีพยานหลักฐานใหม่ ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ โดยที่พยานหลักฐานนั้นๆ มิได้มีการกล่าวอ้างหรือใช้นำสืบในคดีเดิม และต้องไม่ใช่เป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ก่อนแล้ว และผู้ร้องทราบดี เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านที่อยู่ในที่เกิดเหตุแต่มิได้นำมาสืบในคดีเดิม โดยพยานหลักฐานใหม่นั้นมีความสำคัญมากพอจะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาคดีเดิม เช่น คดีเดิมฟ้องผิดตัวหรือถูกใส่ความ เป็นต้น

ทั้งนี้ การรื้อฟื้นคดีดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายผู้ต้องรับโทษ หรือผู้สืบสันดาน หรือผู้รับมอบฉันทะจะต้องยื่นคำร้องให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาดำเนินการ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะมีคณะกรรมการพิจารณารับคำร้องขอการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และกรรมการอื่นอีก 10 คน ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาตามคำขอได้ โดยคณะกรรมการจะพิจารณาว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานการขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์หรือไม่

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต เผยว่า เบื้องต้นรับหนังสือไว้ จากนั้นเสนอ รมว.ยุติธรรม พิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น