(Police Focus)
“ตำรวจ” เป็นอาชีพที่ต้นทุนทางสังคมต่ำ ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องกลับไม่ได้รับคำชม แม้ขยับตัวทำอะไรก็ถูกจับผิดถูกวิจารณ์ เกิดประเด็นกรณีดาราสาวตัวร้ายชื่อดัง ทำผิดกฎจราจรบนถนนวิภาวดี-รังสิต ตำรวจเรียกหยุดจอดเพื่อเขียนใบสั่ง ส.ต.ท.ไม่รู้จักยี่ห้อรถหรู “มาเซราติ” เดินวนไปวนมาเพราะเขียนไม่ถูก จนถูกมองว่าต้องการเรียกรับเงิน เชื่อว่า มีประชาชนหลายคนที่ “อคติ” กับตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจหัวปิงปอง
เกิดจากภาพลักษณ์ในมุมมองประชาชน ในการให้บริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาทิ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่แก้ปัญหาความทุกข์ร้อน คดีมีความล่าช้า หรืออื่นๆ ที่นำมาซึ่งการถูกร้องเรียน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ให้ความสำคัญเรื่อง “การยกระดับการบริการประชาชน” เป็นหน้าที่โดยตรงของ ผกก.โรงพักเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องนี้ รวมถึงให้ผู้บังคับบัญชาเป็นต้นแบบที่ดี ของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น
โดย กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) คือ หัวใจของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นต้นแบบของทุกกองบัญชาการ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์ เภตรา ผบช.น.มอบหมาย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานจเรตำรวจ (จต.) เป็นไม้บรรทัดคอยช่วยตีกรอบและขีดเส้น ให้ตำรวจเดินตามครรลองที่ควรจะเป็น คาดหวังตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชน เห็นปัญหาของประชาชนเหมือนกัน เดือดร้อนขึ้นโรงพักก็ต้องจบที่โรงพัก
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ผมมีหน้าที่ควบคุมกวดขันวินัย เครื่องแต่งกาย ทรงผม หนวดเครา เล็บ รองเท้า ควบคุมการประพฤติ ควบคุมจริยธรรมตำรวจทั้งหมด 25,000 กว่านาย ในส่วนของนครบาล รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ทั้งด้านงานป้องกันปราบปราม สืบสวน สอบสวน จราจร ธุรการ และอื่นๆ ตามระเบียบ ตร.ทุกอย่างที่เป็นภาพลักษณ์ตำรวจ จึงมีความคาดหวังจากประชาชนและผู้บังคับบัญชาสูง
ผมเซตระบบทำความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชา และกำหนดแนวทางให้ไปในทางเดียวกัน โดยฟังเสียงความเดือดร้อนประชาชนที่มาจากตำรวจ ผ่านช่องทางศูนย์ 191 ศูนย์ 1599 และร้องเรียนผ่านจเรตำรวจ ทุกช่องทางจะมีการตอบสนองทันที ทุกคนต้องเดินตามระบบที่กำหนดไว้ เป็นหน้าที่ของตำรวจต้องแก้ไขปัญหา เพราะไม่มีหน่วยไหนเข้ามาแก้ไขแล้ว ขอให้ทุกคนดำรงตนปกติ เคร่งครัดในระเบียบวินัยและเน้นอุดมตติตำรวจ
“ศูนย์ 191 จะเป็นตัวรวบรวมสถิติรายวัน เช่น สายตรวจเข้าระงับเหตุช้ากว่า 15 นาที, สถานบริการเปิดเกินเวลา, การจราจรติดขัด, เรียกรับผลประโยชน์, พนักงานสอบสวนไม่มาตามนัด, คดีมีความล่าช้า, ไม่ได้รับความเป็นธรรม ฯลฯ หากเกินกำลัง สว.เป็นหน้าที่ รอง ผกก.จนถึง ผกก.ที่ต้องลงมาแก้ปัญหา โรงพักต้องเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นจุดสุดท้ายถ้า ผกก.ใส่ใจกวดขันลูกน้องได้ระดับ บก.และ บช.แทบไม่ต้องลงไปเลย”
