รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563 ตอน เปิดบันทึกหมอ ทีมสู้ไวรัสฯ ทยอยเปิดเมืองเพื่อชาติ
ข้อเสนอจากคณะนายแพทย์ กลุ่มซึ่งเป็นทัพหน้าทำศึกสู้กับไวรัสโควิด-19 ข้อเสนอนี้ได้ข้อสรุปหลังจากการศึกษาสถานการณ์ควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส และได้เสนอแนวทางเป็นมาตรการในการบริหารสถานการณ์ทางสังคมในช่วงต่อไป
มีความน่าสนใจมาก และจะเป็นผลต่อการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 หลังจากนี้ ซึ่งถือเป็นเฟดสองของการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ของศบค.
การศึกษาของกลุ่มแพทย์ ได้ชี้ว่าในขณะนี้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยไทยมีแนวโน้มดีขึ้น มาตรการกึ่งล๊อคดาวน์ ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันมีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง
แต่การใช้มาตรการนี้โดยครอบคลุมทุกจังหวัดทั้งประเทศ มีต้นทุนสูงทางเศรษฐกิจและสังคม ควรดำเนิการเพียงชั่วคราวในระยะเวลาจำกัด เท่าที่เป็นประโยชน์
หากเนิ่นนานโดยไม่จำเป็นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรที่มีรายได้น้อย มีหนี้สินครัวเรือนสูง ทำให้เกิดการตกงาน5ถึง7ล้านคน สร้างความกดดันทางจิตใจ และอาจกระทบกับเสถียรภาพของครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม
รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงมาก ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
หลายประเทศที่กำลังใช้มาตรการล๊อคดาวน์ ในการแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ต่างเริ่มหาทางออกที่จะดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไปอย่างได้ผล พร้อมกับการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและผ่อนคลายความตึงเครียดในสังคม
โดยตระหนักว่า การแพร่เชื้อจะยังไม่ยุติโดยสิ้นเชิง ยังมีโอกาสจะเกิดการติดเชื้อต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคมาใช้อย่างเพียงพอ
ในการพิจารณาทางออกากล๊อคดาวน์ มีฉากทัศน์ทางเลือกที่สำคัญ 2 แนวทาง สำหรับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้แก่
ฉากทัศน์ที่หนึ่ง คือการทำให้ประเทศปลอดจากเขื้อโควิด-19 โดยการปิดเมืองหรือล๊อคดาวน์เป็นระยะยาว เช่น สองหรือสามเดือน และทำการค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการแบบเคาะประตูบ้าน มาแยกรักษา
แต่การทำแบบนี้ได้ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล และต้องใช้บริบททางสังคมการเมืองที่สามารถบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มแข็งได้ ในขณะเดียวกันก็จะมีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงมาก
ทางเลือกนี้ไม่เหมาะที่จะทำทั้งประเทศ แต่อาจนำมาใช้ในพื้นที่หรือชุมชนเล็กๆที่มีการติดเชื้อสูง ดังนั้น ความคิดที่ว่าคนไทยทั้งประเทศควรยอมทนเจ็บครั้งเดียว เป็นเวลาสักสามเดือน ให้จบปัญหาโควิด-19 แล้วกลับไปมีชีวิตปกติ จึงไม่อาจเป็นจริงได้
ฉากทัศน์ที่สอง คือการยอมรับว่าเราไม่สามารถหยุดการแพร่ของเชื้อโควิด-19 ได้ แต่เราสามารถควบคุมให้มีการแพร่ในระดับที่ต่ำ ( low transmission) มีการสูญเสียชีวิตน้อย เพราะโรงพยาบาลรองรับได้ทัน
ในขณะเดียวกันก็เริ่มเปิดให้ผู้คนทำมาหาเลี้ยงชีพ ทำธุรกิจ ทำการผลิด นักเรียนได้เรียนหนังสือ คนได้ทำงาน และสังคมไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาที่สมดุลย์ทั้งการควบคุมโรคและการประกอบกิจการและกิจกรรมต่างๆ เป็นการกลับสู่ชีวิตปกติแต่ด้วยวิถีแบบใหม่ (New Normal)
ฉากทัศน์นี้จะสามารถทำให้เป็นจริง และเกิดขึ้นได้
คณะแพทย์มีความเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการกึ่งล๊อคดาวน์ ไปสู่มาตรการสร้างเสถียรภาพ ควรต้องเตรียมตัวและให้มั่นใจว่า มาตรการที่สำคัญยังคงอยู่ ไม่เปลี่ยนผ่านแบบรวดเร็ว
มีข้อเสนอว่า ควรดำเนินการโดยเริ่มจากจังหวัดกลุ่มแรกที่ไม่พบผู้ป่วยในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (ประมาณ 32 จังหวัด) สามารถเริ่มได้ในต้นเดือนพฤษภาคม หรืออาจนำร่องทดลองปลายเดือนเมษายนสักสามหรือสี่จังหวัด
หลังจากนั้นจึงเริ่มในกลุ่มที่สองคือจังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย (ประมาณ 38 จังหวัด) ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม สำหรับกลุ่มที่สามคือจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อน (ประมาณ ๗ จังหวัด)
หากจังหวัดเหล่านี้สามารถลดการระบาดลงมาได้ในระดับต่ำตามเกณฑ์ และไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ก็ควรให้เริ่มเปลี่ยนผ่านได้ในต้นเดือนมิถุนายน หรืออาจเริ่มก่อนหน้านั้นได้ หากควบคุมสถานการณ์ได้ดี
ในบทสรุป ระบุว่าผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ก่อนจะถึงเวลาที่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิค-19 ประเทศไทยจะสามารถควบคุมให้มีการติดเชื้อโควิด-19 ในระดับต่ำ มีผู้เสียชีวิต จำนวนไม่มาก
ในขณะที่ประชาชนสามารถเริ่มทำงานประกอบอาชีพได้ ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมและประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่
ข้อเสนอจากคณะแพทย์ และสถิติที่สะท้อนออกมาทุกวัน จะเป็นตัวนำในการตัดสินใจ ว่าจะเลิกปิดเมืองหรือผ่อนคลายสถานการณ์ได้แค่ไหน