(Police Focus)
หลายเหตุการณ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ส่งทีมโฆษกออกมาชี้แจงแทนผู้บังคับบัญชาระดับ ตร.ถึงกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับองค์กรตำรวจ เช่นเดียวกับอีกหลายหน่วยงานเพื่อคอยเป็นกระบอกเสียง ผู้ทำหน้าที่ต้องมีวาทศิลป์เป็นเลิศ เพราะทุกคำพูดส่งผลต่อภาพลักษณ์หน่วยงาน และเป็นคำตอบที่สังคมกำลังให้ความสนใจ บางครั้งสถานการณ์ในบ้านเมืองอยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน
ทีมโฆษก ตร.มีด้วยกัน 4 คน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร./โฆษก ตร. พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผบช.ภ.2/รอง โฆษก ตร. พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รอง ผบช.ส./รอง โฆษก ตร. และปรากฏตามสื่อบ่อยที่สุดคือ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง ผบก.ตม.3/รอง โฆษก ตร. หรือ “รองฯ แจ็ค” ได้รับความไว้วางใจทำหน้าที่โทรโข่งนานกว่า 6 ปี โดยเฉพาะในช่วงยุค "บิ๊กแป๊ะ" พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.
รอง ผบก.ตม.3 บอกว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ เหลือเวลา 1 ปีในการดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยในปีแรกได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการตระหนักถึงความเป็นผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน การเป็นตำรวจไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องเป็นตลอด 24 ชม. ท่านเน้นย้ำเรื่องการปรับภาพลักษณ์ที่ดีระหว่างตำรวจกับประชาชน ที่ผ่านมาประเด็นที่สังคมจับตามอง คือ การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ต้องการให้ดีขึ้น มีความเชื่อมั่นเพื่อให้เกิดความรักความศรัทธา
ในปีต่อๆ มาท่านยังคงใช้นโยบายการบริหารงานทั้ง 6 ด้านอยู่เหมือนเดิม คือ 1. การพิทักษ์ ปกป้อง และเทิดพระเกียรติ เพื่อความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญสูงสุดไม่มีคำว่าผิดพลาด ท่านใช้ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน 30 กว่าปี ถ่ายทอดให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทราบถึงความสำคัญ ผู้ใดมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย จะต้องแสวงหาความรู้และความชำนาญ
2. การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในสังคม เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนไปขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ถ้าบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย การบริหารงานต่างๆ ของรัฐบาลก็จะดีขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและสามารถเรียกความเชื่อมั่น ความศรัทธาจากประชาชนได้ จะสอดคล้องกับนโยบายข้อถัดไป
3. การป้องกันปราบปรามเพื่อลดระดับอาชญากรรม เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การป้องกันไม่ให้เหตุเกิดเป็นเรื่องที่ยาก ถ้าทำได้จะสามารถลดอาชญากรรมได้ 90 เปอร์เซ็นต์ ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าหน่วยจึงได้ดำเนินการ จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีความจำเป็น ทฤษฏีที่ใช้ลดช่องโอกาสก่อเหตุของคนร้าย คือ ปรับความเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ เช่น ทำให้ซอยไม่เปลี่ยวด้วยการเพิ่มแสงสว่าง