น.2 กล่าวต่อว่า สุดท้ายแล้วสมมติ ผกก.ทำไม่ได้ก็ต้องประเมินหาก สน.นี้มีเรื่องร้องเรียนบ่อยๆ สถิติจะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพ กับคุณภาพการทำงานว่าเป็นอย่างไร บทลงโทษก็เสนอผู้บังคับบัญชาระดับ บช.และ ตร.พิจารณาอาจจะต้องมาประจำ ศปก.บก.น.หรือ ศปก.น.ถ้าไม่มีความสามารถในการดูแลประชาชน คนที่เป็นแถวสองพร้อมเป็น ผกก.มีอีกเยอะ เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายของ ผบ.ตร.ได้
ไม่ใช่ไปถึง 7 โมงเช้า แล้วสิบเวรยังนอนอยู่ ให้เหตุผลว่าป่วยแล้วใครจัดมาเข้าเวร ถ้าป่วยก็สลับไปทำหน้าที่อื่น เช่น ธุรการ หรืองานอื่นที่เบาลง สั่งให้คุมผู้ต้องหาวันนึงถูกบีบคอตาย หรือผู้ต้องหาแหกห้องขังหลบหนี ของอย่างนี้จะไปโทษเด็กไม่ได้ต้องโทษนาย หรือจัดคนป่วยมาดูแลประชาชนพูดจากระโชกโฮกฮาก แล้วไปโทษเด็กมีกิริยาไม่สุภาพได้อย่างไร เป็นหน้าที่ ผกก.โรงพักต้องดูแลใส่ใจ
ฉะนั้น ผกก.คือ ภาพลักษณ์ของ ตร.โรงพักต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนให้ได้ ผกก.จะต้องนั่งหัวโต๊ะในทุกเรื่อง และเป็นตัวสุดท้ายที่แก้ไขปัญหาให้ลูกน้องทุกฝ่าย ตำรวจมีสายการบังคับบัญชา มีวินัย ทุกคนไปในทางเดียวกันกติกาก็จะเป็นกติกา ทุกอย่างหมุนเหมือนฟันเฟืองนาฬิกา เวลาผมไปตรวจเขาก็ไม่มีความผิดอะไร ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเรื่องร้องเรียนลดน้อยลง แล้วภาพลักษณ์ของตำรวจจะดีขึ้นตามลำดับ
“ผมพยายามใช้เวลากับการทำงานให้มากที่สุด เมื่อได้รับมอบหมายเป็นไม้บรรทัดก็ต้องทุ่มเท ผมตื่นตี 5 เริ่มทำงาน 6 โมงเช้า จบอีกทีถึง 4 ทุ่ม กว่าจะได้นอนตี 1 เป็นแบบนี้ทุกวันบางวันตี 1 ตี 2 ไปตรวจโรงพักตรวจด่าน รับตำแหน่งมา 24 วัน ตรวจไปแล้ว 50 กว่าโรงพักจากทั้งหมด 88 โรงพัก ผมเซ็นต์เอกสารเป็นปึ๊งๆ ต่อวัน หน้าที่ของผมต้องควบคุมการปฏิบัติ ให้เป็นไปตามนโยบายให้ได้ สิ่งที่ผ่านมาเราไม่ว่ากัน แต่หลังจากนี้ต้องนั่งพูดคุยเพื่อหาแนวทาง”
รองต๊ะ เล่าถึงแรงจูงใจมาเป็นตำรวจว่า ต้องการให้วงการตำรวจดีขึ้นเลยตั้งใจว่า ถ้ามีโอกาสอยากเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างใน ตร.แม้เติบโตในครอบครัวทหารเรือก็ตาม จบ นรต.รุ่น 38 รับราชการครั้งแรก สน.จักรวรรดิ เป็นนายตำรวจปกครอง ร.ร.เตรียมทหาร อยู่ สน.พระราชวัง ได้รางวัลพนักงานสอบสวนดีเด่น เป็นนายเวร ผบก.ปอศ.ในยุคก่อตั้งได้ทำคดี ปั่นหุ้นเสี่ยสอง เป็นคดีใหญ่ในขณะนั้น
ส่วนมากอยู่ในสายสืบสวนสอบสวน ก่อนมาเป็น ผบก.จร. ผบก.น.7 รอง ผบช.ตชด. และ รอง ผบช.น.ด้านจเรตำรวจ ภูมิใจที่ผู้บังคับบัญชาเห็นและให้ผมเป็นต้นแบบของไม้บรรทัด การปกครองคนหมู่มากถ้าทุกคนไม่มีวินัยเป็นตัวตั้งมันก็ปกครองกันไม่ได้ ทุกหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหน้าที่ที่สำคัญ ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เป็นผู้นำขบวน “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ในการเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม