xs
xsm
sm
md
lg

อัยการยื่นฟ้อง “อาจารย์โหน่ง” โกงขายกรุ๊ปทัวร์ยุโรป-สแกนดิเนเวีย-แอฟริกา ผู้เสียหาย 130 คน มูลค่าหลายสิบล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(ภาพจากแฟ้ม)
อัยการยื่นฟ้อง บ.อี แอล ซี ทัวร์-กรรมการบริษัท ฉ้อโกง ปชช.-พ.ร.บ.คอมพ์ พร้อมให้ชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายทั้ง 130 ราย ศาลเบิกตัวจากเรือนจำ สอบคำให้การ เช้าพรุ่งนี้

วันนี้ ( 29 ต.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 ได้นำสำนวนเอกสาร ยื่นฟ้อง บริษัท อี แอล ซี กรุ๊ปจำกัดโดยนายภัทริคณ์ เรตะกุล ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจนำเที่ยว (จัดทัวร์นำเที่ยว) และนายภัทริคณ์ เรตะกุล หรือที่รู้จักในนาม "อาจารย์โหน่ง" อายุ 40 ปี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนร่วมกันทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนหรือนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343, พรบว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ 2550 มาตรา 3 , 14 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 มาตรา 8 โดยท้ายฟ้องอัยการ ยังขอให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายทั้ง 130 รายด้วย

ซึ่งศาลอาญา ได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2845/2562

โดย"นายภัทริคณ์ เรตะกุล" กรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทฯ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่ได้ประกันตัวชั้นฝากขังตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งศาลอาญาจะได้เบิกตัวจำเลย มาสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ในวันพรุ่งนี้ 30 ต.ค. เวลา 09.00 น.

สำหรับคำฟ้องดังกล่าว ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 7 ม.ค.2558 - 5 ส.ค. 2562 จำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตโดยร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งได้นำเข้าเป็นข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านการโพสต์ Facebook ในบัญชีชื่อ "ELC TOUR" , "Patrick Rathakul" , "อี แอล ซี ทัวร์" , "Pat Rathakul" , "Rathakul Patrick" ของจำเลยทั้งสอง ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปอ่าน หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ได้ซึ่งมีการเผยแพร่ทั้งในและระหว่างประเทศโดยมีข้อความโฆษณาทำนองว่าจำเลยทั้งสองสามารถจำหน่ายรายการนำเที่ยวประเทศต่างๆ ให้กับสมาชิกซึ่งผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกนั้นต้องเคยเดินทางท่องเที่ยวทัวร์กับจำเลยทั้งสองมาก่อนจึงจะสามารถซื้อรายการนำเที่ยวในราคาถูกกว่าปกติและอ้างว่ามีจำนวนจำกัด กับจำกัดเวลาในการขายหรือการจอง เช่น ทริปกรีซ จากราคาปกติ 105,000 บาท พิเศษราคา 39,500 บาท จำนวน 10 ท่าน ซึ่งมีการลงภาพการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่ร่วมเดินทางกับจำเลยทั้งสอง ได้ในราคาที่ถูกกว่าบริษัทจัดนำเที่ยวทั่วไปพร้อมกับให้ผู้ที่สนใจสนทนาได้ผ่านช่องทางข้อความใน Facebook และจองรายการท่องเที่ยวกับจำเลยที่ 2 กระทั่งผู้เสียหายรวม 130 คน ในคดีนี้ ได้หลงเชื่อและโอนเงินค่าจองรายการท่องเที่ยว เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารหลายธนาคาร ในชื่อบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จำเลยที่ 1 และชื่อของนายภัคริคณ์ จำเลยที่ 2 ที่มีระบุไว้ในหลายบัญชี ตั้งแต่เดือน มี.ค.60 - ปี 2562 ซึ่งมีการจองรายการนำเที่ยวทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา , ประเทศอังกฤษ , ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ , ประเทศนิวซีแลนด์ , หมู่เกาะมัลดีฟ , ประเทศฝรั่งเศส , ประเทศญี่ปุ่น , ประเทศกรีซ , ประเทศไอซ์แลนด์ , ประเทศออสเตรีย , ประเทศเยอรมัน , ประเทศรัสเซีย , การนำเที่ยวกลุ่มประเทศยุโรป 6 ประเทศ , นำเที่ยวกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ , ประเทศภูฏาน , ประเทศสกอตแลนด์ , ประเทศอิตาลี , ประเทศฟินแลนด์ , ประเทศแคนาดา , ประเทศบราซิล , ประเทศจอร์แดน , ประเทศซานโตรินี , ประเทศตุรกี , ประเทศเกาหลี , ประเทศนอร์เวย-ออสโล , ประเทศโครเอเชีย , ประเทศโปรตุเกส , ประเทศอียิปต์ , ประเทศฮ่องกง , กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย , ประเทศเปรู ซึ่งเมื่อมีการจองรายการนำเที่ยวแล้วจำเลยทั้งสองไม่สามารถจัดรายการนำเที่ยวให้กับผู้เสียหายได้ครบถ้วนโดยนำเงินจอง (มูลค่าหลายสิบล้านบาท) ในรายการดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนเองโดยทุจริต เหตุเกิดที่ทำการบริษัท แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. และทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถจับกุมตัว "นายภัคริคณ์" กรรมการบริษัท จำเลยที่ 2 ได้ตามหมายจับของศาลอาญาเมื่อวันที่ 5 ส.ค.2562 โดยชั้นสอบสวนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวนั้นก่อนหน้านี้ ในชั้นสอบสวนพบว่า ก่อนเกิดเหตุกลุ่มที่จองทัวร์ได้เดินทางไปท่องเที่ยวในราคาถูกได้จริงและได้รับการบริการไม่ต่างจากการไปเที่ยวในราคาปกติ แต่เมื่อกลับมาก็จะมีการจองรายการนำเที่ยวในโปรแกรมอื่นเพิ่มเติมอันเป็นการขยายวงลูกค้าออกไปซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในวิธีการหลอกลวงให้เชื่อว่าประชาชนซื้อทัวร์เพื่อเดินทางในครั้งแรกแล้วกลับมาซื้อทัวร์เพิ่มเติมได้ในครั้งถัดไป แต่เมื่อนักท่องเที่ยวซื้อทัวร์ในครั้งถัดไปกลับไม่ได้เดินทางตามทัวร์ที่ซื้อเอาไว้ แล้วขอเลื่อนการเดินทางโดยไม่แจ้งสาเหตุ และหลายรายการก็ไม่สามารถจัดให้ผู้เสียหายได้เดินทางไปท่องเที่ยวตามที่ตกลง ทั้งที่รับค่าจัดกรุ๊ปทัวร์มาแล้ว โดยการกระทำนั้น มูลค่าความเสียหายเป็นเงิน ประมาณ 60,651,186 บาท

นอกจากสำนวนคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนี้แล้ว ยังมีคดีที่ผู้เสียหายอื่นได้ยื่นฟ้อง บ.อี แอล ซี กรุ๊ปฯ และ นายภัทริคณ์ กรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทด้วย ต่อศาลอาญาอีก 4 คดี คือคดีหมายเลขดำที่ อ.1201/2562 ที่ น.ส.จริญา ล่องประเสริฐ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บ.อี แอล ซีฯ และ นายภัทริคณ์ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว และนัดประชุมคดีตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้

คดีหมายเลขดำ อ.2111/2562 ที่ น.ส.เกศศินี จันทร์กระจ่าง , ว่าที่ ร.ต.รุ่งทิพย์ เจียมพล , น.ส.จุฑาทัพพ์ เตชะมรกต , น.ส.สายฝน ล่องประเสริฐ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่1-4 ยื่นฟ้อง บ.อีแอล ซี ฯ และนายภัทริคณ์ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คดีอยู่ระหว่างนัดไต่สวนมูลฟ้อง

คดีหมายเลขดำ อ.2158/2562 ที่นายสัมฤทธ์ แดงมันฮับ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บ.อี แอล ซีฯ , นายภัทริคณ์ , นางขันทอง ดีพิชัย , นายอัครเดช รุ่งโรจน์วิริยะกุล เป็นจำเลนที่ 1-4 ในความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 และร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งการไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 3 ธ.ค.นี้

และคดีหมายเลขดำ อ.2159/2562 ที่นายสัมฤทธิ์ แดงมันฮับ และนางศิรัสริญญ์ แดงมันฮับ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้อง บ.อี แอล ซีฯ และนายภัทริคณ์ , นางขันทอง ดีพิชัย , นายอัครเดช รุ่งโรจน์วิริยะกุล เป็นจำเลยที่ 1-4 ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งการไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 3 ธ.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น