MGR online - ศาลเลื่อนอ่านฎีกา “แกนนำ นปช.” นำชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาฯ “ป๋าเปรม” เหตุ “นพรุจ” แกนนำพิราบขาว จำเลยร่วม ไม่มาศาล เหตุยังไม่ได้หมายเพราะย้ายบ้าน อัยการขอหาที่อยู่ใหม่ก่อนเสนอสั่งหมาย ศาลนัดอ่านฎีกาอีกครั้ง 30 เม.ย.นี้
ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (6 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษาฎีกา คดีชุมนุมปิดล้อมบ้าน สี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปี 2550 หมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายนพรุจ หรือ นพรุฒ วรชิตวุฒิกุล” อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปีเศษ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 44 ปีเศษ เลขาธิการ นปช. และอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียง พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.), นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 68 ปีเศษ แกนนำ นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 68 ปีเศษ แกนนำ นปช. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ทษช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216, 297, 298 ประกอบมาตรา 33, 83, 91
กรณีสืบเนื่องจากวันที่ 22 ก.ค. 50 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ สนามหลวง ไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส
ซึ่งศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเดือน ม.ค.60 ว่า “4 แกนนำ นปช.” จำเลยที่ 4-7 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม ให้จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนของ “นายนพรุจ” อดีตแกนนำพิราบขาว จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยโทษจำคุกทั้งหมดนั้นไม่รอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา)
ซึ่งจำเลยทั้ง 5 คนได้ยื่นฎีกาสู้คดี และได้ประกันตัวระหว่างฎีกาคนละ 500,000 บาท พร้อมถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต โดยคดีเคยนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งแรก วันที่ 23 ก.ย. 62 แต่ปรากฏว่า นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูเเถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่เคยปฏิเสธความผิด และขอต่อสู้คดี เป็นยื่นคำให้การใหม่ขอให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี ส่วน นายนพรุจ จำเลยที่ 1 ยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ จึงต้องส่งสำนวนกลับไปให้ศาลฎีกาพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป
โดยเมื่อเวลา 09.00 น.เศษ “นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์” อดีตประธาน นปช., “นพ.เหวง โตจิราการ” แกนนำ นปช., “นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท” แกนนำ นปช., “นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เลขาธิการ นปช. ทยอยเดินทางมาศาล ขณะที่ “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ปนะธาน นปช., “นายก่อแก้ว พิกุลทอง” และ“นายยศวริศ ชูกล่อม” หรือ เจ๋ง ดอกจิก แกนนำ นปช., “นางธิดา ถาวรเศรษฐ” อดีตประธาน นปช. และภรรยาของ นายณัฐวุฒิ พร้อมมวลชนจำนวน 60-70 เดินทางมาให้กำลังใจด้วยเกือบเต็มห้องพิจารณา 704 ที่เป็นห้องขนาดใหญ่รองรับได้กว่า 100 คน อย่างไรก็ดี สำหรับ นายจตุพร ก็ถูกฟ้องคดีนี้แยกสำนวนเป็นอีกคดีหนึ่งด้วยโดยคดีรอพิจารณา
ทั้งนี้ ก่อนขึ้นห้องพิจารณาคดี “นายวีระกานต์” อดีตประธาน นปช. จำเลยที่ 4 ให้สัมภาษณ์เปิดเผยความรู้สึกว่า รู้สึกเหมือนที่เคยรู้สึกทุกวัน เราน้อมรับกับผลของการตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ ต้องยอมรับอยู่แล้ว เพราะเรามาสู่กระบวนการนี้ก็ต้องยอมรับ การรับสารภาพเป็นความหวังของผู้ต่อสู้คดีทุกคน ต้องใช้สิทธินี้ตามรัฐธรรมนูญ แต่จะได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนพี่น้อง นปช.เราเวลานี้ก็อยู่กันแบบกระจัดกระจาย แต่ทุกคนก็ยังมีคิดความอ่านทางการเมืองอยู่ เราก็ฝากเพียงว่าขอให้ทุกคนแสดงความคิดความเห็น โดยสันติวิธีเท่านั้น อย่าเลิกล้มความคิดก็ใช้ได้แล้ว
ด้าน “นพ.เหวง” แกนนำ นปช. จำเลยที่ 7 กล่าวว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็น้อมรับคำพิพากษา ไม่มีปัญหาอะไร เพราะพวกเราทุกคนรู้อยู่แล้ว เส้นทางนี้มีสองอย่าง ชนะหรือแพ้ ถ้าชนะประชาชนก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้าแพ้พวกเราก็มีชะตากรรมสองอย่าง คือ คุกหรือตาย ทุกอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้วสำหรับคนที่ตัดสินใจเดินทางนี้
ด้าน “นายณัฐวุฒิ” จำเลยที่ 5 กล่าวว่า เมื่อพวกตนมีแนวทางเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในทุกคดีความ ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี คดีนี้เราต่อสู้ถึงชั้นศาลฎีกา ปรึกษาหารือกันแล้ว กลับคำให้การเป็นรับสารภาพในชั้นฎีกา แสดงความสำนึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นเหตุที่เกิดจากเจตนาของพวกตนตั้งแต่ต้น เราประสงค์ไปชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อพูดจาปราศรัยต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องประชาธิปไตย ไม่มีความประสงค์เผชิญหน้าเจ้าหน้าที่หรือให้เกิดเหตุบานปลายใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ วันนี้จึงเข้ารับการฟังพิพากษาคดี ไม่ว่าศาลท่านจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร พวกตนเคารพและน้อมรับ ถ้าหากผลแห่งคำพิพากษานั้นจะต้องทำให้โชคชะตามีหรือไม่มีอิสรภาพ ก็เคารพและน้อมรับ
เมื่อถามถึงความรู้สึกปลงและคาดหวัง “นายณัฐวุฒิ” กล่าวว่า คงไม่ถึงกับปลง มนุษย์จะผ่านเหตุการณ์ทุกอย่างได้เมื่อยืนอยู่บนโลกของความจริง สำหรับตนวันนี้มีคดีความจากการต่อสู้ทางการเมืองมากมาย ชีวิตเดินอยู่บนความไม่แน่นอน วันนี้มาฟังคำพิพากษาสองอย่างเท่านั้น 1. ได้กลับบ้าน 2. ต้องใช้ชีวิตเยี่ยงคนไร้อิสรภาพ เป็นการเดินไปตามเส้นทางของโชคชะตา ไม่ใช่เรื่องของการวิตกกังวลหรือปลง เป็นการพูดความจริงกับตัวเองและสื่อสารความจริงกับสังคม ตนคงไม่แสดงความคาดหวัง ศาลนัดอ่านคำพิพากษา จะแสดงความคาดหวังอย่างหนึ่งอย่างใดคงไม่ควร คำพิพากษาจะเป็นประการใดสักครู่คงได้รับทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลพิพากษาเป็นลบจะห่วงใยพี่น้อง นปช.อย่างไร นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงสถานการณ์ประเทศมากกว่า ต้องยอมรับว่า ถึงขณะนี้ เรื่องความเป็นประชาธิปไตยยังมีปัญหา สิ่งที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าคือสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้องของพี่น้องประชาชนกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างที่ไม่เห็นใครมีความสามารถเพียงพอที่จะเยียวยาแก้ไข ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ข้อเท็จจริงที่ตนได้สัมผัสจากผู้คนเขาสะท้อนมาอย่างนี้จริงๆ ความห่วงใยที่มีต่อพี่น้อง นปช. คนที่ได้ร่วมต่อสู้กันมายังคงมีอยู่อย่างเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าคือชะตากรรมเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้องของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าใครเคยใส่เสื้อสีอะไรอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม วันนี้เดือดร้อนยากลำบากเท่าเทียมเสมอภาคกัน ขอส่งความห่วงใยนี้ไปยังพี่น้องประชาชนทุกคน
“อยากจะเรียนยืนยันตรงนี้ว่า จุดยืนและหลักการทางการเมืองของผมยังคงเป็นอย่างเดิมทุกประการ ผมไม่ยอมรับการรัฐประหาร ผมยืนยันหลักการประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และปรารถนาจะให้สังคมไทยสงบสุข อยู่ร่วมกันได้ทุกฝ่าย ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย วันนี้ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอิสรภาพหลังจากนี้ ก็หวังใจว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยจะไม่เดินไปสู่การเผชิญหน้า จะไม่เดินไปสู่วิกฤติลุกลามบานปลาย อยากให้ทุกฝ่ายสัมผัสและสรุปบทเรียนจาก 10 กว่าปีที่ผ่านมา”
