MGR Online - รมว.ยุติธรรม ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ สร้างอาชีพผู้ต้องขังเฉพาะด้าน เล็งพื้นที่โมเดลภาคตะวันออก หลังพบวิกฤตขาดแรงงาน
วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 1 ชั้น 9 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) พร้อมด้วยนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทาง ออกแบบโครงสร้าง และการบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรม เพื่อแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง หรือนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ โดยมีอดีตราชการระดับสูง ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าร่วม
นายสมศักดิ์กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเริ่มต้นแนวคิดมาจากการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกที่มีจำนวนมากถึง 380,000 ราย ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเดินหน้าแก้ไขไปแล้วบางส่วน โดยการสร้างเรือนนอนสองชั้นเพื่อลดความแออัดในการนอน ขณะนี้การจัดซื้อกำไลอีเอ็มเพิ่งกำลังจะแล้วเสร็จถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยได้อีกทาง แต่สิ่งที่ตนเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อผู้ต้องขังออกจากเรือนจำแล้วไม่สามารถหางานทำได้ก็จะกลับไปกระทำผิดซ้ำ ชีวิตจึงวนเวียนอยู่แค่นี้ และพบว่าผู้ต้องขังออกไป 3 ปีจะกลับเข้ามาเรือนจำประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งเมื่อตนได้ไปตรวจงานที่จ.นราธิวาส พบโครงการนำร่องชุมชนกาลาตาแป จึงหาทางต่อยอดเพื่อให้ผู้ต้องขังได้ฝึกอาชีพเฉพาะด้าน ทั้งเรื่องเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เมื่อออกจากเรือนจำจะได้มีความสามารถเฉพาะด้าน ทำให้ผู้ต้องขังเหล่านี้มีงานทำ มีที่ยืนในสังคม เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และจากนี้ไปตนจะพยายามพัฒนาแม้รู้ว่ามันยากแต่ต้องทำให้สำเร็จเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแก้ปัญหาทางสังคม
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมเห็นควรตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษารูปแบบนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ คาดใช้เวลา 3-6 เดือน และจ้างมหาวิทยาลัยมาศึกษาการบริหารจัดการต่างๆ เพื่อหาข้อบกพร่อง โดยมีเกณฑ์คัดเลือกผู้ต้องขังต้องเป็นนักโทษชั้นดีเยี่ยม กำหนดพ้นโทษไม่เกิน 2 ปี ซึ่งมีจำนวนกว่า 6.7 หมื่นราย แต่ช่วงเริ่มโครงการคัดเลือกเข้าร่วมประมาณ 3,000 คน ส่วนพื้นที่ในการก่อสร้าง งบประมาณ หรือการพูดคุยกับภาคธุรกิจ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา รวมถึงการทำฐานข้อมูลของแรงงานว่ามีอะไรที่ยังขาด เพื่อการผลิตแรงงานออกมาจะได้ไม่ล้นตลาดจนเกิดการว่างงานซ้ำ การวางนิคมอุตสาหกรรมในแต่ละภาคให้เหมาะสมกับภูมิภาค การจัดคนฝึกสอนอาชีพให้เพียงพอ การบริหารจัดการให้ยั่งยืนนั้นจะทำอย่างไร การสร้างทัศนคติใหม่ในการมองนักโทษเมื่อพ้นโทษกลับออกไปสู่สังคม
“ทำไมเราต้องปลูกผักปลูกหญ้า ทำไมต้องมาเลี้ยงหมู ไก่ ปลา เพราะตอนนี้กรมราชทัณฑ์ซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้ผู้ต้องขังกิน ใช้งบต่อปี คือ 4,000-5,000 ล้านบาท หากเราปลูกเองก็อาจช่วยลดงบประมาณตรงส่วนนี้ได้บ้าง แต่จากนี้ยังคงต้องดูว่าเรือนจำใดอยู่ใกล้แหล่งน้ำบ้าง เพื่อจะได้วางแผนในการปลูกว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีผลผลิตที่สม่ำเสมอ เราจะเริ่มต้นโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ที่ภาคตะวันออกเพราะตรงจุดนั้นเป็นจุดที่ขาดแรงงาน ขอยืนยันให้ญาติพี่น้องของผู้ต้องขังทราบว่าเราตั้งใจที่จะทำให้ผู้ต้องขังมีอาชีพที่ยั่งยืน มีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อพ้นโทษออกจากเรือนจำและไม่กลับเข้าสู่เรือนจำแบบวนเวียนอีก” รมว.ยุติธรรมกล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการตั้ง ดร.โฆสิต สุวินิจจิต เป็นประธานอนุกรรมการศึกษาเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ โดยมีตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นคณะอนุกรรมการ ส่วนคณะที่ปรึกษาอนุกรรมการจะมีนายศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นางอัญชลี ชวณิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร