รองโฆษก อสส.เเถลงคดีฝ่าฝืน “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” พุ่ง 4,000 คดี จำเลย 5,000 กว่าคน หลังประกาศเคอร์ฟิว ข้อหาออกนอกเคหสถานมากที่สุด เผย อสส.กำชับให้ฟ้องเฉียบขาดลงโทษสถานหนัก ส่วนพวกแอบขายเหล้า-เบียร์ นอกจากฟ้องลงโทษแล้วยังขอให้ศาลสั่งหยุดประกอบอาชีพได้
วันนี้ (10 เม.ย.) นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 และรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวภาพรวมการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ระหว่างวันที่ 3-9 เม.ย. 2563 และการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการหาแนวทางปฏิบัติในการใช้มาตรการพิเศษสำหรับเด็กและเยาวชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
นายประยุทธเปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป และได้ออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 2) โดยห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่จะเป็นกรณีได้รับการยกเว้นตามประกาศตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป โดยหลักการการออกข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อเป็นมาตรการสำคัญในการที่จะแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้มาตรการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนด
ทั้งนี้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้มีหนังสือแจ้งให้อัยการทั่วประเทศดำเนินคดีเฉียบขาดต่อผู้ที่ฝ่าฝืนทั้งมั่วสุม เช่น การมั่วสุมเล่นการพนัน การมั่วสุมในร้านอาหารหรือสถานบันเทิงตลอดจนการออกนอกเคหสถาน การกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค และจำหน่ายสินค้าเกินราคาควบคุม เช่น หน้ากากอนามัย ไข่ไก่ หรือสินค้าจำเป็นในครัวเรือน เป็นต้น การฉ้อโกงหรือหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้ง การส่งข้อความอันเป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นความผิด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลให้มาตรการที่รัฐบาลกำหนดเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินคดีตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายกรณีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้
1. ภาพรวมการดำเนินคดีการดำเนินคดีของพนักงานอัยการทั่วประเทศ จากการรวบรวมข้อมูลคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ช่วงระหว่างวันที่ 3-9 เม.ย. ที่ผ่านมาโดยได้รายงานผลรายงานผ่านสารบบคดีอิเล็กทรอนิกส์ โดยนายรัชต์เทพ ดีประหลาด ผอ.สำนักงานบริหารกิจการสำนักงานอัยการสูงสุด และ นางณฐนน แก้วกระจ่าง ผอ.สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รวบรวมข้อมูลสิ้นสุด วันที่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 09.00 น. ปรากฏจำนวนคดีและผู้กระทำความผิด ดังนี้ คดีที่ฟ้องทั้งหมดจำนวน 4,138 คดี ผู้ต้องหา 5,264 คน แบ่งเป็น เพศชาย 4,054 คน เพศหญิง 1,210 คน ช่วงอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 91 คน อายุ 18-20 จำนวน 470 คน อายุกว่า 20-35 ปี จำนวน 2,537 คน อายุกว่า 35-55 ปี จำนวน 1,764 คน อายุ 55 ปีขึ้นไป จำนวน 402 คน ข้อหาที่ฝ่าฝืนมากที่สุดคือ การออกนอกเคหสถาน
2. สำนักงานอัยการสูงสุดและกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม หารือแนวทางปฏิบัติในการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องสำหรับคดีที่เด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องในคดี ที่มีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา นายวงศ์สกุล อัยการสูงสุด นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และนางอุษนีย์ ธรรมสุนทร อธิบดีอัยการสำนักงานเยาวชนและครอบครัว และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งสองหน่วยงาน ได้ร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติในการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้อง สำหรับคดีที่เด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อหาแนวทางบูรณาการในการปฏิบัติของทั้งสองหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ
3. การบังคับใช้มาตรการวิธีการเพื่อความปลอดภัยของพนักงานอัยการทั่วประเทศ สำหรับคดีที่มีการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากพนักงานอัยการจะต้องดำเนินคดีโดยรวดเร็ว เฉียบขาด และขอให้ศาลลงโทษสถานหนักแล้ว นายวงศ์สกุล อัยการสูงสุด ยังได้สั่งการในหนังสือให้พนักงานอัยการทั่วประเทศที่ฟ้องคดีให้มีคำขอต่อศาลบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย การดำเนินคดีที่ผ่านมาพนักงานอัยการได้มีคำขอท้ายฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย พร้อมกับให้ใช้มาตรการวิธีการเพื่อความปลอดภัยด้วย เช่น ศาลจังหวัดพะเยา ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) นอกจากลงโทษ จำคุกและรอการลงโทษจำคุกไว้ แต่ให้ปรับจำเลยพร้อมกับมีคำสั่งมีให้กักกันจำเลยไว้ในเคหสถานมีกำหนด 7 วัน เป็นต้น กรณีดังกล่าวผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยข้างต้นต้องปฏิบัติ หากฝ่าฝืนคำสั่งศาลจะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา196 ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
4. ความคืบหน้าคดีจับกุมบ่อนพนันรายใหญ่ในจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2563 อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรีได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน สภ.นนทบุรี จำนวนผู้ต้องหาทั้งสิ้น 122 คน พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลแขวงนนทบุรีได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดต่อศาลไปในวันเดียวกัน โดยบรรยายขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก ปรากฏว่าจำเลยทุกคนให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกันโดยจำคุกเจ้าบ้าน 6 เดือน 15 วัน ผู้จัดให้มีการเล่นจำคุก 3 เดือน 15 วัน และผู้เล่นการพนันจำนวน 79 คน ให้กักขัง 15 วัน ปรับ 1,000 บาท โดยศาลไม่รอการลงโทษเฉพาะผู้เล่น
ทั้งนี้ นายประยุทธ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า อัยการสูงสุดได้ฝากข้อห่วงใยผ่านสื่อมวลชนว่า ที่พนักงานอัยการจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด ก็เพราะจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค อันจะเป็นการป้องกันให้กับทุกคน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ให้ปลอดภัย และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้รวดเร็วที่สุด
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดยังกล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานครมีคำสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันที่ 10-20 เมษายน 2563 ว่า หากพบว่ามีการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการฟ้องคดีมาที่สำนักงานอัยการแล้ว อัยการสามารถจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้บุคคลดังกล่าวหยุดประกอบอาชีพในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ส่วนระยะเวลาในการหยุดประกอบอาชีพนั้นจะนานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
นอกจากนี้ นายประยุทธยังกล่าวถึงข้อสั่งการเกี่ยวกับการทำงานเหลื่อมเวลา รวมทั้งทำงานที่บ้าน (เวิร์กฟอร์มโฮม) คู่ขนานกัน โดยในช่วงวันที่ 3-9 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสูงสุดมีบุคลากรทั้งอัยการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ 8,400 คน แยกเป็นข้าราชการประมาณ 8,000 กว่าคน ลูกจ้างประจำ 150 คน พนักงานราชการ 33 คน ซึ่งปรากฏว่าไม่มีผู้ใดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้แต่คนเดียว เป็นเรื่องที่ทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่ แต่ก็มีบางส่วนเป็นกลุ่มเฝ้าระวังจำนวน 20 คน เนื่องจากอาจจะไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับคนในครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะฉะนั้นสำหรับเจ้าหน้าที่ของอัยการที่ทำงานเหลื่อมเวลา มีจำนวนคิดเป็น 36.82 เปอร์เซ็นต์, ทำงานที่บ้าน จำนวน 48.99 เปอร์เซ็นต์ ทั้งทำงานที่บ้านสลับกับเหลื่อมเวลา จำนวน 14.19 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ อัยการพยายามจะใช้มาตรการทุกอย่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับส่วนราชการอื่นๆ และสำนักงานอัยการสูงสุดจะได้สรุปภาพรวมดังกล่าวนี้ให้สื่อมวลชนทราบทุกวันพฤหัสบดี เพราะข้าราชการอัยการทั่วประเทศจะต้องส่งผลการปฏิบัติงานมายังศูนย์โควิด-19 ของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีสำนักนโยบายและงบประมาณเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลภาพรวม
นอกจากนี้ มาตรการอื่นๆ ที่สั่งการให้อัยการทั่วประเทศปฏิบัติไปในแนวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองป้องกันไวรัสโควิด-19 แก่ผู้ที่มาติดต่อราชการ การจัดสถานที่ให้เหมาะสม และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการสื่อสารให้สอดคล้องกับส่วนราชการอื่นๆ และภาคประชาสังคม