รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 29 มกราคม 2563 ตอน "ลุงตู่"ลาออก ฝันหวานฝ่ายค้าน รับผิดชอบ พ.ร.บ.งบฯ 63 โมฆะ
สัปดาห์นี้ มีเรื่องสำคัญและรอดูกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติรับคำร้อง ไว้วินิจฉัยหรือไม่ กับปมร้อนเรื่อง การเสียบบัตรแทนกัน ในการพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณารายจ่ายประจำปี 2563
หลังจาก เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย รวมกันสองคำร้องที่ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างเข้าชื่อกันเสนอให้ ประธานสภา ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปมปัญหาเสียบบัตรแทนกัน หรือคะแนนผี
จนทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถนำร่างพรบ.งบฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ เพราะเกิดปัญหา คะแนนผี ส.ส.รัฐบาลเสียบบัตรแทนกันในการโหวตร่างพรบ.งบประมาณวาระ 2 เรียงรายมาตรา
จนกลายเป็นเผือกร้อนการเมือง เรื่องใหญ่ของรัฐบาลเวลานี้
แน่นอนแล้วว่า ผลการลงมติไม่ถูกต้องและสุจริต ทำให้ การประกาศใช้ร่างพรบ.งบฯ ซึ่งล่าช้ากว่าปกติมาร่วม 4 เดือนแล้ว ถึงตอนนี้ มีแนวโน้ม จะล่าช้าหนักขึ้นไปอีก
หาก สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท กลายเป็นโมฆะทั้งฉบับ
กรณีนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน มีผลกระทบกับประเทศในวงกว้าง ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คงรีบพิจารณาให้สะเด็ดน้ำ โดยเร็ว เพื่อชี้ว่าจะปล่อยร่างพรบ งบ ได้ไปต่อ หรือจะต้องสะดุดล้มคว่ำทั้งฉบับ เพราะเป็นโมฆะ
หากเป็นโมฆะ จนต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ โดยให้รัฐบาลนำร่างกลับมาพิจารณาใหม่ ตั้งแต่วาระแรก และตั้งกรรมาธิการของสภาฯ พิจารณา จากนั้นก็ส่งเข้าสภา วาระสองและสาม ต่อไป
แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าร่างพรบ งบ เกิดเป็นโมฆะขึ้นมาจริงๆ ต้องให้สภา กลับมาเริ่มพิจารณกันใหม่ เชื่อได้ว่าสุดท้ายแล้ว ฝ่ายค้าน เองก็พร้อมให้ความร่วมมือในการเร่งผลักดันให้การประกาศใช้ร่างพรบ.งบฯ ออกมาโดยเร็ว บนการคาดการณ์ว่า กระบวนการ จัดทำอาจไม่ถึง หนึ่งเดือน ก็คงแล้วเสร็จได้
แต่ก่อนที่จะไปถึงสภาฯ ที่สำคัญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องวินิจฉัยเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว แล้วทางรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ต้องตกลงกันให้ได้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน
ทางออกของปัญหานี้ มีข้อเสนอแนวทางอื่นๆ หากร่างพรบงบฯ เป็นโมฆะ เช่นการให้นายกรัฐมนตรีออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อทำให้เกิดความรวดเร็ว โดยให้เหตุผลว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อไม่ให้การบริหารประเทศมีปัญหา
แต่แนวทางนี้ ก็มีเสียงทักท้วงว่า หากจะออกเป็นพระราชกำหนด ก็สู้ใช้วิธี ให้สภาพิจารณาสามวาระรวด จะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากกว่า เพราะหากเร่งกันจริงๆ อาจทำแค่หนึ่งสัปดาห์ ก็เสร็จแล้ว
อย่างไรก็ตาม เส้นทางเดินของร่างพรบ งบรายจ่ายปี 2563 ในที่สุด อาจไม่ไปถึงขั้นต้องนำกลับเข้ามาให้สภา เริ่มต้นนับหนึ่ง พิจารณากันใหม่ ก็ได้ ถ้าศาลรธน.วินิจฉัยให้ กระบวนการลงมติดังกล่าว ไม่มีผลทำให้ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เป็นโมฆะ
ทุกอย่าง ก็จบ นายกฯ ก็นำร่าง ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที ไม่ต้องมาแก้ไขปัญหาอะไรทั้งสิ้น ซึ่งก็ดูเหมือน ฝ่ายรัฐบาลพยายามจะทำใจดีสู้เสือว่า ยังมีสิทธิ์ลุ้น ร่างพรบ งบฯ ไม่สะดุดล้มคว่ำทั้งฉบับ
ถึงเวลานี้ แวดวงการเมืองมีการมองกันว่า มีโอกาสสูงที่ร่างพรบ.งบ ปี 2563 เจ้าปัญหาดังกล่าว อาจต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ บนสมมุติฐานการเมืองที่ว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่เป็นบรรทัดฐานมาแล้ว ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยในเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาฯ
ต่อ ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ. …หรือร่างพรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ส.ส.ฝ่ายค้านเวลานั้น ร้องศาลรธน.ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และกระบวนการตราไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะมีการกดบัตรแทนกัน
ผลการวินิจฉัยที่ออกมา ทางศาลรธน.วินิจฉัยว่า พบว่ามีการกดบัตรแทนกันจริง โดยนาย นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการสู้คดีอาญา จากการเสียบบัตรแทนกันในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผลการไต่สวนของศาล พบว่า มีการเสียบบัตรแทนกันจริง
ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า สมาชิกรัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน
เมื่อพบว่า มีการเสียบบัตรแทนกัน จึงมิอาจถือว่าเป็นมติที่ชอบของรัฐสภา ศาลจึงวินิจฉัยว่า การตราร่างพรบ เงินกู้ 2ล้านล้านบาท จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ให้พรบ กู้เงิน 2ล้านล้านบาทเป็นโมฆะ นอกจากประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกันแล้ว ศาลยังตัดสินอีกว่าเนื้อหาในร่างพรบ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรธน.จึงตัดสินให้เป็นโมฆะ จากสาเหตุการออกกฎหมายในสภาไม่ชอบด้วยกระบวนการและเนื้อหาในร่างพรบ. ขัดรัฐธรรมนูญ
เป็นบรรทัดฐานที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาดักทางไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยเรื่อง พรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นโมฆะ ได้มีคำวินิจฉัยเรื่องเสียบบัตรไว้ด้วย หากครั้งนี้มีตุลาการชุดเดียวกันมีคำวินิจฉัยออกมาอีกด้าน ไม่ตัดสินให้พรบ. งบฯเป็นโมฆะก็จะโดนวิจารณ์ ว่า สองมาตรฐาน ซึ่งจะผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาต่อองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนเรื่องที่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพรบ.งบประมาณ รายจ่ายดังกล่าว เป็นโมฆะแล้วจะทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจลาออกหรือยุบสภา เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง
เรื่องนี้ ไม่มีทางเป็นไปได้ เป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ ของฝ่ายค้าน เท่านั้น