xs
xsm
sm
md
lg

อัยการแถลงฟ้องนักเตะไทยลีก-กลุ่มทุนเอี่ยวล้มบอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - อัยการสั่งฟ้องคดีล้มบอลล็อกผลสกอร์การแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก 2017 มีผู้เกี่ยวข้องทำผิดทั้งหมด 15 คน ทั้งผู้ตัดสิน-นักฟุตบอลอาชีพและกลุ่มนายทุน ล่าสุดศาลอนุญาตให้ประกันตัวและนัดตรวจหลักฐาน 10 ก.ย.นี้

ที่ห้องประชุม 100 ปี ชั้น 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (16 ก.ค.) นายพิทักษ์ อบสุวรรณ อธิบดีอัยการคดีอาญา , นายพรชัย ชลวาณิชกุล รองอธิบดีอัยการคดีอาญา , นายอธึก คล้ายสังข์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 คณะอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนคดีล้มบอลล็อคผลสกอร์การแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก ฤดูกาล 2017 พร้อมด้วยนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงผลการสั่งฟ้อง ขบวนการผู้เกี่ยวข้องกระทำผิด ทั้งหมด 15 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้ตัดสิน 2 ราย , นักฟุตบอลอาชีพ 8 ราย ในทีมราชนาวี เอฟซี และทีมศรีสะเกษ เอฟซี และกลุ่มนายทุน (พนัน) หรือตัวแทนนายทุน 5 ราย

โดย นายธรัมพ์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2561 พนักงานสอบสวนกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่ชาติ ได้สรุปสำนวนกล่าวหา นายธีรจิตร สิทธิศุข หรือเก๋ ผู้ช่วยผู้ตัดสิน ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 15 ราย ข้อหาร่วมกันให้หรือขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่นักกีฬาอาชีพ หรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพกระทำการล้มกีฬา,ร่วมกันให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่นักกีฬาอาชีพ เพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพทำการล้มบอล และมีการติดสินบนนักฟุตบอล กรรมการผู้ตัดสิน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นการล้มบอล ก็เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ,พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2547 และประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งภายหลังรับสำนวนมาแล้ว อธิบดีอัยการคดีอาญาได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยจ่ายสำนวนไปยังอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นผู้พิจารณาสั่งคดี เสร็จแล้วจึงมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด 15 ราย ล่าสุดช่วงเช้าที่ผ่านมา อัยการไปยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ซึ่งศาลรับไว้เป็นคดีหมายดำที่ อ.2131/2561 และอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา

ด้าน นายพิทักษ์ อบสุวรรณ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับคดีนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานและบ้านเรามีการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดกีฬาอาชีพ เพื่อให้เป็นอาชีพหนึ่งของคนไทย เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้กีฬาอาชีพมีความเจริญก้าวหน้า นอกจากนี้เราอยากให้นักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬายึดถือกฎระเบียบกติกาต่างๆ และดำเนินการไปอย่างยุติธรรม ไม่มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง จะได้เป็นแบบอย่างและเป็นที่ต้องการของคนไทย รวมทั้งการที่จะเข้ามาส่วนร่วมในวงการกีฬาอาชีพ เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นเราจึงต้องการแก้ปัญหาให้กระจ่าง เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างต่อไป เช่นเดียวกับในกีฬาอาชีพอื่นๆ ตอนแรกที่เรารับสำนวนคดีก็มีความยุ่งยากแต่ก็พยายามทำให้ดีที่สุดและเราจะดำเนินคดีนี้ในชั้นศาลต่อไป เพื่อให้ปรากฏเป็นผลคำพิพากษาและยึดเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

ขณะที่ นายพรชัย ชลวาณิชกุล รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากทางคณะกองปราบได้มองว่ามีการล้มบอลก็เลยมีการสืบข้อเท็จจริงจนสุดท้ายได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งอันดับแรกเลย คือมูลเหตุจักจูงใจในการกระทำผิดนั้นเกิดจากสินพนันที่จะเอาไปพนัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็มีกลุ่มทุนพนันที่ลงขันเพื่อจะไปจ้างนักกีฬาอาชีพล้มบอลและผู้ตัดสิน โดยการกระทำผิดทั้งหมดมีการเตรียมการเป็นอย่างดี ซึ่งอัยการก็ได้ยื่นฟ้องทั้งหมดไปแล้ว 15 คน ใน 3 กลุ่มประกอบด้วย 1.กลุ่มนายทุน ทั้งหมด 5 คน ร่วมกับผู้ตัดสินอีก 1 คน 2.นักกีฬาอาชีพหรือนักเตะ 8 คน 3.ผู้ตัดสินอีก 1 คน ส่วนฐานความผิดก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 โดยกลุ่มนายทุนผู้จ้างกระทำผิดก็เข้าตาม ม. 64 คือ ผู้ให้หรือรับว่าจัดให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพล้มบอล และนายทุนยังได้จ้างผู้ตัดสินให้ตัดสินไม่เป็นไปตามกติกาหรือเที่ยงธรรม ตาม ม.66 ซึ่งโทษที่จะได้รับ ในข้อหาดังกล่าวคือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 -500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478และฉบับที่ 4 พ.ศ.2547 ม.4 ,4 ทวิ ,5,6,10,12 โดยส่วนของกลุ่มนายทุนนี้อัยการยื่นฟ้องไว้สำหรับเหตุการณ์แข่งขันรวม 5 แมตช์ ซึ่งมูลค่าทรัพย์ที่ได้มีการหมุนเวียนกระทำผิดอยู่ที่หลักล้าน แต่ไม่ถึงสิบล้านบาท