รองฯ แจ็ค บอกต่อว่า รวมถึงการประสานงานติดตั้งกล้อง CCTV จะของตำรวจเองหรือบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ขอความร่วมมือจากส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความสำคัญกับการลดระดับอาชญากรรม ท่านได้มอบหมายให้ รอง ผบ.ตร.ในด้านต่างๆ ไปขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม หากยังเกิดเหตุก็ต้องจับคนร้ายด้วยความรวดเร็ว ตำรวจเราต้องมีคำตอบให้กับสังคม ตรงนี้ถึงจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมา
4. การแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ เป็นวาระแห่งชาติและเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอด ไม่เน้นเฉพาะในเรื่องการปราบปรามเท่านั้น แต่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน บุตรหลาน หรือกลุ่มเสี่ยงในการใช้ยาเสพติด และดึงกลุ่มคนเหล่านี้เอามาเป็นส่วนร่วมของเรา ในส่วนการป้องกันท่านได้สั่งการให้มีการสกัดกั้น เพื่อไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาในประเทศได้
ต้องเข้าใจว่าประเทศไทยมองได้ 2 มิติ คือ 1. มีการนำยาเสพติดเข้ามาใช้บริโภคในประเทศ และ 2. อาจจะมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ท่านให้ความสำคัญกับหน่วยงานตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นรั้ว อยู่บริเวณรอบพื้นที่ที่มีการนำยาเสพติดเข้ามา ทั้งในทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกที่ติดประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสั่งการให้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศเพื่อนบ้าน
5. การปฏิรูปองค์กรตำรวจ เพื่อให้ทันยุคทันสมัยกับการเข้าประชาคมอาเซียน หรือนานาชาติต่างๆ เรามีกิจการตำรวจสมัยใหม่นับตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 4 มีการพลวัตดำเนินกิจการภายในองค์กรตำรวจ นอกจากนี้ เราต้องปรับตัวให้เข้ากับการตรวจสอบยุคดิจิทัล เช่น สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ตำรวจต้องทำตัวให้มีความทันสมัยขึ้น พร้อมตอบโจทย์ในการให้บริการประชาชน
และ 6. การเสริมสร้างความสามัคคี และบำรุงขวัญข้าราชการตำรวจ ถ้ามีเวลาตัวท่านเองพร้อมคณะ จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยงานตำรวจในถิ่นทุรกันดาร ท่านให้ความสำคัญซึ่งที่ผ่านมาได้เดินทางไปภาคเหนือ จากผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ไปตรวจเยี่ยมหน่วยงานที่อยู่ไกลๆ เพื่อบำรุงขวัญและสั่งการให้ผู้บังคับบัญชานั้น บำรุงขวัญดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของตัวเองด้วย
พิราบสีกากี กล่าวถึงนโยบาย ปี 2563 ของ ผบ.ตร.ว่า 1. การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุภัยพิบัติ เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดเหตุวาตภัย อุทกภัย และอัคคีภัย แม้ตำรวจมิได้เป็นหน่วยงานหลักแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาความเดือดร้อน แต่ท่านมองว่ามีโรงพักประมาณ 1.5 พันแห่งทั่วประเทศ มีตำรวจ 2 แสนกว่าคน จึงได้สั่งการทุกหัวหน้าสถานีว่า กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในท้องที่ อันดับแรกให้เปิดโรงพักใช้เป็นที่พักพิงของประชาชน
"พร้อมจัดหาเครื่องมือแพทย์สำหรับปฐมพยาบาลในเบื้องต้น หรืออาหารที่พอจะบรรเทาชีวิตได้ ให้ตำรวจเริ่มปฏิบัติโดยไม่ต้องไปสั่งซ้ำ และให้รอฟังนโยบายจากทางรัฐบาล มีการประสานงานบูรณาการกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้มีที่พึ่งอย่างแท้จริง"