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า พวกตนคือคนกลุ่มหนึ่งที่ยืนอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ ผ่านเหตุการณ์อะไรต่างๆ มามากมาย เช่นเดียวกับแกนนำพันธมิตรฯ กปปส. มีคดีความอยู่ไม่น้อยในกระบวนการยุติธรรม นี่คือ บาดแผลทั้งที่เกิดขึ้นกับบุคคลและเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ท่ามกลางบาดแผลดังกล่าวไม่ปรากฏว่าทิศทางของประเทศกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างที่หลักการประชาธิปไตยสากลยอมรับกันโดยทั่วไป ก็ขอให้ใครที่มีบทบาท ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองกันอยู่ เก็บบทเรียนเหล่านี้เพื่อทำให้สถานการณ์ของประเทศดีขึ้น ด้วยสติด้วยปัญญา ความอดทนมั่นคงต่อหลักการที่ถูกต้อง เสียสละ
ต่อมาเมื่อเวลา 10.35 น. “นายนพรุจ” จำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ได้เดินทางมาศาล โดย นางสิริสกุล ใสยเกื้อ ภรรยา นายณัฐวุฒิ ซึ่งเป็นนายประกัน จำเลยที่ 1 ด้วย ได้แถลงศาลว่า ในการพิพากษาคดีนี้ศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ไม่มีใครยื่นประกันตัว ตนจึงรับประกันตัวให้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยติดต่อกับจำเลยที่ 1 ซึ่งตนไม่ได้รู้จักใกล้ชิดจำเลยที่ 1 ขณะที่เมื่อจำเลยที่ 1 ย้ายที่อยู่ใหม่นายประกันก็ไม่ทราบที่อยู่ จึงขอโอกาสตามจำเลยที่ 1
โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า หมายนัดฟังคำพิพากษายังไปไม่ถึงจำเลยที่ 1 เห็นควรให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษา ขณะที่อัยการโจทก์แถลงขอสืบหาที่อยู่จำเลยที่ 1 ใหม่ ก่อนยื่นแถลงศาลอีกครั้งภายใน 15 วัน ศาลจึงเห็นสมควรให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปเป็นวันที่ 30 เม.ย. นี้ เวลา 09.00 น.
ภายหลังศาลเลื่อนฟังคำพิพากษาแล้ว นายณัฐวุฒิ เปิดเผยอีกครั้งว่า นายนพรุจ จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ซึ่งไม่สามารถส่งหมายฟังคำพิพากษาได้ ทั้งนี้อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่าไม่สามารถตามตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาได้ เนื่องจากปรากฏหลักฐานจากพนักงานไปรษณีย์ว่าจำเลยย้ายที่อยู่ และยังไม่ทราบที่อยู่ใหม่ ทำให้การอ่านคำพิพากษาไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนไปฟังคำพิพากษาวันที่ 30 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
อย่างไรก็ตาม คดีนี้นายประกันของนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คือ นางสิริสกุล ใสยเกื้อ ซึ่งเป็นภรรยาของตนเอง ศาลแจ้งว่าโดยหลักการแล้วเป็นหน้าที่ของนายประกันที่จะต้องนำตัวจำเลยมารับฟังคำพิพากษา ตนและทนายความก็ได้แจ้งข้อเท็จจริงต่อศาลว่า นางสิริสกุล นายประกันไม่ได้รู้จักมักคุ้นกับจำเลยที่ 1 มาก่อน แม้กระทั่งพวกตนก็ตามเราไม่ได้มีความใกล้ชิดหรือมีความสัมพันธ์ร่วมกิจการใดๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน หน้าที่การงานหรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวทางการเมือง
“ช่วงที่เกิดเหตุการณ์เคลื่อนตัวจากสนามหลวงไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ก็ไปกันคนละคราว และนายนพรุจมาปรากฏตัวในการชุมนุมในภายหลัง ดังนั้น สาเหตุที่นางสิริสกุล ได้เป็นนายประกันและยื่นขอประกันตัวให้นายนพรุจนั้น เนื่องจาก ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 4-7 เป็นเวลา 4 ปี 4 เดือน ซึ่งตอนนั้นนายนพรุจ จำเลยที่ 1 บอกว่า ยังไม่มีนายประกัน และหลักทรัพย์ในการประกันตัว พวกผมทั้งหมดก็ช่วยๆ กัน เพื่อยื่นประกันตัวนายนพรุจออกไปด้วย เพราะว่าในสถานการณ์แบบนั้น ถ้าพวกผม 4 คนประกันตัวออกไป แล้วไม่มีใครยื่นประกันตัวนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ก็คงเป็นเรื่องที่เราก็ยอมรับไม่ได้ หลังจากมีการยื่นประกันตัวต่อศาลชั้นต้นดังกล่าว ก็ไม่ได้ติดต่อใดๆ กันอีก จนในที่สุดวันนี้ศาลท่านก็บอกว่าเป็นหน้าที่ของนายประกัน ซึ่งเราก็น้อมรับ แต่ศาลก็ไม่ได้สั่งปรับนายประกัน และให้อัยการโจทก์ดำเนินการตามกระบวนการที่จะนำตัวจำเลยที่ 1 มาฟังคำพิพากษา โดยเริ่มต้นจากการสืบหาที่อยู่ใหม่”