MGR Online - เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เผยมาตรการรักษาปลอดภัยเข้มงวดศาลทั่วประเทศ ทั้งปรับปรุงห้องควบคุมตัวผู้ต้องหา ปรับปรุงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย พร้อมเสริม รปภ.ดูแลเพิ่ม
วันนี้ (14 พ.ย.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึง การวางมาตรการความปลอดภัยบริเวณศาลและให้ถือปฏิบัติเคร่งครัด หลังเกิดเหตุการณ์ผู้ต้องขังหลบหนีที่ศาลจังหวัดพัทยา รวมถึงเหตุยิงกันของคู่ความคดีในศาลจังหวัดจันทบุรีจนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ว่าขณะนี้ตนได้ออกคำสั่งกำหนดมาตรการ 3 ส่วน 1. ด้านอาคารสถานที่และการจัดสถานที่คุมขังที่จะวางมาตรการให้เกิดความปลอดภัยไม่ให้หลบหนีที่คุมขังหรือแหกหัก (หมายถึงการหลบหนีจากคุก) หรือทำร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ โดยในส่วนของการปรับปรุงพื้นที่ห้องควบคุมตัวในศาลก็จะต้องมีลูกกรงกั้น 2 ชั้น ซึ่งต้องมีระยะห่างประมาณ 10-15 เมตร ระหว่างผู้ต้องขังกับญาติที่มาเยี่ยม ขณะที่การสื่อสารระหว่างญาติที่มาเยี่ยมกันสามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารที่ศาลเตรียมไว้ให้พูดคุยกันได้ เพื่อความปลอดภัยไม่ให้มีการลักลอบส่งอาวุธ รวมถึงสิ่งต้องห้ามเข้าไปในบริเวณที่ควบคุม โดยยอมรับว่าศาลบางแห่งยังต้องมีการปรับปรุงบริเวณห้องควบคุมตัวให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องมีการดำเนินการแก้ไขต่อไป
2. เรื่องอุปกรณ์ที่สนับสนุนด้านความปลอดภัย เรื่องนี้ตนได้เน้นย้ำให้ทางศาลทั่วประเทศสำรวจเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย พร้อมแจ้งผลกลับมาเพื่อวิเคราะห์ประเมินทั้งหมดว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มจุดไหนบ้าง ส่วนที่วิจารณ์กันว่าบางศาลเข้าได้ทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง ตรงจุดนี้ต้องมาทบทวนควรเปิดให้เข้าได้กี่จุด ต้องเพิ่มเครื่องมืออื่นใดเข้าไปอีก เช่น เครื่องตรวจอาวุธหากต้องเพิ่มก็จะพิจารณาของบประมาณต่อไป
3. ส่วนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของศาลเองนั้นก็มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล (คอร์ตมาร์แชล) ที่ผ่านการฝึกอบรมและตามกฎหมายมีอาวุธประจำกายได้ขณะนี้ที่ได้บรรจุมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2562 จำนวน 35 คน โดยยังไม่ครบตามอัตรา 309 คน ที่เคยกำหนดไว้ในโครงการแต่เราก็จะได้จัดสรรที่มีอยู่เพื่อดำเนินการตรวจและวางมาตรการเสริมความปลอดภัย นอกเหนือจากแต่ละพื้นที่จะมีตำรวจประจำพื้นที่และราชทัณฑ์ ศาลก็ยังมีเจ้าหน้าที่ รปภ.จาก อผศ. ประจำศาลทั่วประเทศเกือบ 2,000 คน ซึ่งกำลังทั้งหมดก็จะเสริมในการตรวจตราอาวุธต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาก็ได้วางระบบให้ทุกส่วนดำเนินการอย่างเคร่งครัดและเข้มงวด และด้วยความในความจำเป็นขณะนี้ในส่วนของคอร์ทมาแชลที่ยังไม่ครบตามจำนวนสำนักงานศาลฯ ได้เร่งที่จะสรรหาให้ได้ภายในปีหน้า เพราะตั้งเป้าที่จะให้มีคอร์ทมาแชลประจำศาลต่างๆ ทั่วประเทศ 1-2 คน ส่วนนี้จะมีการเสนอคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม หรือ ก.ศ. ของบประมาณที่จะดำเนินการให้ได้ภายในปีหน้า
“นอกจากการจัดกำลังคน เครื่องตรวจจับอาวุธทั้งในรูปแบบประตูหรือใช้มือในการตรวจจะต้องมีคุณภาพและอุปกรณ์กล้องวงจรปิดก็มีความสำคัญในการติดตามเพื่อดำเนินการต่างๆ ในเรื่องนี้ก่อนอื่นผมต้องเรียนทุกท่านก่อน ในพื้นที่ของศาลเป็นเขตหวงห้ามไม่สามารถนำอาวุธหรือสิ่งต้องห้าม สิ่งผิดกฎหมายเข้าไปในบริเวณศาลได้ ฉะนั้นจากการวางมาตรการและที่ได้กำชับไปผมขอให้มั่นใจได้ว่าเราจะดูลความปลอดภัยให้ดีที่สุด และจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทำนองนี้ขึ้นมาอีก”
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวว่า อยากจะขอความช่วยเหลือและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะมาศาลหรือไม่มาศาลก็ดีหากมีข้อมูลหรือทราบเบาะแสว่าจะเกิดเหตุร้ายหรือมีสิ่งปกติ ช่วยแจ้งข้อมูลผ่านประชาสัมพันธ์ศาล หรือ ผอ.สำนักงานประจำศาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น โดยที่ผ่านมาก็เคยมีที่ศาลได้รับข้อมูลจากประชาชนที่มาติดต่อศาลแล้วสามารถป้องกันเหตุกับสิ่งผิดปกติได้ซึ่งไม่ปรากฏเป็นข่าว เช่น การพบวัตถุต้องสงสัย เราต้องประสานขอส่งเจ้าหน้าที่อีโอดีตรวจสอบว่าจะเป็นวัตถุระเบิดหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการช่วยป้องกันและลดความเสียหายลงได้
ส่วนความคืบหน้ากรณีที่มีคำสั่งส่งคอร์ตมาร์แชลลงพื้นที่ศาลจังหวัดจันทบุรีเมื่อวันที่ 13 พ.ย.เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานด้านความปลอดภัย นายสราวุธกล่าวว่า มีรายงานเบื้องต้นว่าอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาประจำในศาลมีศักยภาพไม่เต็มร้อย ส่วนที่จะมองว่าเป็นความบกพร่องของศาลที่ทำให้เกิดเหตุยิงกันนี้ จากกล้องวงจรปิดจะเห็นได้ชัดว่าผู้ก่อเหตุได้รอจังหวะระหว่างเจ้าหน้าที่ไปเคารพธงชาติและซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติงานระหว่างตรวจแถวเพื่อนำอาวุธเข้าไป อย่างไรก็ดี ในกระบวนการสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของคอร์ตมาร์แชลเพื่อประมวลเหตุการณ์ทั้งหมด คาดว่าจะทราบผลภายในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ย.)
เมื่อถามถึงการตรวจสอบเหตุที่ 3 ผู้ต้องขังคดียาเสพติดใช้อาวุธมีดที่มีการลักลอบเข้าไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและใช้อาวุธปืนข่มขู่บริเวณห้องควบคุมศาลจังหวัดพัทยาก่อนจะหลบหนีไป นายสราวุธ ล่าวว่า ตนทราบมาว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว เพราะบุคลากรที่ดูแลควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งคงจะพิจารณาดูว่ามีข้อบกพร่องและมีผู้ประมาทเลินเล่อหรือไม่ โดยส่วนของการควบคุมผู้ต้องขังนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนของเจ้าหน้าที่ศาลแต่อย่างใด แต่ที่เกี่ยวกับศาลมี 2 ส่วนก็คือ เรื่องคดีละเมิดอำนาจศาล เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้คนที่แหกคุกไปมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ส่วนความผิดอย่างอื่น เช่นยิงเจ้าหน้าที่ หรือหลบหนีออกจากที่คุมขังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และต้องมีการดำเนินคดีต่อไป ขณะที่ส่วนของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยาได้ประชุมมาตรการที่เข้มงวดและเพื่อป้องกันแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลนั้น เมื่อวันที่ 13 พ.ย. นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ลงนามในคำสั่งด่วนที่สุดเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาล ส่งเป็นหนังสือเวียนถึงถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมให้ใช้เป็นแนวทางและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยขึ้นภายในบริเวณศาลต่างๆ ทั่วประเทศอันอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยภายในบริเวณศาลขึ้นอีก “สำนักงานศาลยุติธรรม” จึงได้ออกมาตรการในการรักษาความปลอดภัย บริเวณศาลดังนี้ ส่วนเกี่ยวกับอาคารและสถานที่ 1. ปรับปรุงห้องขัง เป็นลูกกรง 2 ชั้นทั้งหมด และมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันผู้ต้องขังหลบหนีเพื่อความสะดวกในการควบคุมผู้ต้องขังและป้องกันไม่ให้มีการส่งสิ่งของต้องห้ามแก่ผู้ต้องขังได้ 2. ขอให้ศาลพิจารณาจัดช่องทางพิเศษสำหรับนำตัวผู้ต้องขังจากห้องขังของศาล มาสู่ห้องพิจารณาโดยไม่ผ่านประชาชนที่อยู่ในบริเวณศาล
3. หากศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญเมื่อใด ควรติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ เพื่อเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาลให้มากยิ่งขึ้นกว่าปกติ 4. ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลที่มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขัง พกอาวุธในบริเวณศาลได้ 5. ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตไว้ล่วงหน้า ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลทำการค้นตัวบุคคลได้ในทันทีทันใดหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลที่อยู่ในบริเวณศาลนั้นจะมีอาวุธติดตัวมาด้วย และอนุญาตให้จับกุมตัวบุคคลเช่นว่านั้นไว้แล้วจึงรายงานให้ศาลทราบในภายหลัง
6. ขอให้ศาลติดประกาศเรื่องการห้ามพกพาอาวุธหรือสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามาในบริเวณศาล และให้บุคคลที่มาศาลประพฤติตนให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการเตือนบุคคลที่อาจจะไม่ทราบข้อห้ามของศาล 7. หากผู้พิพากษามีความรู้สึกว่าตนเองจะไม่ปลอดภัยทั้งในขณะอยู่ที่ศาลหรือบ้านพัก ให้มีหนังสือลับแจ้งผู้บริหารศาล, ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาล หรือ ผอ.สำนักงานประจำศาลเพื่อแจ้งตำรวจท้องที่ให้จัดการระมัดระวังรักษาความปลอดภัยให้เป็นพิเศษ
8. ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจทำการตรวจสอบในกรณีที่มีการอ้างผู้ต้องขังเป็นพยาน หรือในกรณีที่จำเลยซึ่งถูกขังอยู่ให้ส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่นและจำเลยขอตามประเด็นไปด้วย โดยจัดให้มีการตรวจสอบเสียก่อนว่าพยานนั้นๆ มีตัวตนหรือไม่ และได้รู้เห็นข้อเท็จจริงในคดีหรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้มีการกล่าวอ้างลอยๆ เพื่อหาโอกาสให้ผู้ต้องขังที่ต้องเป็นพยานหรือตัวจำเลยเองหลบหนี
ส่วนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาล หรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ (1. จัดเจ้าหน้าที่ให้มีจำนวนเพียงพอที่จะรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาล โดยจะคัดเลือกจากบุคคลที่มีสมรรถภาพ มีประสบการณ์ในงานตำรวจมากเพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย (2. กำชับเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องพันธนาการที่ใช้แก่ผู้ต้องขัง และการตรวจค้นตัวผู้ต้องขัง (3. กำชับเจ้าหน้าที่ให้ตรวจตราดูแลความเรียบร้อยในห้องขังของศาลก่อนนำผู้ต้องขังเข้าไปควบคุมไว้ และให้เข้มงวดในการตรวจสอบสิ่งของที่มีผู้นำมามอบให้แก่ผู้ต้องขังให้มากยิ่งขึ้น (4. กำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยสอดส่องดูแลบุคคลที่มาศาล เพื่อป้องกันไม่ให้พกพาอาวุธหรือสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามาในบริเวณศาล
(5. ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ให้ความร่วมมือกับศาลหากได้รับคำร้องขอให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้พิพากษาและในบริเวณศาล (6. แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพื่อขอทราบประวัติและข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับตัวผู้ต้องขังที่มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ
ส่วนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (1. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องปฏิบัติตามกฎ, ระเบียบ, ข้อบังคับ เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด (2. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดหรือบริเวณภายในและภายนอกอาคารที่กำหนด (3. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะละทิ้งหน้าที่ไปก่อนที่จะมีผู้เข้ารับเวรต่อเนื่องไม่ได้ ต้องรอจนกว่าจะมีผู้ที่มาเข้ารับเวรจึงจะออกไปจากสถานที่ได้ (เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา) (4. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตื่นตัว รวดเร็ว และจะต้องพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ในทุกรูปแบบ (5. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องเตรียมเครื่องมือ-อุปกรณ์ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานที่ให้นำติดตัวไปและพร้อมที่จะใช้งานตลอดเวลา รวมทั้งจะต้องคอยดูแลรักษาเครื่องแบบอุปกรณ์-เครื่องมือให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ (6. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามตารางเวลาที่ได้กำหนดไว้
(7. ดูแลป้องกัน รักษาทรัพย์สินของบุคลากร, อาคาร และสถานที่ของศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรม ให้รอดพ้นจากการโจรกรรม อัคคีภัย และเหตุร้ายอื่นๆ (8. ดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนที่เข้ามาติดต่อราชการในบริเวณศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรม
(9. ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณที่รับผิดชอบ ตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง (10. ดูแลการผ่านเข้า-ออก ของบุคคลและยานพาหนะ (11. อำนวยความสะดวกการจราจรทางเข้า-ออกและภายในบริเวณพื้นที่รับผิดชอบ (12. เปิด-ปิดประตูทางเข้า-ออกอาคาร หรือสถานที่ ตามที่ศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดให้ (13. ในยามวิกาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องเดินตรวจตราตามจุดต่างๆ ภายในบริเวณหน่วยงานที่รับผิดชอบ
(14. ดูแลป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกนายที่เข้าปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องผ่านการฝึกอบรมในการดับเพลิงเบื้องต้นเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์จริง หากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามจนไม่สามารถดับได้ อันนำมาซึ่งความเสียหายอย่างรุนแรง (15. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องบันทึกรายงานเหตุการณ์ประจำวันในการปฏิบัติหน้าที่ทุกวัน เพื่อรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเป็นประจำทุกวัน หากมีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่รักษา