2. การคัดกรองข่าวโซเชียลฯ สืบเนื่องจากมีการใช้โซเชียลมีเดียแพร่หลาย สิ่งที่ตำรวจกำลังประสบปัญหารวมถึงรัฐบาล คือ การแชร์ข่าวสารข้อมูลที่บิดเบือนออกไป ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ล่าสุดปล่อยข่าวว่าตำรวจจะมีการปิดถนนถึง 40 เส้นทาง ตรงนี้เราต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือเรียกว่า เฟคนิวส์ ทางรัฐบาลให้ความสำคัญตรงนี้ ผบ.ตร.ได้สั่งการ รอง ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบเฝ้าฟังมอนิเตอร์ข่าวที่บิดเบือน
หลักการทำงานของทีมโฆษก คือ เร็ว ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามกระแส ยึดโยงความถูกต้อง มีความเป็นธรรมเป็นหลัก บางเหตุการณ์เราเข้าใจว่ามีประเด็นอะไร ที่สังคมกำลังจับจ้องเป็นกระแสอยู่ เช่น คดีลันลาเบล ชาวเน็ตคอมเมนต์ตำรวจก็รับฟังเอาไว้ แต่การที่จะดำเนินคดีกับผู้ใดเรายึดพยานหลักฐานเป็นหลัก ฉะนั้นการทำงานในส่วนของทีมโฆษก จะอาศัยผลงานของตำรวจทุกหน่วย และต้องไม่เป็นภาระกับหน่วยงาน
"ที่สำคัญต้องวางตัวเป็นกลางอย่างแท้จริง การให้ข่าวจะต้องให้กับทุกสำนักเท่าๆ กัน จะไม่เลือกสำนักข่าวที่เรารู้จักคุ้นเคย ข้อความที่ส่งให้ไปเป็นข้อความที่มีความเป็นกลาง พูดกับใครก็พูดข้อความลักษณะแบบนี้ ทุกสำนักจะได้ข่าวจากเราเท่าเทียมกัน"
ทีมโทรโข่ง ตร.กล่าวถึงบทบาทการทำหน้าที่ว่า ผมทำหน้าที่ตอบแทนข้าราชการตำรวจ องค์กรตำรวจ คอยประสานงาน ประชาสัมพันธ์ เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจดีขึ้น ผมไม่ได้ทำงานคนเดียวเรามีทีมงานเล็กๆ ร่วมกันขับเคลื่อน มีพี่น้องตำรวจทั่วประเทศ 2 แสนกว่าคน ร่วมกันขับเคลื่อนตรงนี้ เป็นการทำงานเพื่อตำรวจทุกคน สุดท้ายก็เพื่อประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ ในการรับฟังข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
บางครั้งประชาชนไม่เข้าใจวิธีการทำงานของตำรวจว่าล่าช้าหรือไหม ไม่ยุติธรรมหรือไม่ ก็เป็นหน้าที่ของผมชี้แจงแถลงไขให้ฟังว่าการทำงานของตำรวจมีขั้นตอนอย่างไร โดยหลักการแล้ว ผบ.ตร.ไม่ได้ลงมากำชับทุกเรื่อง เพราะเป็นหน้าที่จะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะมี ผบช. ผบก. และ ผกก.ไว้ทำไม ท่านสั่งการไปครั้งเดียว ที่เหลือก็เป็นเรื่องการกำกับดูแล การเร่งรัดให้เกิดความเป็นธรรมเพื่อสามารถตอบโจทย์ได้
ส่วนตัวผมมองว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ เป็นคนที่มีวินัยสูงมาก ท่านได้พูดเสมอว่าเป็นตำรวจถ้าไม่มีวินัย องค์กรก็ไปไม่รอด ผมทำงานใกล้ชิดท่าน รู้ว่าความมีวินัยคืออะไร การแต่งเนื้อแต่งตัว ทรงผม ความประพฤติ การปฏิบัติตนต่างๆ ท่านดำรงตนให้เป็นแบบอย่างมาตลอด อีกทั้งท่านเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดที่ไม่ถือตัว ไม่เคยสั่งให้ลูกน้องลำบากในเรื่องการต้อนรับ เวลาเดินทางไปราชการท่านจะใช้คณะให้น้อยที่สุด และสิ้นเปลืองน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ท่านเน้นย้ำในเรื่องของกิริยามารยาท การพูดจา การมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน เราต้องเดินหน้าเข้าหาประชาชน อ่อนน้อมถ่อมตน และทำตัวให้น่ารัก สุดท้ายประชาชนจะเข้ามาช่วยเราเอง และท่านยังได้ยึดโยงในส่วนของอุดมคติตำรวจที่ต้องยึดถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวการปฏิบัติหน้าที่ เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะต้องทำงานใกล้ชิดประชาชน เป็นธรรมดาที่จะกระทบกระทั่งกัน โดยเฉพาะในส่วนของตำรวจจราจร
"ฉะนั้น เป็นปกติที่เราจะต้องอดทนอดกลั้น เพื่อสามารถปฏิบัติภารกิจได้บรรลุเป็นอย่างดี นั่นคือสิ่งที่ดีที่ตำรวจควรปฏิบัติตามเป็นแบบอย่าง"