สำหรับ กรรมการผู้ทำหน้าที่ตัดสิน จะโดนโทษหนักกว่า คือ ม.67 ฐานผู้ตัดสินใดเรียก รับ หรือยอมจะรับสินจ้างหรือประโยชน์นั้น เพื่อทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามกติกาหรือไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 300,000 - 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนนักกีฬาก็จะมีความผิดตามม. 65 คือ เป็นผู้เรียก รับ หรือยอมจะรับสินจ้างหรือประโยชน์นั้น เพื่อล้มกีฬาซึ่งอัตราโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี เช่นกัน หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยโทษดังกล่าวเป็นโทษทางอาญาสำหรับนักเตะหรือนักกีฬา แต่ที่สำคัญสำหรับนักกีฬาอาชีพก็ยังมีอีกส่วนคือ ม.24 ซึ่งผู้ที่ถูกฟ้องแล้วและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดตาม ม.64-67 ให้สโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพนั้น ต้องตัดสิทธิการนำเสนอชื่อนักกีฬาคนนั้นเข้าสู่การแข่งขันทุกแมตช์เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยในส่วนของกลุ่มกรรมการผู้ตัดสินและนักกีฬานั้นอัยการได้ยื่นฟ้องในเหตุการณ์บางแมตช์ไม่ครบทั้ง 5 แมตช์

“ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวกับอนาคตและหน้าที่ของนักกีฬาจริงๆ นี้คือภาพกว้างๆที่จะทำให้เห็นว่าการกระทำผิดตรงนี้ทำไปเพื่ออะไร” นายพรชัย รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวและว่า ผู้ตัดสินที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุน คือจะไปติดต่อนักเตะหรือนักกีฬาอาชีพเพื่อให้ทำการล้มบอล ขณะเดียวกันตนเองก็ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินด้วยจึงอยู่ใน 2 สถานะ ส่วนผู้ตัดสินอีกคนทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินเพียงอย่างเดียว จึงไม่อยู่ในกุล่มทุน

ส่วนประเด็นที่คดีนี้ผู้ต้องหามีทั้งหมด 16 คน แต่ผู้ต้องหาคนที่ 16 นั้นอัยการสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนเองมีความเห็นว่า ผู้ต้องหารายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดน้อยที่สุด และคำให้การของผู้ต้องหารายนี้มีประโยชน์ต่อคดีและเป็นจิ๊กซอว์ ตัวหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการนำสืบพยานในชั้นศาลมีความสมบูรณ์ เพราะดังนั้นคณะพนักงานอัยการจึงมีความเห็นตรงกับพนักงานสอบสวนที่จะกันผู้ต้องหารายนี้ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยที่สุด เพราะเป็นเพียงผู้ที่ส่งสัญญาณให้เกิดการกระทำผิดเล็กน้อย จึงกันไว้เป็นพยาน คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการฟ้องคดีตั้งแต่มี พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพฯ จึงขอชื่นชมพนักงานสอบสวนที่พยายามรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดและต่อจิ๊กซอว์แต่ละตัว ตั้งแต่กลุ่มทุน ,นักเตะ , ผู้ตัดสิน และรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อส่งให้อัยการยื่นฟ้องคดีล้มบอลต่อศาล

โดย นายประยุทธ รองโฆษกอัยการ กล่าวเสริมว่า กฎหมายการปราบปรามการล้มบอล เป็นกฎหมายใหม่และเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และสำคัญที่สุดคือคณะทำงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ตามที่พนักงานสอบสวนได้เสนอความเห็นมาและขั้นตอนต่อไปก็อยู่ในชั้นศาล ขอให้สื่อมวลชนช่วยติดตามคดีนี้ เพราะว่าการล้มบอล ที่มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องถือเป็นภัยที่บั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของวงการกีฬาไทย รวมทั้งมอมเมาเยาวชนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนัน ส่วนผู้ต้องหาที่ 16 นั้นพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้องมาตั้งแต่แรก โดยเห็นว่าพยานปากนี้ควรจะกันไว้เป็นพยาน ซึ่งอัยการมีระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถที่จะเห็นพ้องหรือเห็นแย้งกับพนักงานสอบสวนได้ คดีนี้เราเห็นว่า การที่จะมีพยานหลักฐานสำคัญในคดีเชื่อมโยงกับผู้กระทำความผิด หากจำเป็นต้องกันผู้ต้องหาบางคนเป็นพยานก็ให้สามารถกระทำผิด แต่ต้องกันผู้ต้องหาที่กระทำความผิดน้อยที่สุด ซึ่งเรื่องนี้รองอธิบดีอัยการฯ เห็นพ้องกับพนักงานสอบสวนที่จะกันผู้ต้องหาดังกล่าวไว้เป็นพยาน เพื่อที่จะเอาผิดผู้ต้องหากับต้องหาที่ 1-15

