xs
xsm
sm
md
lg

“สราวุธ” เผยสถิติคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วง 7 วัน เคอร์ฟิว 5,000 กว่าคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“สราวุธ” เผย สถิติคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินช่วง 7 วัน เคอร์ฟิว 5,000 กว่าคดี ยันบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

วันนี้ (10 เม.ย.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยข้อมูลสถิติคดีความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีดังกล่าวภายหลังรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. โดยไม่มีความจำเป็น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อลดการสัญจรของ พี่น้องประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ในส่วนของภาพรวมสถิติคดีสะสมภายหลังประกาศเคอร์ฟิว 7 วัน (3-9 เมษายน 2563) ในกลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง มีจำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณา ทั้งหมด 5,071 คดีพิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 4,830 คดี (คิดเป็นร้อยละ 95.19)

ข้อหากระทำผิดฝ่าฝืน พ.ร ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 5,504 คน เป็นสัญชาติไทย 5,197 คน เเละสัญชาติอื่น 307 คน ในความผิดพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีจำนวน 40 คน สัญชาติไทย 35 คน สัญชาติอื่น 5 คน เเละความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 จำนวน 1 คน สัญชาติไทย 1 คน

สำหรับจังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุด 3 อันดับ ในความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
อันดับ 1 จังหวัด กรุงเทพมหานคร จำนวน 334 คน อันดับ 2 จ.ปทุมธานี จำนวน 303 คน อันดับ 3 จ.ภูเก็ต จำนวน 255 คน

ส่วนความผิด พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
อันดับ 1 จ.ชลบุรี จำนวน 19 คน
อันดับ 2 จ.สมุทรสาคร จำนวน 11คน
อันดับ 3 จ.บุรีรัมย์ จำนวน 3 คน

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 อันดับ 1 จ.นราธิวาส จำนวน 1 คน
   
สำหรับกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว
1. จำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 322 คำร้อง เป็นข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุมฐานผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 326 คน สัญชาติไทย 315 คน สัญชาติอื่น 11 คน ความผิดฐาน พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จำนวน 3 คน สัญชาติไทย 3 คน ทั้งนี้ มีผลการตรวจสอบการจับกุม จำนวน 331 คน ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 329 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 2 คน


เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยผู้ฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉิน นั้น แม้ว่าศาลจะคำนึงถึงสถานการณ์ความปลอดภัยสาธารณะในช่วงนี้ แต่ก็ไม่ละเลยสิทธิและเสรีภาพของจำเลย ศาลจะบังคับใช้กฎหมายอย่างถึงที่สุดหรืออาจจะกักขังในเคหะสถานโดยติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เพื่อกำกับและติดตามความประพฤติตามคำสั่งศาล ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาล หรือ “ศูนย์ EM” ได้มีการจัดเวรผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ช่วงเวลากลางคืนทำการตรวจสอบผู้สวมใส่กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และได้ตรวจสอบพบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 5 – 9 เมษายน 2563 เวลา 22.00 - 4.00 น. มีผู้สวมใส่กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ใช้ความเร็วในการเคลื่อนไหวเกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง จำนวนทั้งสิ้น 143 คนซึ่งหากพบว่ามีกรณีที่น่าจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาล ต้องเรียกมาไต่สวน จึงอยากย้ำเตือนให้เคารพกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทุกคนต้องร่วมมือกันในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
กำลังโหลดความคิดเห็น