xs
xsm
sm
md
lg

คณะวินิจฉัยอุทธรณ์แก้โทษไม่จำคุก 1 เดือน แต่ตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ปรับเงิน 4 พัน “ชญาดา” เมีย “พลภูมิ” ส.ส.เพื่อไทย แจ้งหนี้สินเท็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (อดีต ส.ก.กทม.)
คณะวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ คดีอาญานักการเมือง พิพากษาแก้ยกโทษจำคุก 1 เดือน รอลงอาญา “ชญาดา วิภัติภูมิประเทศ” อดีต ส.ก.จงใจยื่นหนี้สินเท็จ คงเหลือโทษปรับ 4,000 บาท-ตัดสิทธิการเมือง 5 ปี นับจากปี 57 ชี้อุทธรณ์บางส่วนฟังขึ้น หนี้สินที่ปกปิดจำนวนไม่มาก แค่หลักแสน

วันนี้ (31 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลได้อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยคณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน ที่รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ฯ ในคดีหมายเลขดำ อม.อธ.4/2562

ที่มี นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นภรรยาของ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษา ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2562 ให้จำคุก 1 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่นางชญาดาพ้นจากตำแหน่งสุดท้ายมาแล้ว

คดีนี้ สืบเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง ยื่นขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย กรณีกล่าวหานางชญาดา อดีต ส.ก. กรณีกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ในช่วงการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินฯ เมื่อเข้ารับตำแหน่งและพ้นตำแหน่ง ส.ก. โดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า “นางชญาดา” ผู้คัดค้าน มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 167

ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2562 ภายหลัง นางชญาดา อดีต ส.ก. ผู้ถูกกล่าวหา ที่ให้การรับสารภาพ มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินกรณีที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ก. เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 และพ้นตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2557 ซึ่งการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ หลังเข้ารับตำแหน่งวันที่ 23 ก.ย. 2554 ไม่ได้แสดงรายการเงินฝากธนาคาร 2 บัญชี จำนวน 7,908.40 บาท และ 167,200 บาท, รายการเบิกเงินเกินบัญชี 1 รายการ ยอดหนี้คงเหลือ 40,922.09 บาท

และการยื่นแสดงบัญชีหลังพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2557 ไม่ได้แสดงรายการเงินฝากธนาคาร 3 บัญชี จำนวน 5,324.34 บาท, จำนวน 10,000 บาท และ จำนวน 15,696.74 บาท ตามลำดับ กับรายการเบิกเงินเกินบัญชี 2 รายการยอดหนี้คงเหลือ 166,684.74 บาท และ 17,986.94 บาท

โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้จำคุกนางชญาดา 2 เดือน ปรับ 8,000 บาทด้วย ตาม มาตรา 119 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ต่อ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จฯ ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกเป็นเวลา 1 เดือนและปรับ 4,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่า นางชญาดา เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และห้ามไม่ให้นางชญาดาผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่พ้นจากตำแหน่งสุดท้ายมาแล้ว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสอง

ต่อมา นางชญาดา ผู้ถูกกล่าวหา ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามกฎหมายใหม่

ทั้งนี้ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จะถือว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 ต้องเป็นการกระทำ โดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำของตน กรณีนี้คือทำให้เสียหายแก่การตรวจสอบความถูกต้อง และความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน อันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

เมื่อทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้แสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน มีถึง 5 รายการแต่ละบัญชีมีการเคลื่อนไหว มีเงินเข้าบัญชีและมีการหักชำระหนี้เงินกู้ มีการนำเช็คเข้าบัญชีหลังจากเปิดบัญชี และมีเงินคงเหลือในบัญชี แม้บัญชีดังกล่าวจำนวน 4 บัญชี จะเป็นบัญชีของคู่สมรส นางชญาดา ผู้ถูกกล่าวหาก็มีหน้าที่ต้องแสดงในบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน สำหรับหนี้บัตรเครดิตของคู่สมรสที่มียอดหนี้ค้างชำระรวมกันเป็นจำนวนที่สูง และมีการผ่อนชำระบางส่วน ซึ่งคู่สมรสทราบว่ามียอดหนี้ค้างชำระ ผู้ถูกกล่าวหาก็มีหน้าที่ต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินเช่นกัน

ส่วนข้อที่ นางชญาดา ผู้ถูกกล่าวหา อ้างว่า เข้าใจว่า ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตไม่ใช่หนี้เงินกู้ และไม่ใช่สัญญากู้กับธนาคารจึงไม่จำต้องแสดงนั้น เป็นเพียงความเข้าใจของผู้ถูกกล่าวหาเองฝ่ายเดียว ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช.ผู้ร้อง โดยปกปิดข้อเที่จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ก.

ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและยกโทษจำคุกที่รอการลงโทษ ให้คงไว้แต่เพียงโทษปรับสถานเดียวนั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่าทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงต่อ ป.ป.ช.ผู้ร้อง มีจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ถูกกล่าวหาจงใจไม่แสดงต่อผู้ร้องเป็นจำนวนเล็กน้อย อีกทั้งเป็นของคู่สมรสเป็นส่วนมากพฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุสมควรลงโทษสถานเบา อุทธรณ์ของนางชญาดา ผู้ถูกกล่าวหาฟังขึ้นบางส่วน

 
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกโทษจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 55 (ถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับมีกำหนดระยะเวลาเพียง 3 เดือนหรือน้อยกว่า และมีโทษปรับด้วย ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลง หรือจะยกโทษจำคุกเสีย คงให้ปรับแต่อย่างเดียวก็ได้)

นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ห้ามไม่ให้นางชญาดา ผู้ถูกกล่าวหา ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.2557 ซึ่งเป็นวันที่นางชญาดาพ้นจากตำแหน่งสุดท้ายมาแล้ว และคงโทษปรับ 4,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 119
กำลังโหลดความคิดเห็น