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ อัยการสำนักงานคดีอาญา 6 ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จำเลยทั้ง 15 ราย ประกอบด้วย กลุ่มผู้ตัดสิน 2 ราย ได้แก่ นายธีรจิตร หรือเก๋ สิทธิศุข อายุ 43 ปีผู้ช่วยผู้ตัดสินหรือไลน์แมน จำเลยที่ 1 , นายภุมรินทร์ คำรื่น อายุ 31 ปี ผู้ตัดสินฟีฟ่า 2017 จำเลยที่ 7

กลุ่มนายทุน (พนัน) หรือตัวแทนนายทุน 5 ราย ได้แก่ นายเชิดศักดิ์ หรือจ่อย บุญชู อายุ 45 ปี ผู้อำนวยการสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี จำเลยที่ 2 , นายภาคภูมิ หรือแบงค์ พันธ์นิกุล อายุ 31 ปี จำเลยที่ 3 ,นายมานิตย์ หรือเศรษฐปสิทธิ์ หรือป้อม โกมลวัฒนะ อายุ 47 ปี จำเลยที่ 4 , นายวัลลภ สมาน อายุ 45 ปี จำเลยที่ 5 , นายกิตติภูมิ หรือเด่น ปาภูงา อายุ 31 ปี อดีตนักเตะ จำเลยที่ 6

นักฟุตบอลอาชีพ 5 ราย ได้แก่ นายวีระ เกิดพุดซา อายุ 33 ปี ผู้รักษาประตูนครราชสีมา มาสด้าเอฟซี จำเลยที่ 8 , จ.อ.เสกสันต์ หรือเสก ชาวทองหลาง อายุ 34 ปี นักเตะราชนาวี เอฟซี จำเลยที่ 9 , จ.ท.สุทธิพงษ์ เหลาพร อายุ 28 ปี นักเตะราชนาวี เอฟซี จำเลยที่ 10 , จ.ท.สุวิทยา นำสินหลาก อายุ 26 ปี นักเตะราชนาวี เอฟซี จำเลยที่ 11 , นายณรงค์ วงษ์ทองคำ อายุ 36 ปี ผู้รักษาประตูราชนาวี เอฟซี จำเลยที่ 12 , ส.อ.ธีรชัย งามเจริญ อายุ 35 ปี นักเตะศรีสะเกษ เอฟซี จำเลยที่ 13 , นายทศพร เขม็งกิจ อายุ 32 ปี นักเตะศรีสะเกษ เอฟซี จำเลยที่ 14, นายเอกพันธ์ จันดากรณ์ อายุ 32 ปี อดีตนักเตะศรีสะเกษ เอฟซี จำเลยที่ 15

ส่วนพฤติการณ์ตามฟ้อง สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 ก.ย. 2560 , วันที่ 21-26 ก.ค. 2560 , วันที่ 10 ก.ย. 2560 ,วันที่ 11-23 ก.ย. 2560 นายธีรจิตร ผู้ช่วยผู้ตัดสิน จำเลยที่ 1 ร่วมกับ กลุ่มนายทุน จำเลยที่ 2-6 ที่ให้หรือรับว่าจะให้เงินกับกลุ่มนักกีฬา จำเลยที่ 8 –15 ซึ่งเป็นนักเตะสังกัดสโมสรศรีสะเกษ เอฟซี และสโมสรราชนาวี เพื่อจูงใจให้ทำการล้มฟุตบอล รายการแข่งขัน ไทยพรีเมียร์ลีก (T1) ที่ใช้ชื่อรายการว่า โตโยต้า ไทยลีก ด้วยการแกล้งแพ้ เป็นเงินครั้งละ 300,000 - 800,000 บาท และร่วมกันให้เงินครั้งละ 100,000 บาท กับนายภุมรินทร์ ผู้ตัดสินฟีฟ่า 2017 จำเลยที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินกีฬาเพื่อจูงใจให้ทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาแข่งขัน เพื่อให้ผลการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเป็นไปตามที่จำเลยกลุ่มนายทุน และจำเลยที่ 1 ซึ่งกลุ่มของจำเลยที่ 1 – 6 ก็เป็นผู้เล่นพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลไทยรายใหญ่ด้วย ที่เป็นการเล่นพนันผ่านทางเว็บไซต์ เหตุเกิดที่ ต.พร้าว อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู, ต.ในเมือง อ.อุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี , ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา, ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และ ตำบล-อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1, 2, 5, 7 – 15 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยที่ 3 - 4, 6 ให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาร่วมกันลักลอบพนันทายผลฟุตบอลโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ

ทั้งนี้ศาลอาญาได้ประทับรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2131/2561 โดยศาลสอบคำให้การเบื้องต้น จำเลยทั้ง 15 ให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ขณะที่จำเลยทั้งหมดได้รับการปล่อยชั่วคราวไปหลังจากยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ 100,000 – 200,000 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น