xs
xsm
sm
md
lg

ตร.แถลงรวบ 9 มือปล่อยข่าวปลอม เผยหลัง จนท.เอาจริงสถิติการกระทำผิดลดฮวบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ศปอส.ตร.แถลงผลจับกุมผู้แชร์ข่าวปลอม 9 ราย เผยหลัง จนท.จับกุมดำเนินคดีจริงจัง สถิติการกระทำผิดลดฮวบ เตือนประชาชนตรวจสอบข้อมูลให้ชัวร์ทุกครั้งก่อนแชร์

วันนี้ (5 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.ขส. บช.ปส. หัวหน้าชุดประสานความร่วมมือกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือแถลงผลการปราบปรามผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และการดำเนินการโดยการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในห้วงระหว่างวันที่ 25 พ.ค.ถึง 5 มิ.ย. ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-fake news center ในห้วงวันที่ 25 พ.ค. - 5 มิ.ย. ที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อประเทศ มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ 9 รายด้วยกัน

พล.ต.ต.พันธนะ กล่าวว่า รายที่แรกจับกุม นางฉวีวรรณ (ขอสงวนนามสกุล) ที่ได้โพสต์เฟสบุ๊คว่ามีหญิงป่วยหนักโควิด-19 ล้มกลางห้างดังเมืองระยอง ได้ที่จ.ระยอง รายที่ 2 จับกุม นายศรไกร (ขอสงวนนามสกุล) ที่โพสต์เฟซบุ๊กว่า กระเทียมไทยช่วยต้านโควิด-19 ได้ที่ จ.สุพรรณบุรี รายที่ 3 จับกุม น.ส.อฤทธิสา (ขอสงวนนามสกุล) ที่โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขิง น้ำกระชาย ผสมน้ำผึ้งมะนาว ช่วยต้านโควิด-19 ได้ที่จ.ชลบุรี ส่วนอีก 6 ราย ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน คือ รัฐหลอกให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเพื่อจะเรียกเก็บภาษี ได้ที่ จ.อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด , นครราชสีมา, สมุทรปราการ, ลำปาง และนครศรีธรรมราช

จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดรับสารภาพว่า เป็นผู้โพสต์ข่าวปลอมดังกล่าวจริง แต่ไม่ทราบว่าข้อมูลที่ได้รับมาเป็นข่าวปลอม ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด พร้อมกับยืนยันว่าจะตรวจสอบข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดก่อนที่จะโพสต์

พล.ต.ต.พันธนะกล่าวอีกว่า ฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการโพสต์หรือแชร์ข้อมูลต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ขอให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารก่อนทุกครั้ง เพราะอาจจะถูกดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เน้นจับกุมเฉพาะผู้ที่สร้างหรือแชร์ข่าวปลอมคนแรกๆ ไม่ได้จับกุมผู้ที่ส่งต่อ ทั้งนี้ หลังมีการดำเนินคดีอย่างจริงจังกับผู้สร้างข่าวปลอมตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีผู้กระทำความผิดสร้างข่าวปลอมลดลงอย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น