xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.นำร่อง 135 ชุมชน 10 จังหวัด เป็นพื้นที่ปลูกกระท่อมมุ่งเน้นการแพทย์-เศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - เลขาธิการ ป.ป.ส.แจงคืบหน้าการปรับนโยบายพืชกระท่อม เตรียมโครงการศึกษาครบวงจรเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ

วันนี้ (7 มิ.ย.) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) กล่าวว่า กระท่อมเป็น 1 ใน 4 ตัวยาเสพติด ที่สำนักงาน ป.ป.ส.ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดของโลก ค.ศ. 2016 (UNGASS 2016) ซึ่งประเทศสมาชิกพร้อมให้ความสำคัญ แยกระหว่างสิ่งที่เป็นประโยชน์และโทษ พืชกระท่อมหากมีการศึกษาวิจัย จะนำไปสู่การพัฒนา ซึ่งในต่างประเทศจะพบว่าพืชกระท่อมมีประโยชน์นานาประการ ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นกันได้มีการผลักดันการปรับแก้กฎหมายเพื่อถอดพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติด ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายนิยมกล่าวอีกว่า ขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ส.ร่วมกับหน่วยภาคี มีการดำเนินการที่ควบคู่ไปกับการปรับแก้กฎหมายพืชกระท่อม คือจัดทำพื้นที่ทดลองบริหารจัดการพืชกระท่อม โดยที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 63 ได้เห็นชอบในหลักการการกำหนดพื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้านชุมชน 10 จังหวัด เพื่อเตรียมการรองรับการประกาศเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้เสพและครอบครอง พืชกระท่อม ตามมาตรา 58/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามร่างกฎกระทรวง โดยคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนสิงหาคม 2563 และล่าสุดสำนักงาน ป.ป.ส.ได้รับอนุญาตครอบครองต้นกระท่อม ตามมาตรา 26/3 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าว คู่ขนานรองรับการปรับแก้กฎหมายถอดพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดอีกทางหนึ่ง

“สำนักงาน ป.ป.ส.ยังได้เตรียมโครงการศึกษาพืชกระท่อมอย่างครบวงจร โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเพื่อศึกษาประโยชน์ของพืชกระท่อมทั้งด้านการแพทย์ ควบคู่กับเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องการให้มีการศึกษาพืชกระท่อมสู่พืชเศรษฐกิจบนพื้นฐานชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือเรื่อง การเพาะปลูก การนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ตลาดพืชกระท่อมเพื่อการส่งออก และการควบคุมการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับ ความต้องการของตลาด เพื่อให้ประชาชน เกษตรกรได้ประโยชน์สูงสุด” เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าว

นายนิยมกล่าวต่อว่า กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส.ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการรองรับการปรับแก้กฎหมายพืชกระท่อมให้เหมาะสมกับสถานการณ์และครอบคลุมทุกมิติ คือ มิติด้านสาธารณสุข มิติด้านกฎหมาย มิติด้านเศรษฐกิจ และมิติด้านสังคม จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้าน รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้มีความเข้าใจ สำนักงาน ป.ป.ส.จึงได้เตรียมการร่วมกับมหาวิทยาลัยจัดทำโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางนำร่องสำหรับการส่งเสริมพืชกระท่อมในการเป็นพืชที่มีมาตรการที่ครอบคลุม ทั้งด้านการส่งเสริมคุณประโยชน์ และด้านการป้องกัน และป้องปรามในกรณีที่จะก่อให้เกิดโทษ

“ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนได้เข้าใจในเจตนารมณ์ เพราะแม้พืชกระท่อมจะมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษหากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ การปรับแก้กฎหมายปรับพืชกระท่อมดังกล่าว จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการใช้หรือเสพพืชกระท่อมอย่างเสรี แต่ต้องมีการกำหนดกฎและเกณฑ์ในการกำกับดูแลอย่างรัดกุมด้วย ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ ซึ่งหากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมและยาเสพติด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ป.ป.ส. โทร.1386 ตลอด 24 ชั่วโมง”




กำลังโหลดความคิดเห็น